นายอำนาจ ชูวงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมวางแผนดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใน 7 อำเภอ คือ อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี และอ.ด่านช้าง อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งประสบภัยแล้งซ้ำซาก ราษฎรเดือดร้อนเพราะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคมานาน จึงจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับสูง แม้ทั้ง 7 อำเภอ มีแหล่งน้ำใช้จากลุ่มน้ำลำตะเพิน ที่มีน้ำท่าไหลช่วงหน้าฝนถึงปีละ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาจึงไม่สามารถพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ น้ำท่าจำนวนมากจึงไหลออกสู่ลำน้ำแควใหญ่ทั้งหมด
ที่ผ่านมากรมแก้ปัญหาโดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝายทดน้ำในลำน้ำ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และสระเก็บน้ำในไร่นา มีราษฎรในพื้นที่รับประโยชน์ 50,000 ไร่ พร้อมทั้งเพิ่มปริมาณความจุให้อ่างเก็บน้ำลำตะเพินเดิมจาก 50 ล้านลบ.ม. เป็น 57 ล้านลบ.ม. แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ และมีความเสี่ยงที่ปัญหาภัยแล้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงมีแผนดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใน 7 อำเภอดังกล่าว โดยระยะสัั้นตั้งแต่ปี 2562-2565 กรมชลประทานวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ดังกล่าว 48 โครงการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำใน อ.บ่อพลอย อ.เลาขวัญ และ อ.ห้วยกระเจา เมื่อเสร็จแล้วจะเก็บน้ำต้นทุนได้เพิ่มอีก 41.41 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 87,000 ไร่ สำหรับระยะยาวตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป จะสร้างอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน พร้อมระบบผันน้ำเหนืออ่างฯ ลำตะเพินเดิมขนาดความจุ 18 ล้านลบ.ม. ซึ่งได้ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเสร็จแล้ว คาดว่าจะบรรจุเข้าแผนงานที่จะดำเนินการได้ปี 2566 – 2570
นายอำนาจกล่าวต่อว่า จากการศึกษาศักยภาพโดยรวมของลุ่มน้ำลำตะเพิน พบว่าในฤดูน้ำหลากจะมีปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างลำตะเพินตอนบน และอ่างลำตะเพินตอนล่าง ที่มีอยู่แล้วมากกว่า 60 ล้านลบ.ม. ดังนั้น เพื่อให้การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำตะเพินตอนบน เกิดประโยชน์สูงสุด จึงสร้างพร้อมระบบฝันน้ำ 2 สาย ได้แก่ สายล่างผันน้ำ 18.68 ล้านลบ.ม.ไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยเทียนและอ่างเก็บน้ำหนองมะสังฆ์ จ.กาญจนบุรี โดยระบบท่อความยาว 82.33 กิโลเมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทานท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยเทียนได้ 22,680 ไร่ และสายบนผันน้ำ 27.5 ล้านลบ.ม.ไปอ่างเก็บน้ำห้วยทวีป และอ่างเก็บน้ำพุปลาก้าง จ.สุพรรณบุรี โดยระบบท่อเช่นกันความยาว 57.35 กม. เปิดพื้นที่ชลประทานได้อีก 19,690 ไร่ ทั้งนี้ ในการผันน้ำจะผันช่วงน้ำหลากซึ่งมีปริมาณน้ำเกินความต้องการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และระหว่างทางผันน้ำยังมีสระเก็บน้ำให้เกษตรกรและประชาชนใช้อีกด้วย ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุม 7 อำเภอ ไม่น้อยกว่า 42,000 ไร่
“พื้นที่รอยต่อระหว่างกาญจนบุรีกับสุพรรณบุรี ค่อนข้างกว้างมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 800,000 ไร่ จำเป็นต้องพัฒนาแหล่งน้ำรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.)กำลังศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ มาช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำและภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าว มีพื้นที่ได้รับประโยชน์มากกว่า 200,000 ไร่” นายอำนาจกล่าวในตอนท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี