รมช.ศึกษาธิการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ยกสถานศึกษา 2 แห่งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นต้นแบบ พร้อมเล็งขยายผลโครงการคลอบคลุมโรงเรียนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ
6 ก.ย.61 ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะลงพื้นตรวจเยี่ยมโรงเรียนแก้วเสด็จพิทยาคม ต.หนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 24 เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีนายเธียรชัย อัจฉริยพันธ์ รองผวจ.กาฬสินธุ์ นายชัยวัฒน์ ตั้งพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 24 พล.ต.ต.มนตรี จรัลพงศ์ ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอสมเด็จ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้ปกครอง และนักเรียนให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินการ
สำหรับโรงเรียนแก้วเสด็จพิทยาคม เป็นโรงเรียน 1 ใน 50 แห่ง ที่ได้รับคัดเลือกอยู่ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ และมีบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)เข้ามาช่วยสนับสนุน มีหลักการบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา มีเป้าหมายที่จะสร้างนักเรียน มีอาชีพติดตัวโดยระหว่างกำลังศึกษา โดยการปรับกระบวนการเรียนการสอนใหม่ ส่งเสริมให้ เรียนรู้จากนอกห้องเรียนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการเรียนรู้บริษัทพอเพียง การเรียนรู้ด้านการเกษตรอย่างครอบวงจร โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาช่วยสอน ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถสร้างอาชีพ และสร้างผลิตภัณฑ์ระหว่างกำลังศึกษา นอกจากนี้จากการสอบถามนักเรียนหลายคนอยากเป็นพยาบาล ทางโรงเรียนจึงได้ปรับการเรียนโดยการออกไปเรียนไปศึกษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลอำเภออีกด้วย
จากนั้นเวลา 13.00 น.ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยการอาชีพคำม่วง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาอีก 1 แห่ง ที่จัดการเรียนการสอนสายอาชีพ โดยมีนายวาทิช ผ่านสำแดง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพคำม่วง พร้อมด้วยผู้บริหารสังกัดอาชีวศึกษา ผู้บริหารกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด ส่วนราชการ และผู้นำท้องถิ่นให้การตอนรับและรายงานผลการดำเนินการ
ทั้งนี้วิทยาลัยการอาชีพคำม่วง เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มีหน้าที่หลัก คือ ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสู่ตลาดแรงงาน โดยผลจากการที่สถานศึกษาได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลอีสาน จำกัด ได้ร่วมส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาได้รับการพัฒนา ทั้งด้านการเรียนการสอน ด้านการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้านการพัฒนากิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ ด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์และอาคารสถานที่ ทั้งนี้ปัจจุบันได้มีการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีในสาขาเทคนิคอุตสาหกรรมการผลิต ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ส่งผลให้ผู้เรียนมีอาชีพ มีรายได้และทำงานในบริษัทปีละ 15 คน และเมื่อสำเร็จการศึกษารับเข้าทำงานในบริษัท ซึ่งโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนานี้จะเป็นการพัฒนาผู้เรียนส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษาเป็นคนดี มีคุณภาพ มีรายได้มีอาชีพ และมีความผาสุกในครอบครัวต่อไป
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School เป็นนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ ร่วมพัฒนา และสนับสนุนสถานศึกษา ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โครงการนี้เป็นการยกระดับความร่วมมือที่ต่างไปจากโครงการโรงเรียนประชารัฐเดิม เพราะมีความร่วมมืออย่างเข้มข้น โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการโรงเรียน
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม กล่าวต่อว่า หลักการสำคัญของโครงการนี้ต้องการให้โรงเรียนมีความคล่องตัวและสามารถบริหารจัดการโรงเรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพ ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเตรียมความพร้อมผู้เรียนสำหรับอนาคต ควบคู่ไปกับการพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน เปิดโอกาสในการพัฒนาอย่างทั่วถึง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภายใต้ความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่และชุมชน
โดยมีความอิสระ 3 ส่วน คือ อิสระในการออกแบบหลักสูตรเอง อิสระในการออกแบบจัดการเรียนการสอนเอง และอิสระในการบริหารจัดการเอง ส่วนรูปแบบของโรงเรียนร่วมพัฒนามีความพิเศษคือ ขึ้นตรงกับเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง มีการปลดล็อคระเบียบต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น มีคณะกรรมการสถานศึกษาที่มาจากผู้แทน 4 ฝ่ายเข้ามาช่วยบริหารจัดการ คือ ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง โดยมีผู้แทนภาคเอกชนเป็นประธานกรรมการสถานศึกษา เพื่อจะได้นำแนวคิดการทำงานแบบใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารโรงเรียนให้ไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม กล่าวอีกว่า การเริ่มต้นโครงการในปีแรกนั้นมี 50 แห่ง ใน 30 จังหวัด โดยมีภาคเอกชนชั้นนำ 12 หน่วยงาน เข้ามาร่วมสนับสนุนพัฒนาโรงเรียน โดย ศธ.ปลดล็อคกฎระเบียบทุกอย่างเท่าที่กฎหมายเอื้ออำนวย เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้อิสระมากขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับสถานศึกษาทั้ง 2 แห่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่อยู่ในโครงการนั้นถือเป็นต้นแบบ เพราะมีการบริหารจัดการที่ดีและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งทางกระทรวงฯกำลังติดตามผลการดำเนินงานเพื่อที่จะขยายผลไปสู่โรงเรียนต่างๆอีกกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มีโรงเรียนร่วมพัฒนา 1 แห่งที่เป็นต้นแบบอย่างน้อยอยู่ในพื้นที่เขตพื้นที่การศึกษา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี