วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
พิษแล้ง4เขื่อนหลักวิกฤติ  เหลือน้ำใช้40วัน  เกษตรกร22จว.จี้รบ.ช่วย

พิษแล้ง4เขื่อนหลักวิกฤติ เหลือน้ำใช้40วัน เกษตรกร22จว.จี้รบ.ช่วย

วันเสาร์ ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, 06.00 น.
Tag : แล้ง เขื่อนหลักวิกฤติ เกษตรกร ฝนเทียม
  •  

พิษแล้ง4เขื่อนหลักวิกฤติ

เหลือน้ำใช้40วัน

เกษตรกร22จว.จี้รบ.ช่วย

รมช.เกษตรฯรับชงครม.

จับมือเหล่าทัพทำฝนเทียม

3 รมช.เกษตรฯตรวจเขื่อนภูมิพล เผยน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีใช้ได้อีก 40 วัน สั่งเข้มแผนจัดสรรน้ำยืดเวลาใช้ให้ถึงสิงหาคม รอฝนมา เล็งขอกำลังทหารสกัดแย่งน้ำบางพื้นที่ชงวาระด่วนเข้าครม.ช่วยเกษตรกร ดันสร้างแก้มลิงเพิ่ม พร้อมรายงาน นายกฯให้สั่งกองทัพ ระดมเครื่องบินทำฝนเทียมทั่วประเทศเติมน้ำเขื่อน ด้าน สทนช.ส่งหนังสือด่วนถึงลาว ชะลอทดสอบเขื่อนไซยะบุรี จนกว่าจีนปล่อยน้ำเพิ่ม คาดอีก 3วัน โขงเข้าภาวะปกติ

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.เกษตรฯ)ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง และติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลังฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว 4 เขื่อนวิกฤติ เหลือน้ำใช้40วัน


โดยนายประภัตรกล่าวว่า ถือว่าปัญหาน้ำเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ปริมาณน้ำใช้การ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสัก มีน้ำเหลือรวมกันเพียง 1.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระบายวันละ 45 ล้านลบ.ม. จะมีน้ำใช้อีกประมาณ 40 วัน ดังนั้น จะลดระบายน้ำลงเหลือ 40 ล้านลบ.ม. พร้อมกับทำแผนจัดสรรน้ำเข้มข้นเพื่อยืดเวลาใช้น้ำออกไป จนกว่าฝนจะมาเดือนสิงหาคม ซึ่งจากการคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา ปีนี้ปริมาณฝนเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ 10% และที่น่าเป็นห่วงมากที่ตอนนี้ยังไม่มีฝนลงมา ข้าวปลูกไปแล้วจะเสียหาย ดังนั้น การจัดการน้ำครั้งนี้ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันบริหารน้ำตามรอบเวร โดยให้กรมชลฯทำแผนใช้น้ำ หยุดเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า 400 เครื่อง ในลุ่มน้ำตอนบน เช่น หยุดสูบ 3 วัน เพื่อให้น้ำไปถึงลุ่มเจ้าพระยา และให้ไปชี้แจงชาวนา ถ้าไม่มีน้ำฝนมาเติม ห้ามทำนาปรัง

เล็งขอกำลังทหารดูแลปัญหาแย่งน้ำ

นายประภัตรกล่าวต่อว่า จากนี้ต้องวางแผนจัดสรรน้ำกับทุกหน่วยงาน แบ่งส่งน้ำเข้าแม่น้ำน้อย ท่าจีน มโนรมย์ มหาราช สลับกันใช้ ต้องประหยัดมีวินัย ที่สำคัญอาจขอกำลังทหารมาร่วมด้วย เพราะขณะนี้มีบางพื้นที่เริ่มเกิดปัญหาแย่งน้ำ ซึ่งพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำแถวจ.กำแพงเพชร นครสวรรค์ ต้องหยุดสูบน้ำ เพื่อ ให้น้ำไปถึงลุ่มเจ้าพระยา ทั้งนี้ อาจไม่ต้องใช้แผนงดส่งน้ำให้พื้นที่เกษตร เหมือนปี 2558 ซึ่งยืนยันกับเกษตรกร จะหาน้ำให้จนกว่าข้าวนาปี 6 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวเสร็จ และห้ามทำนารอบสอง เชื่อว่าชาวนารู้สถานการณ์ว่าไม่มีน้ำก็จะไม่ทำนาต่อเนื่อง

ขอเครื่องบินกองทัพปูพรมทำฝนเทียม

ด้านร.อ.ธรรมนัสกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาฝนทิ้งช่วง ภัยแล้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ ถือเป็นวิกฤติระดับชาติ ดังนั้น ต้องขอเครื่องบินทุกเหล่าทัพระดมทำฝนหลวง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ เพิ่มฝนหลวงเติมน้ำลงเขื่อน ช่วยพื้นที่เกษตร โดยจะรายงานนายกฯในฐานะรมว.กลาโหม สั่งการนำเครื่องบินมาร่วมทำฝนเทียมทั่วประเทศ ภายในสัปดาห์หน้า เพราะเรื่องนี้ นายกฯให้เป็นนโยบายเร่งด่วน และตนจะนำปัญหาเข้าคณะรัฐมนตรีพิจารณาหามาตรการแก้ไขแบบบูรณาการ จะมุ่งหวังที่กรมชลประทาน กรมเดียวไม่ได้

ชงครม.แก้ปัญหาระยะยาวเพิ่มแก้มลิง

“โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ควรมาประชุมด้วยตนเอง ไม่ใช่ส่งตัวแทน เพราะไม่เห็นปัญหาเกษตรกร แต่พอปลัดมหาดไทย ลงมาผู้ว่าฯมารับกันเต็ม จะนำเรื่องนี้เรียนต่อนายกฯที่ต้องแก้ปัญหาระยะยาว ฟังทุกครั้งก็เป็นหนังวนซ้ำๆ ถึงเวลาต้องร่วมแก้วิกฤติภัยของชาติ และจำเป็นต้องเพิ่มความถี่ทำฝนหลวง เพราะน้ำในเขื่อนน้อยวิกฤต รวมทั้งจะเพิ่มพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำ เช่น บึงบอระเพ็ด กว้านพะเยา มีปัญหาน้ำแห้งลงตลอด จะเร่งขุดลอก หาที่เก็บน้ำให้ได้มากๆช่วงต้นน้ำ เพื่อส่งมาช่วยปลายน้ำได้ “ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

เขื่อนภูมิพลน้ำน้อยสุดตั้งแต่สร้างมา

ขณะที่ผู้บริหารเขื่อนภูมิพลสรุปสถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้ว่าเขื่อนมีน้ำ 4.6 พันล้านลบ.ม.หักน้ำนอนเขื่อนที่ระบายไม่ได้ 3.8 พันล้านลบ.ม. เหลือเป็นน้ำใช้การได้ 891ล้านลบ.ม.คิดเป็น 9.23% ซึ่งการบริหารจัดการน้ำทำรูปแบบคณะกรรมการร่วมฯ มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหลัก โดยเขื่อนภูมิพลปีนี้น้ำน้อยกว่าปกติถึง2พันล้านลบ.ม.ระบายวันละ 13 ล้านลบ.ม.ระบายออกมากกว่าไหลเข้าเฉลี่ย 20 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ปี 2556-2559 มีน้ำใช้การวิกฤติสุด ได้งดส่งน้ำทำนาปรังลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด

“ปีนี้สถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล อาจมีน้ำน้อยสุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา เช่นเดียวกับปี 2556-2559 แต่ น่ากังวลมากกว่า เพราะการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง มีน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา 5 พันล้านลบ.ม. สถานการณ์น่าเป็นห่วงทั้งเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ที่อาจแล้งรุนแรงเหมือนปี 2558 ที่เขื่อนภูมิพล มีน้ำเหลือใช้การ 200 ล้านลบ.ม. น้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา”ผู้บริหารเขื่อนภูมิพลกล่าว

เกษตรกรร่ำไห้วอนรบ.เร่งหาน้ำให้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ของรมช.เกษตรฯทั้งสามคนวันนี้ มีแกนนำชาวนา ชาวไร่ ประมาณ 500 คนจาก 22 จังหวัดที่กำลังเดือดร้อนหนักจากภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงทำให้ผลผลิตเสียหาย บางรายถึงกลับร้องไห้กลางห้องประชุม เพราะอยู่ปลายน้ำ ขอให้รัฐบาลเพิ่มพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่ เช่น บึงบอระเพ็ด และขอกรมชลประทาน ช่วยสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่มาช่วย อาทิ บ่อทราย ทำฝายในลำน้ำ และเร่งทำฝนหลวง ซึ่งนายประภัตรสั่งการกรมชลฯให้ไปช่วยทันที ด้วยการจดชื่อหมายเลขโทรศัพท์เกษตรกร เพื่อช่วยเหลือได้ทั่วถึง

4เขื่อนหลักน้ำใช้การได้ร้อยละ9

ด้านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจริยะ กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,293 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 (ปริมาณน้ำใช้การได้ 1,597 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9) ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 2.71 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 44.91 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 16,578 ล้าน ลบ.ม. แยกได้ดังนี้คือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 4,710 ล้าน ลบ.ม. (35% ของความจุอ่างฯ) เป็นน้ำใช้การได้ 891 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 23.00 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 8,752 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำ 3,388 ล้านลบ.ม. (36% ของความจุอ่างฯ) เป็นน้ำใช้การได้ 538 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 2.71 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 19.05 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 6,122 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 147 ล้าน ลบ.ม. (16% ของความจุอ่างฯ) เป็นน้ำใช้การ ได้ 104 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 2.16 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 792 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 48 ล้าน ลบ.ม. (5% ของความจุอ่างฯ) เป็นน้ำใช้การได้ 45 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 0.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 0.70 ล้าน ลบ.ม.รับน้ำได้อีก 912 ล้าน ลบ.ม.

ด้านสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวม 447 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดปริมาตรน้ำในอ่างฯรวม 36,429 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 12,300ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2561 (46,970 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62) น้อยกว่าปี 2561 จํานวน 10,541 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ 53.03 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 124.01 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 39,639 ล้าน ลบ.ม.

จี้ลาวชะลอทดสอบเขื่อนไซยะบุรี

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจัยระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกิดจาก 3 ปัจจัยหลักคือ ฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งที่จีน ลาว และฝั่งไทย เขื่อนจิ่งหงของจีนปรับลดการระบายน้ำ ซึ่งทางการจีนแจ้งมาเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ และปัจจัยที่ 3 คือ การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี ของลาว ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำเริ่มทดสอบระหว่างวันที่ 15 – 29 กรกฎาคม ทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและลดลงเร็ว ส่งผลกระทบต่อประชาชนริมแม่น้ำโขง ดังนั้น สทนช.เร่งประสานทางการลาว และทำหนังสือด่วนผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว เพื่อให้ลาวชะลอทดสอบระบบดังกล่าวออกไปประมาณ 2-3 วัน เพื่อรอให้น้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจากเขื่อนจิ่งหงไหลลงมาถึงก่อน คาดว่าใช้เวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม คาดว่าสถานการณ์ของระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติ

น้ำยมพิจิตรลดฮวบเหลือ30ซม.

สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงหลายจังหวัดเข้าขั้นวิกฤติ หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ขาดแหล่งน้ำผลิตประปา อย่างที่จ.พิจิตรโดยระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ไหลผ่านจ.พิจิตรขณะนี้แห้งขอด โดยเฉพาะที่บ้านวังเทโพ หมู่ที่ 3 ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง ระดับน้ำแม่น้ำยมแห้งขอดเหลือเพียงร่องน้ำคล้ายลำธารขนาดเล็ก และระดับน้ำสูงเพียง 30 เซนติเมตร ทั้งที่ทุกปีที่ผ่านมาปริมาณน้ำจะมีจำนวนมากจนใกล้ล้นตลิ่ง ถ้ายังไม่มีฝนตกจะประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตรหลายหมื่นไร่ บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำยมที่เริ่มเพาะปลูกข้าว

พะเยาน้ำดิบผลิตประปาได้แค่ส.ค.

นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ประชุมแก้ปัญหาฝนแล้ง และบริหารจัดหารน้ำกว๊านพะเยา โดย สถานการณ์น้ำในพื้นที่มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 487.7 มม. สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 60 แห่ง ปริมาณเก็บกักรวม 141.425 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำ 51.395 ล้าน ลบ.ม.และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณน้ำในกว๊านพะเยาวันนี้เหลือเพียง 9.45 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งยังลดลงต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ทางจังหวัดได้ประสานศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคเหนือเชียงใหม่ ทำฝนเทียมช่วยเหลือในพื้นที่การเกษตร โดยทำไปแล้วหลายครั้ง แต่ความชื้นไม่พอ จึงเกิดฝนน้อยมาก อีกทั้ง การประปาส่วนภูมิภาคสาขาพะเยา ผลิตน้ำประปาบริการประชาชนไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ส่วนการประปา อ.จุน และอ.เชียงคำ เริ่มประสบปัญหาขาดแหล่งน้ำผลิตประปา จึงได้เร่งหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำประปาได้ อีก 20 - 30 วัน

วิกฤติเขื่อนวังยางหยุดสูบน้ำทำกษ.

นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่3เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง เผยว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีเข้าขั้นวิกฤติ ตลอดลำน้ำชีที่ไหลผ่านจ.มหาสารคาม ระยะทาง 80กิโลเมตร บางช่วงแห้งจนเดินข้ามได้ ไม่เคยปรากฏมาก่อน อาจกระทบระบบนิเวศและการผลิตน้ำประปาในอนาคต ดังนั้น โครงการส่งน้ำฯออกประกาศเรื่องการหยุดส่งน้ำสถานีสูบน้ำเขื่อนวังยาง เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมด้านเกษตร เพื่อรักษาปริมาณน้ำต้นทุนไว้ผลิตประปา

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • เกษตรกรแม่ฮ่องสอนเครียดราคากระเทียมดิ่งเหว บางรายต้องเผาทิ้ง วอนรัฐช่วย เกษตรกรแม่ฮ่องสอนเครียดราคากระเทียมดิ่งเหว บางรายต้องเผาทิ้ง วอนรัฐช่วย
  • ชาวสวนปาล์มน้ำมันเดือด! ‘ทิ้งปาล์มประชดรัฐบาล’ หลังราคาตกต่ำต่อเนื่อง ชาวสวนปาล์มน้ำมันเดือด! ‘ทิ้งปาล์มประชดรัฐบาล’ หลังราคาตกต่ำต่อเนื่อง
  • ชาวนาเชียงรายโวย! ‘ข้าวถูกกว่ามาม่า’ จี้ผู้ว่าฯเปิดลานรับซื้อ-แก้โรงสีท้องถิ่นผูกขาด ชาวนาเชียงรายโวย! ‘ข้าวถูกกว่ามาม่า’ จี้ผู้ว่าฯเปิดลานรับซื้อ-แก้โรงสีท้องถิ่นผูกขาด
  • ชาวสวนปาล์มน้ำมันตรัง! บุกยื่นหนังสือจี้ ‘อุ๊งอิ๊งค์’ แก้ราคาตกต่ำล้นโรงงาน ชาวสวนปาล์มน้ำมันตรัง! บุกยื่นหนังสือจี้ ‘อุ๊งอิ๊งค์’ แก้ราคาตกต่ำล้นโรงงาน
  • \'อัครา\' รมช.เกษตรฯ เยือนเมืองลับแลเร่งรัดงานเขื่อนทดน้ำผาจุก 'อัครา' รมช.เกษตรฯ เยือนเมืองลับแลเร่งรัดงานเขื่อนทดน้ำผาจุก
  • ชาวนาอีสานโต้ไอเดีย\'รมว.พาณิชย์\'ชี้เป็นไปไม่ได้ปลูกกล้วยแทนข้าวส่งญี่ปุ่นเอาน้ำที่ไหน ชาวนาอีสานโต้ไอเดีย'รมว.พาณิชย์'ชี้เป็นไปไม่ได้ปลูกกล้วยแทนข้าวส่งญี่ปุ่นเอาน้ำที่ไหน
  •  

Breaking News

ไร้ปาฏิหาริย์! 'น้องน้ำตาล'เสียชีวิตที่แม่น้ำเจ้าพระยา ญาติเชื่อถูกลวงฆาตกรรม

เที่ยวบินหลายลำลงจอดฉุกเฉิน'อู่ตะเภา' หลัง'สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง'เจอฝนถล่มหนัก

'ในหลวง-พระราชินี' พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลเฝ้าฯ

กมธ.พัฒนาสังคมฯจัดสัมมนา‘สลาก กอช.’ หนุน‘หวยเกษียณ’สร้างหลักประกันวัยชรา

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved