21 ส.ค.61 ที่เวทีเสวนา "เจาะลึกแนวทางการรับรองไม้ยืนตัน 58 ชนิด หลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่" ณ ม.เกษตรศาสตร์ (บางเขน) ซึ่งจัดขึ้นโดยสืบเนื่องจากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่กำหนดให้ไม้ยืนต้น 58 ชนิด ตามกฎหมายว่าด้วยสวนป่า สามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ เมื่อ 24 ก.ค.61 ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้เสนอ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กล่าวว่า แนวคิดการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงมีมาตั้งแต่สมัย นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการออก พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ.2535 มารับรอง แต่ในขณะนั้นทำเพียงส่งเสริมให้ปลูกเท่านั้น จึงมีแต่คนฐานะดีที่สนใจ เช่น มีการหันมาปลูกต้นสักกันเป็นจำนวนมาก แต่ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ค่อยมีทุนทรัพย์มองว่าใช้เวลานานกว่าจะเกิดประโยชน์ จึงนิยมปลูกพืชที่ได้ผลเร็วอย่างยางพารามากกว่า
ซึ่ง พ.ร.บ.สวนป่า แม้จะส่งเสริมให้ปลูกแต่สิ่งที่ขาดคือต้นไม้นั้นไม่สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อย่างทรัพย์สินอื่นๆ แรงจูงใจที่จะทำให้คนสนใจปลูกจึงมีน้อย นอกจากนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขอเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่ห้ามตัดไม้ในบัญชีไม้หวงห้ามทุกกรณีแม้กระทั่งเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินส่วนบุคคล ให้สามารถปลูกและตัดไม้ประเภทดังกล่าวได้หากปลูกในที่ดินส่วนบุคคลที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกาและจะต้องผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกชั้นหนึ่ง
"สิ่งที่ผมอยากฝากฝ่ายวิชาการรวมถึงกรมป่าไม้ ผมเชื่อว่าจะต้องมีการทำมาหากิน ส่งเสริมกล้าไม้ชนิดนั้นชนิดนี้ มันจะมีปัญหาตามมาได้ สิ่งสำคัญคือคนไทยขาดความรู้ว่าภาคไหนควรปลูกอะไรที่มันให้เนื้อไม้สูง ผมไปภาคใต้เขาบอกไม่ใช่ต้นสัก แต่เป็นต้นหยีที่ไม้ดีมาก ขึ้นดีด้วยเพราะเป็นบ้านของเขา ภาคเหนือไม้สัก ภาคอีสานไม้อะไรดี ผมเชื่อว่ากรมป่าไม้มีหมดแล้ว ต้องกระจายความรู้เหล่านี้ให้ทั้งแผ่นดิน ไม่ใช่ไปปลูกชนิดเดียวกันทั้งแผ่นดิน มันจะให้เนื้อไม้แตกต่างกัน คล้ายๆ เห่อก็เห่อเหมือนกันหมด ให้ประโยชน์น้อย" นพ.อำพล กล่าว
ขณะที่ นายบรรจง วงศ์ศรีสุนทร ผู้อำนวยการสำนักรับรองการป่าไม้ กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้ตั้งมา 122 ปี การปลูกป่าโดยภาครัฐเองไม่ประสบความสำเร็จ พื้นที่ป่าไม่สามารถเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทยตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงมองไปที่ป่าเอกชนซึ่งก็ต้องเป็นพื้นที่ของเอกชนด้วย ในรูปของป่าเศรษฐกิจ ทั้งนี้มีการหารือกับทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม (NGO) และเกษตรกร นำมาสู่การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.สวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ที่มีบัญชีรายชื่อต้นไม้ 58 ชนิดดังกล่าว
"เดิมทีเดียวเราไม่อยากกำหนดชนิดไม้ เราอยากให้ไม้ยืนต้นทุกชนิดมาขึ้นทะเบียนสวนป่าได้ แต่ตอนนั้นปรากฏว่าทางกฤษฎีกาไม่ยอม ให้แค่ 20 ชนิดเอง แต่เราเสนอไปทั้งหมด 66 ชนิด แต่ถูกตัดออกในชั้นกรรมาธิการ เหลือ 58 ชนิดถึงปัจจุบันนี้ ที่ถูกตัดไปก็มีพวกมะฮอกกานี ยูคาลิปตัส ยางพารา" นายบรรจง ระบุ
ด้าน ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเสริมว่า หลังจากนี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อม ได้แก่ 1.ให้จัดทำระบบประเมินมูลค่าต้นไม้ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับ 2.พัฒนาและประกาศใช้คู่มือการประเมินมูลค่า ซึ่งข้อนี้จะเกี่ยวโยงทั้งหมดไม่ว่าจะใช้เพื่อการค้าหรือไม่ และ 3.พัฒนาส่งเสริมบุคลากรที่เป็นมืออาชีพทางด้านการประเมินมูลค่าต้นไม้ เรื่องนี้ผู้ประเมินต้องมีการฝึกอบรมและอาจต้องได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่นเดียวกับวิชาชีพด้านหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ไม้ 58 ชนิดตาม พ.ร.บ.สวนป่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ประกอบด้วย 1.สัก 2.พะยูง 3.ชิงชัน 4.กระซิก 5.กระพี้เขาควาย 6.สาธร 7.แดง 8.ประดู่ป่า 9.ประดู่บ้าน 10.มะค่าโมง 11.มะค่าแต้ 12.เคี่ยม 13.เคี่ยมคะนอง 14.เต็ง 15.รัง 16.พะยอม 17.ตะเคียนทอง 18.ตะเคียนหิน 19.ตะเคียนชันตาแมว 20.ไม้สกุลยาง 21.สะเดา 22.สะเดาเทียม 23.ตะกู 24.ยมหิน 25.ยมหอม 26.นางพญาเสือโคร่ง 27.นนทรี 28.สัตบรรณ 29.ตีนเป็ดทะเล 30.พฤกษ์
31.ปีบ 32.ตะแบกนา 33.เสลา 34.อินทนิลน้ำ 35.ตะแบกเลือด 36.นากบุด 37.ไม้สกุลจำปี 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กะทังใบใหญ่ 50.พลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน และ 58.มะขาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เช็คชื่อพันธุ์ไม้ด่วน! ครม.ไฟเขียวนำไม้ยืนต้น58ชนิดค้ำประกันเงินกู้ได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี