ชื่อเหลือเกินว่าในขณะนี้คงไม่มีกระแสใดแรงเกินไปกว่าละคร “บุพเพสันนิวาส” อีกแล้ว เพราะตั้งแต่ออกฉายตอนแรก
เมื่อ 21 ก.พ. 2561 มีประเด็นให้เป็นข่าวกันทุกวัน ตั้งแต่ผู้คนแห่แต่งชุดไทยไป “ตามรอย” ฉากในละคร ณ โบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา วลี “ออเจ้า” ที่ฮิตติดปากทั่วบ้านทั่วเมือง แม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังเอ่ยปากชื่นชม และไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่สื่อต่างชาติหลายประเทศก็ยังนำเสนอข่าวความนิยมของละครเรื่องนี้อยู่เนืองๆ
และเรื่องหนึ่งที่ละครเรื่องนี้ทำให้เกิดขึ้นคือ “ปลุกกระแสการเรียนรู้ประวัติศาสตร์” เห็นได้จากประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอยุธยา โดยเฉพาะรัชสมัยของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นห้วงเวลาในละครบุพเพสันนิวาส มีการนำมาพูดคุยถกเถียงกันอย่างกว้างขวางตามชุมชนออนไลน์ต่างๆ รวมถึงหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าวก็มีรายงานว่า
ยอดขายดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ที่งานเสวนา “บุพเพสันนิวาส : ภาพสะท้อนสังคมพหุวัฒนธรรมไทย” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความขัดแย้งกับ ฮอลันดา (ปัจจุบันคือประเทศเนเธอร์แลนด์) จึงต้องดึงชาติยุโรปอื่นอย่าง “ฝรั่งเศส-อังกฤษ” เข้ามาเพื่อหวังให้คานอำนาจ ทว่าการให้เข้าความสำคัญกับชาวต่างชาติ
มากเกินไป ก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ขุนนางชาวไทย
ภาพวาด “Iudea” หรืออาณาจักรอยุธยา ผลงานของ Johannes Vinckboons นักเขียนแผนที่ชาวฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) ซึ่งวาดขึ้นราว ค.ศ. 1662-1663 (ราวปี 2205-2206)
อาจารย์ภาวรรณ กล่าวต่อไปว่า ชาวฮอลันดาที่อยู่ในอยุธยาเป็นการเข้ามาเพื่อทำการค้า มีความสัมพันธ์แบบ “ทั้งรักทั้งเกลียด” ซึ่งมีเป้าหมายผูกขาดสินค้านำเข้า เช่น ขนสัตว์ หนังสัตว์ ผ่านการทูต โดยในสมัยนั้นเกิดความขัดแย้งครั้งสำคัญ เมื่อฮอลันดานำเรือติดอาวุธเข้ามาปิดปากอ่าว จึงกลายเป็นการลงสนธิสัญญา ไทย-ฮอลันดา เพื่อทำการค้าอย่างเสรี และให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต ที่คนในบังคับของฮอลันดาไม่ต้องรับโทษตามรูปแบบของไทย
นอกจาก “ฝรั่ง” หรือชาวตะวันตกจากยุโรปแล้ว ยังมี “แขก” หรือผู้นับถือศาสนาอิสลามที่เดินทางมายังอาณาจักร
อยุธยาและมีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอยุธยาสามารถแบ่งแขกได้ถึง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.จาม มลายู
มักกะสัน อาศัยอยู่นอกกำแพงเมือง2.แขกใหญ่ (เจ้าเซ็น) อยู่ภายในกำแพงเมืองและ 3.พราหมณ์เทศและแขกแพ อาศัยอยู่บนแพ กลุ่มนี้อยู่กับแบบหลายสัญชาติ
“คนแขกมีความสามารถด้านการเดินเรือและค้าขายเก่ง ทำให้ไทยได้พึ่งพาอาศัยนำทูตออกติดต่อกับประเทศอื่นได้ด้วย และเมื่อมีความสามารถมากจึงได้รับเข้ารับราชการ ทำงานอยู่ในกรมอาสาจาม สิ่งเหล่านี้เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างชาวแขกกับอยุธยาที่กำลังต้องการสะสมพละกำลังสร้างเมืองต่อไป” อาจารย์จุฬิศพงศ์ ระบุ
ไม่เฉพาะฝรั่งกับแขก “จีน” ก็มีบทบาทกับอยุธยามากเช่นกัน เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการอิสระด้านจีนศึกษา กล่าวว่า ชาวจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวข้องกันอย่างยาวนาน ซึ่งชาวจีนในอยุธยามีความหลากหลายพื้นเพที่มา เช่น ชาวจีนจากราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง (แมนจู) รวมถึงชาวจีนฮกเกี้ยน แม้เป็นคนจีนเหมือนกันแต่แต่งกายและใช้สำเนียงภาษาที่แตกต่างกันตลอดห้วงประวัติศาสตร์มีการอพยพของชาวจีนเข้ามาในแผ่นดินไทยไม่ว่าจะหนีภัยทางการเมืองหรือหนีจากความยากจน จึงสันนิษฐานว่ามีชาวจีนทุกสาขาวิชาชีพที่เข้ามาอยู่ในไทย
“ชาวจีนในอดีตที่มาอยู่ในอยุธยามีอาชีพหลายอย่าง เช่นเป็นช่างแกะสลัก ช่างตีเหล็ก ซึ่งการอยู่ของชาวจีนในสังคมไทยจะซึมซับกับคนไทยอย่างเหนียวแน่น จึงทำให้ชาวไทยได้รับอิทธิพลความหลากหลายของชาวจีนไปด้วย เช่น ศิลปกรรมและเทคโนโลยี สามารถแลกเปลี่ยนกับชาวจีนที่ได้โอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ในไทยมีชีวิตที่อิสระในการทำอาชีพอย่างเสรี” เศรษฐพงษ์ กล่าว
เมื่อพูดถึงชาวจีนกับอาณาจักรอยุธยา จะไม่พูดถึงตัวละคร “จีนฮง” ในละครบุพเพสันนิวาสเลยคงไม่ได้ ในละครนั้นตัวเอกของเรื่องอย่างการะเกดไปขอให้จีนฮงทำกระทะ ซึ่งในสมัยนั้นกระทะฝีมือชาวจีนได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดี อนึ่ง..แม้กระทั่งชาวจีนในปัจจุบันก็พลอยกลายเป็นแฟนละครเรื่องนี้ไปด้วย มีการนำละครไปแปลคำบรรยายเป็นภาษาจีน และมีนักท่องเที่ยวจีนไม่น้อยเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยเพราะมาตามรอยฉากในละคร
นักแสดงและทีมงานละคร “บุพเพสันนิวาส” เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 3 เม.ย. 2561
ภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับละครบุพเพสันนิวาส เปิดเผยว่า กว่าจะมาเป็นผลงานละครในระดับวาระแห่งชาติเช่นนี้ได้ต้องค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดมาก อาทิ “อาจารย์แดง” ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ผู้เขียนบทละครเรื่องนี้ใช้เวลาเรียบเรียงบทนานกว่า 1 ปี และกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็น “การเมืองภายในราชสำนักอยุธยา” ในตอนแรกคิดว่าไม่อยากพูดถึง แต่สุดท้ายก็ตกลงว่าใส่เข้าไปดีกว่าเพื่อให้เนื้อเรื่องเข้มข้นและให้ผู้ชมตัดสินเอาเองว่าตัวละครไหนเป็นอย่างไร
“ไม่ใช่มีแต่เรื่องราวของพระเอกนางเอกเท่านั้น แต่ด้วยหลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายเชื้อชาติ การทำเรื่องบุพเพสันนิวาส ผมสามารถใส่อะไรเข้าไปในละครได้ อย่างตะเกียงจากเปอร์เซีย เตียงที่มาจากจีนของนางเอก เพราะอยุธยาช่วงนั้นคือการรวบรวมความหลากหลายไว้” ผกก.ละครดัง ระบุ
ไม่บ่อยนักที่ประเทศไทยจะมีละครอิงประวัติศาสตร์แล้วโด่งดังเป็นวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ หากเทียบกับละครแนวเดียวกันของฮ่องกง จีนแผ่นดินใหญ่ หรือเกาหลีใต้ ที่คุ้นตาทั้งคนไทยและอีกหลายชาติทั่วเอเชีย อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่วันละครบุพเพสันนิวาสก็จะถึงตอนอวสานแล้ว หลายฝ่ายก็หวังกันว่า “คงไม่เป็นไฟไหม้ฟาง” การเรียนรู้และสืบสานมรดกไทย
ขอให้คงเป็นกระแสสืบต่อไป!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี