สพป.กาญจนบุรี เขต 1 เตรียมประชุม ถกปัญหา สำรวจพื้นที่สร้างอาคารเรียนถาวร หลังเด็กๆไร้ที่เรียน เหตุอาคารทรุดหลังดินยุบมาร่วม 5 เดือน เผยชั้นใต้ดินเป็นชั้นหินปูนผุ หวั่นยุบตัวในอนาคต คาดสร้างอาคารแบบน็อคดาวน์ เพราะน้ำหนักน้อย
24 มี.ค.61 ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 ว่าที่ ร.อ.พรเนตร ศรีทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 (รอง ผอ.สพป.กาญจนบุรี เขต 1) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุดินยุบตัวลงเป็นหลุมขนาดใหญ่ภายในบริเวณโรงเรียนบ้านบนเขาแก่งเรียง หมู่ 3 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์จ.กาญจนบุรี ทำให้อาคารเรียนบางจุดเสียหาย ส่วนเด็กนักเรียนที่มีอยู่ 183 คน ต้องไปอาศัยศาลาวัดถ้ำพระธาตุเรียนชั่วคราว เหตุดังกล่าวเกิดช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา
สำหรับความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือ ทางเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 ก็ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ประการแรกเลยก็คือเรื่องการสำรวจพื้นที่แห่งใหม่ที่จะใช้สร้างอาคารเรียนที่จะให้เด็กได้เรียนหนังสือแห่งใหม่ โดยเจ้าหน้าที่สำนักเทคโนโลยีธรณีกรมทรัพยากรธรณี ได้เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่แห่งใหม่รวม 4 จุดด้วยกัน แต่ผลสรุปจากเจ้าหน้าที่สำนักเทคโนโลยีธรณีกรมทรัพยากรธรณีบอกว่าพื้นที่ทั้ง 4 จุด ยังไม่มีความปลอดภัยที่จะใช้สร้างอาคารเรียน
ดังนั้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 จึงได้ประสานไปทางกรมอุทยานฯและ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เข้ามาร่วมเพื่อหาทางช่วยเหลือ ซึ่งก็ได้มีการนัดประชุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวันที่ 26 มี.ค.ที่จะถึงนี้ และจะได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการที่จะให้ข้อมูล และชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองนักเรียนรวมทั้งชาวบ้านบ้านบนเขาแก่งเรียงให้เข้าใจว่า ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะสร้างอาคารเรียนแบบถาวรบริเวณที่ได้ชี้จุดทั้ง 4 จุดได้ เราจะมาช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ในเบื้องต้นก็คงจำเป็นจะต้องใช้อาคารน็อคดาวน์เป็นสถานที่เรียวชั่วคราวไปก่อน ส่วนพื้นที่ที่จะสร้างอาคารเรียนถาวร ก็คงจะต้องมาประชุมหารือและสำรวจว่าพื้นที่ในเขตชุดชน จุดไหนที่มีความเหมาะสมและมีความปลอดภัย
ในส่วนของการดำเนินการเพื่อความก้าวหน้า ขณะนี้ทางเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 ก็ได้ประสานไปทุกหน่วยงาน ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก็รอผลสรุปการสำรวจพื้นที่ที่มีความปลอดภัยจาก กรมทรัพยากรธรณี ที่จะสรุปผลออกมาว่าผลเป็นประการใด และในขณะนี้เราทราบผลสรุปแล้ว จึงได้มีการนัดหมายกรมอุทยานฯ ให้เข้ามาหารือด้วยในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เองก็รอว่าทางกรมทรัพยากรธรณี จะยืนยันพื้นที่ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร และทางกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่จะอนุญาตให้ได้หรือไม่ หากอนุญาตก็จะได้ออกแบบแปลนที่จะสร้างอาคารเรียนขึ้นมา แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปเรื่องพื้นที่ที่จะใช้สำหรับก่อสร้างอาคารเรียนได้
ดังนั้นจึงอยากจะทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของเด็กนักเรียนและชาวบ้านในพื้นที่ให้ทราบว่า ที่ผ่านมาผู้ปกครองไม่ต้องการให้บุตรหลานไปเรียนที่อื่น ซึ่งทางเขตพื้นที่การศึกษาฯ ก็ไม่ได้ต้องการให้เด็กไปเรียนที่อื่นเช่นกัน เพราะบริเวณนั้นเป็นชุมชนและมีประชากรค่อนข้างเยอะ หากต้องไปเรียนที่อื่นจะยุ่งยากในเรื่องการเดินทาง ซึ่งก็มีพื้นที่ภายในวัดถ้ำพระธาตุที่พอจะสร้างได้ แต่ว่าชาวบ้านก็ไม่ต้องการที่จะไป และทางกรมทรัพยากรธรณี ยังไม่มีการยืนยันว่าพื้นที่บริเวณไหน ไม่มีความเสียงต่อการยุบตัว เมื่อกรมทรัพยากรธรณีไม่มีการยืนยัน ทาง สพฐ.ก็คงจะไม่อนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน เชื่อว่าทางกรมอุทยานฯก็คงจะอนุญาตให้ไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้นจึงจะต้องมาหารือร่วมกัน เพราะมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาชี้แจงให้ชาวบ้าน และผู้ปกครองของเด็กได้เข้าใจในข้อจำกัดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาในส่วนที่เราไม่สามารถช่วยเหลือตามความต้องการของชาวบ้านได้ ซึ่งถ้าหากชาวบ้านเข้าใจถึงปัญหาตรงนี้ ก็คงจะต้องสร้างอาคารเรียนเป็นอาคารน็อคดาวน์ชั่วคราว เพราะอาคารดังกล่าวมีน้ำหนักน้อย และพื้นที่ที่จะสามารถสร้างอาคารน็อคดาวน์ได้ ก็คงจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับวัดและเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับภูเขา ซึ่งทางกรมทรัพยากรธรณี ได้บอกว่า ถ้าเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับภูเขา โอกาสที่จะเกิดหลุมยุบ หรือว่าพื้นที่ชั้นล่างที่เป็นหินปูนที่ผุก็จะไม่มี แต่ว่าพื้นที่ดังกล่าวมันจะมีอยู่บริเวณไหน จะต้องไปสำรวจหาอีกครั้งหนึ่ง
เดิมทีเจ้าหน้าที่ได้ไปสำรวจพื้นที่ราบที่อยู่ในรัศมีห่างจากโรงเรียนประมาณ 300 เมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นสนามฟุตบอลเก่า ต่อมาก็เกิดการรุกร้าง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี ได้เข้าไปสำรวจ ก็พบว่าพื้นดินชั้นล่างนั้นเป็นชั้นหินปูนที่ผุ ในระยะยาวโอกาสที่จะเกิดดินยุบตัวก็ยังมีอยู่ ทางกรมทรัพยากรธรณีจึงไม่แนะนำให้ทำการก่อสร้างอาคารแบบถาวร แต่ได้แนะนำให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวสำหรับการเลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชทางการเกษตร รวมทั้งใช้สำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนของกรมอุทยานฯแทน
ว่าที่ ร.อ.พรเนตร ศรีทอง เปิดเผยต่อว่า ช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูแล้ง เมื่อไม่มีฝนตกลงมา น้ำก็จะน้อยลง ดังนั้นการที่จะขยายตัวของรอยร้าว รวมทั้งบริเวณจุดที่หลุมยุบ ภายในโรงเรียนจึงยังคงอยู่ในสภาพเดิม แต่ว่าความอันตรายนั้นยังคงมี เพราะเราไม่สามารถทราบว่าพื้นดินด้านล่างมันเกิดโพรงที่ว่าเป็นโพรงขนาดใหญ่ ตามที่กรมทรัพยากรธรณี ได้นำเสนอว่ามีความลึกจากพื้นลงไป 10 เมตร กว้าง 20 เมตร และยาวถึง 80 เมตร ว่ามันจะขยายวงกว้างขึ้นมากกว่าเดิมหรือไม่ สำหรับอาคาร ทางโรงเรียนได้กันอาคารที่อยู่ใกล้กับภูเขาเอาไว้ให้เด็กได้เรียนชั้นอนุบาลได้เรียน ส่วนเด็กชั้นประถม ได้ไปเรียนที่อาคารศาลาวัด ซึ่งเดิมทีเป็นอาคารที่ใช้สำหรับนักปฏิบัติธรรม
ส่วนเรื่องการสร้างอาคารเรียนประการแรกคือ ทาง สพฐ.และนายจีระเกีรยติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้เน้นย้ำถึงเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศให้เขตพื้นที่ภายในบริเวณโรงเรียนเป็นเขตภัยพิบัติ และเขตอันตรายห้ามเข้า ซึ่งทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเขื่อนศรีนครินทร์ ก้ได้นำสังกะสีมากั้นเขตเอาไว้แล้ว ประการที่สองคือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 1 รับผิดชอบเรื่องการเรียนการศึกษา อย่างไรเสียเด็กจะต้องได้เรียนหนังสือครบตามหลักสูตร และจะต้องจัดกิจกรรมของทางโรงเรียนให้ครบทุกกิจกรรม ซึ่งช่วงนี้อยู่ในช่วงปิดเทอม เมื่อถึงช่วงเปิดเทอม ก็คงจะเร่งดำเนินการขยับขยายพื้นที่เรียนให้ และเชื่อว่าคงไม่มีปัญหาอะไร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี