นายประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว เปิดเผยว่า โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าว GAP ครบวงจร อยู่ภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นใช้หลักการตลาดนำการผลิต ฉะนั้นการทำการตลาดสิ่งที่ต้องคำนึงคือคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะข้าวที่เราเป็นประเทศส่งออกข้าวติดอันดับต้นๆ ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นสินค้าที่อยู่คู่กับชาวนาและประเทศไทย การจะยกระดับคุณภาพข้าวไทยให้แข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ จึงต้องควบคุมเรื่องคุณภาพ โดยใช้มาตรฐานเป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าว GAP ครบวงจร ถึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อผลผลิตข้าวของกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ในราคาที่สูงกว่าข้าวทั่วไป เนื่องจากกระบวนการผลิตข้าว GAP ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดอย่างถูกต้อง และต้องผ่านการตรวจสอบรับรองจากกรมการข้าว เพื่อสร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ทำหน้าที่ให้การตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐาน ตั้งแต่ระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว GAP Seed เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สำหรับกระจายไปสู่เกษตรกรเพื่อผลิตข้าวเปลือก เมื่อเกษตรกรสมาชิกนาแปลงใหญ่ผลิตข้าวตามมาตรฐาน ก็จะได้รับการรับรองข้าวเปลือก GAP ซึ่งข้าวเปลือกคุณภาพเหล่านี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการเชื่อมโยงตลาดข้าว GAP จำหน่ายให้ผู้ประกอบการค้าข้าว โรงสีที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP นำไปแปรรูปเป็นข้าวสารที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสัญลักษณ์ Q นั่นแสดงว่าข้าวสารถุงนั้น ได้ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานครบถ้วนทั้ง 4 ระบบ เป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ข้าว
โดยในปี 2561 ได้ตรวจสอบเพื่อให้การรับรองมาตรฐานข้าว GAP ในระบบนาแปลงใหญ่แล้ว 1,034 กลุ่ม เกษตรกร 38,336 ราย คิดเป็นพื้นที่รวม 484,067 ไร่ และให้การตรวจรับรองมาตรฐานโรงสีข้าว GMP 10 โรงสี รวมทั้งตรวจสอบรับรองสินค้าข้าวสาร Q จำนวน 23 ข้าวสาร Q เป็นจำนวนข้าวสาร 15,443.52 ตัน ทั้งนี้ ระบบตรวจรับรองมาตรฐานข้าวของประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยกรมการข้าวนั้น เป็นไปตามระบบมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17065จึงมั่นใจได้ว่าการตรวจรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะที่ผ่านมากรมการข้าวมุ่งมั่นผลักดันให้ผลิตข้าวเป็นไปตามมาตรฐานทั้งระบบ มีการเตรียมความพร้อมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผู้ประกอบการค้าข้าว โรงสี โดยใช้ตัวมาตรฐานเป็นกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าค่อนข้างมากเรื่องมาตรฐานข้าว เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นโอกาสดีที่จะขยายช่องทางการค้าในเวทีการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี