มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน ปรับตัวได้ดีในเกือบทุกสภาพพื้นที่ แม้ในดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมามีเพียงมันสำปะหลังที่มีผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงอย่างยาวนานน้อยที่สุด ในขณะที่อ้อยและข้าวโพดแล้งตายเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลังกันมากขึ้นในปีการผลิต 2557/2558 มีพื้นที่เก็บเกี่ยวถึง 8,697,948 ไร่ ในขณะที่มีผลผลิตเฉลี่ยเพียง 3.864 ตันต่อไร่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกผลผลิตของมันสำปะหลังให้สูงขึ้น และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรมีผลตอบแทนสูงขึ้น
นายวีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า การปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตสูง มีปัจจัยอยู่หลายอย่างที่เกษตรกรควรทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นและลดต้นทุนได้ ประกอบด้วยฤดูปลูก การปรับปรุงดิน พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ การใส่ปุ๋ย การยกร่อง ระยะปลูกที่เหมาะสม และการเก็บเกี่ยวโดยมีรายละเอียดดังนี้
ฤดูปลูก ผลผลิตจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ต้นมันสำปะหลังได้รับน้ำฝน การปลูกมันสำปะหลังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม จะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม เพราะมีระยะเวลาได้รับน้ำฝนนานกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการงอกของท่อนพันธุ์หากฝนทิ้งช่วง
การปรับปรุงดิน หลักสำคัญในการปรับปรุงดินคือการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน เพื่อให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น และเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เริ่มตั้งแต่การไถกลบเศษซากต้นและเหง้ามันสำปะหลังลงดิน ใส่ปุ๋ยคอกหรือเปลือกมันสำปะหลังจากโรงงาน หรือปลูกปอเทืองแล้วไถกลบ
การเตรียมดิน ควรเตรียมดินให้ลึก เพื่อให้สามารถกักเก็บความชื้นในดินได้มากขึ้น โดยการใช้ผาล 3 ไถดะ ในกรณีที่มีการปลูกมันสำปะหลังมานาน อาจเกิดชั้นดินดานเป็นแผ่นแข็งใต้รอยไถทำให้น้ำฝนไม่ไหลซึมลงสูดินชั้นล่าง และทำให้รากพืชตื้น ไม่แผ่ขยาย หัวมันสำปะหลังมีขนาดเล็กให้ผลผลิตต่ำ หรือแม้กระทั่งเกิดน้ำไหลบ่าชะล้างหน้าดินเสียหาย ควรใช้ผาล 2 หรือผาล 3 ไถดินให้ลึกเพื่อระเบิดดินดานเป็นระยะ
พันธุ์มันสำปะหลัง ปัจจุบันมีพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร และพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แนะนำอยู่หลายพันธุ์ เช่นพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 ระยอง 9 ระยอง 11 ระยอง 13 ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60 ห้วยบง 80 เป็นต้น แต่ละพันธุ์จะมีข้อดีเด่นต่างกัน เกษตรกรสามารถเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยดูจากคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หรือปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ในแปลงของเกษตรกรเอง โดยทั่วไปผลผลิตของแต่ละพันธุ์จะไม่ต่างกันมากนัก แต่จะขึ้นอยู่กับการจัดการแปลงมากกว่า ในส่วนของปริมาณแป้งมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุ์ บางพันธุ์มีผลผลิตสูงแต่เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ไม่เป็นที่ต้องการของโรงงาน การเลือกพันธุ์จึงควรพิจารณาเรื่องของปริมาณแป้งด้วย
ระยะปลูก มันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่ชอบการปลูกระยะชิด หรือไม่ทนเบียด การใช้ระยะปลูกที่แคบเกินไป จะทำให้มันสำปะหลังแข่งกันเจริญเติบโตทางลำต้น หรือเรียกว่า“ขึ้นต้นหรือบ้าใบ” โดยจะออกยอดและแตกใบไปเรื่อยๆ เพื่อแย่งกันรับแสง แต่จะไม่ลงหัว ทำให้หัวมันมีขนาดเล็ก ผลผลิตต่ำ ดังนั้นระยะปลูกที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยยึดหลักดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง เช่น ในดินร่วนเหนียวซึ่งเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูงควรใช้ระยะปลูก 1x1 เมตร หรือ 1.2x0.8 เมตร ส่วนในดินทรายให้ใช้ระยะปลูกที่แคบลงตามความเหมาะสมกับพื้นที่ โดยสามารถสังเกตจากการเจริญเติบโตทางลำต้น หากต้นมันสำปะหลังมีความสูงมากกว่า 3 เมตร แสดงว่ามีการเจริญเติบโตทางลำต้นมากเกินไป ในการปลูกครั้งต่อไปควรปรับระยะปลูกให้กว้างขึ้น
ท่อนพันธุ์ ท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์มีการสะสมอาหารมากจะให้ผลผลิตสูง จึงควรใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุ 8-12 เดือน ไส้ในมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าครึ่งของลำ ตัดท่อนพันธุ์ให้มีความยาว 25 ซม. เลือกใช้บริเวณกลางลำ เนื่องจากส่วนยอดซึ่งเป็นยอดอ่อนจะตายง่ายหากฝนทิ้งช่วง ในขณะที่ส่วนโคนจะงอกช้าเพราะตาแก่ การเก็บรักษาท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง ควรตั้งเป็นกระโจมและชะดินกลบโคน จะเก็บได้นานขึ้น
นายวีรวัฒน์กล่าวถึงการใช้ปุ๋ยว่า ถึงแม้มันสำปะหลังเป็นพืชที่ทนแล้ง และเจริญได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่มันสำปะหลังก็ยังต้องการธาตุอาหารเพื่อเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี โดยต้องการธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในอัตราส่วน 2:1:2 สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับมันสำปะหลัง คือ สูตร 15-7-18 อัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรโดยการผสมปุ๋ยใช้เอง โดยใช้แม่ปุ๋ยสูตร 46-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 มาผสมกันให้ได้ปริมาณธาตุอาหารตามที่ต้องการ นอกจากจะทำให้เกษตรกรสามารถใส่ธาตุอาหารได้ตรงตามปริมาณที่พืชต้องการแล้ว การผสมปุ๋ยใช้องยังช่วยให้ประหยัดค่าปุ๋ยลงได้อย่างน้อย 20-30% เมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยสูตร ช่วยลดแรงงานค่าใส่ปุ๋ย และลดค่าขนส่งได้อีกด้วย
การยกร่อง ไม่ควรยกสันร่องให้ชันจนเกินไป เพราะน้ำฝนจะไหลบ่าไม่ซึมเข้าในสันร่อง แต่ควรยกร่องเป็นแบบหลังเต่า คือมีฐานร่องกว้าง เพราะการยกร่องแคบหัวมันจะไม่สามารถขยายออกด้านข้างได้ ถ้าเป็นไปได้ควรยกร่องขวางทางเดินของน้ำ เพื่อให้น้ำได้ซึมลงไต้ดินและชะลอการไหลบ่าของน้ำ
อย่างไรก็ตาม การกำจัดวัชพืช ในระยะ 3 เดือนแรกเป็นช่วงวิกฤติของมันสำปะหลัง ควรดูแลให้ปลอดจากวัชพืช จนพุ่มใบมันสำปะหลังคุมร่องทั้งหมด ส่วนการเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังมีอายุเก็บเกี่ยวถึง 20 เดือน โดยผลผลิตจะเพิ่มขึ้นตามอายุเก็บเกี่ยวและปริมาณน้ำในดิน ในเดือนมีนาคมมันสำปะหลังจะแตกใบอ่อนทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งเริ่มลดลง และมีปริมาณแป้งต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระยะแตกทรงพุ่มเต็มที่ หลังจากนั้นปริมาณแป้งจะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี