11 มิ.ย.61 นายนวนิตย์ พลเคน เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย นายไพศาล แก้วบุตรดี หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ นางอรพันธ์ วัชรโพธิ์ เกษตรอำเภอเมืองบุรีรัมย์ ได้นำเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ติดตามสำรวจพื้นที่ประสบปัญหาเชื้อราโรคไหม้ข้าว พร้อมให้ความรู้ แนะวิธีกำจัด ใช้ไตรโคเดอร์มาฉีดพ่น เพื่อป้องกันหรือหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค ที่แปลงนาเกษตรกร บ้านมาบสมอ หมู่ที่ 5 ตำบลหนองตาด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
หลังพบว่า ในขณะนี้มีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดโรคเชื้อราไหม้ข้าว ระบาด ทำให้ต้นข้าวที่ปลูกได้ 1-3 เดือน ใบต้นข้าวแห้ง และตายในที่สุด ระบาดในพื้นที่ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านมาบสมอ หมู่ที่ 5 และบ้านโคกวัด หมู่ที่ 20 ตำบลหนองตาด รวมทั้งสิ้นกว่า 400 ไร่
โดยลักษณะอาการของโรคใบไหม้ที่เกษตรกรประสบปัญหา มีลักษณะที่ใบจะพบจุดช้ำน้ำในระยะแรกเริ่ม ต่อมาจะพบแผลเป็นจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตาตรงกลางแผลมีสีเทาแผลขนาดต่างๆกัน จุดแผลจะขยายติดต่อลุกลามได้ทั่วบริเวณใบ กรณีเกิดโรคระบาด รุนแรง กล้าข้าวจะแห้งและฟุบตายอาการคล้ายถูกไฟไหม้
นายจรัญ แต้มทอง ผู้ใหญ่บ้านมาบสมอ หมู่ที่ 5 ต.หนองตาด อ.เมือง กล่าวว่า ได้มีชาวบ้านที่ทำนามาแจ้งว่าขณะนี้พบว่าเริ่มมีเชื้อราโรคใบไหม้ข้าว แพร่ระบาดในนาข้าว 2 หมู่บ้าน กว่า 400 ไร่ จึงประสานเกษตรตำบล อำเภอ และเกษตรจังหวัด เพื่อเร่งดำเนินการกำจัดและป้องกันอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างกับต้นข้าวชาวนาที่กำลังเติบโตพื้นที่ใกล้เคียงกัน
นายนวนิตย์ พลเคน เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ได้ลงสำรวจนาข้าวของเกษตรกรที่เริ่มมีการเกิดเชื้อราโรคไหม้ข้าว และแนะวิธีป้องกันและกำจัดโรคศัตรูข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทั้งที่ได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับผลกระทบจากโรคศัตรูข้าว
เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาด มีสาเหตุมาจาก เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีความอ่อนแอต่อโรคไหม้มาก เกษตรกรมีการตกกล้าหรือหว่านข้าว โดยใช้อัตราการหว่านที่สูงคือมากกว่า 15 กก./ไร่ ทำให้ข้าวขึ้น หนาแน่นในแปลงกล้าหรือแปลงนาหว่าน เกษตรกรหว่านปุ๋ยชีวภาพ หรือปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียในอัตราสูง และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคคือช่วงที่มีเมฆปกคลุมเป็น ระยะเวลายาวนานติดต่อกันหลายวัน มีฝนตกปรอยๆ เป็นประจำ ใบข้าวเปียกนานมากกว่า 10 ชม. อุณหภูมิกลางคืนค่อนข้างเย็น (20-30'C) โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวที่ ไม่มีน้ำท่วมขัง ทำให้มีโอกาสเกิดน้ำค้างในช่วงกลางคืนเป็นระยะเวลายาวนาน
ทั้งนี้ ได้มอบแนวทางการป้องกันกำจัดโรคใบไหม้ ซึ่งกำชับให้เกษตรกรอย่าตกกล้า หรือหว่านข้าวในนาหว่านหนาแน่นเกินไป โดยเฉพาะในแปลงกล้าควรแบ่งแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศดี และอย่าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเกินไป ใช้ไตรโคเดอร์มาฉีดพ่น เพื่อป้องกันหรือหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค โดยควรฉีดพ่นเมื่อแปลงนามีน้ำท่วมขัง และยังระบาดไม่รุนแรง ในแปลงที่ระบาดรุนแรง คือมีอาการของโรคไหม้มากถึง 50% ของแปลงนาข้าว ให้ทำการเผาทำลาย และทำการตกกล้าใหม่ หรือใช้กล้าที่ปราศจากโรคจากแหล่งอื่น ส่วนในกรณีนาหว่านก็ให้ทำการหว่านใหม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี