สถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว แหล่งเรียนรู้สู่ชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านพื้นที่ราบเชิงเขา
หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของวิทยาลัยชุมชน (วชช.) คือส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นและชุมชน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 วิทยาลัยชุมชน จึงจัดตั้งแหล่งเรียนรู้สู่ชุมชนขึ้น จำนวน 16 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้เพื่อการสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพ สำหรับนักศึกษา คนในชุมชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจ
วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ถือเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ที่ต้องการสร้างทักษะ เพื่อการสร้างรายได้ และพัฒนาอาชีพ จึงได้นำแนวคิดโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว-ปราจีนบุรี ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการแก้ปัญหาพื้นที่ตามแนวสันเขาที่ถูกบุกรุกจนกลายเป็น
ป่าเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยพระราชทานแนวทางการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาจิตใจราษฎร การพัฒนาความรู้ด้านการประกอบอาชีพ และการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย มาปรับใช้กับสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว
นายศิระพจต์ จริยาวุฒิกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว ได้เล่าถึงการดำเนินงานตามแนวทางพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้วได้มีอาชีพ และรายได้ วชช.สระแก้ว ได้จัดตั้งสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ขึ้นในปี พ.ศ.2552 บนพื้นที่ขนาด 125 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวม พัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดให้กับนักศึกษาและประชาชน ปัจจุบันสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์เป็นที่เรียนภาคปฏิบัติของนักศึกษาหลักสูตรอนุปริญญา สาขาเกษตรอินทรีย์ ควบคู่กับการเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการสร้างรายได้และพัฒนาอาชีพ ตามนโยบายของ วชช.
สถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วชช.สระแก้ว มีการจัดฐานการเรียนรู้จำนวน 5 ฐาน ดังนี้ 1.ฐานสาธิตการปลูกผักอินทรีย์ 2.ฐานสาธิตการเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ 3.ฐานสาธิตการผลิตเห็ด 4.ฐานสาธิตปัจจัยการผลิตพืชและสัตว์ และ 5.ฐานสาธิตการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาหลักสูตรจากการลงพื้นที่สอบถามความต้องการของชาวบ้าน การใช้องค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ผลการศึกษาวิจัยและประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงของเกษตรกร ทำให้ปัจจุบันมีหลักสูตรที่เป็นทางการถึง 60 หลักสูตร และยังมีหลักสูตรเสริมที่กำลังจะขยายผลต่อไป เพื่อถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องและมีประโยชน์อย่างสูงสุด
นอกจากการเรียนรู้ในสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วชช.สระแก้ว ยังได้จัดโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน อาทิ การส่งเสริมอาชีพจากไหมอีรี่ โดยให้ความรู้ตั้งแต่การเลี้ยงหนอนไหม พัฒนาเส้นใย การใช้เครื่องมือ การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้า และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น อาหารเสริม สบู่ ตลอดจนหาตลาดมารองรับผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน การส่งเสริมอาชีพจากการทำเกษตรอินทรีย์ โดยช่วยดูแลและให้ความรู้กับเกษตรกรใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.ปัจจัยการผลิต การทำปุ๋ยหมัก เตรียมดิน การจัดการฟาร์ม 2.การปลูก การเก็บเกี่ยวและเก็บเมล็ดพันธุ์ และ 3.การทำการตลาดแบบอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce)
เป้าหมายของสถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ วชช.สระแก้ว ไม่เพียงเป็นต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์สมัยใหม่ แต่ยังเป็นต้นแบบการพัฒนาอาชีพ การเกษตรมาตรฐานเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม สามารถพัฒนาองค์ความรู้ที่ได้รับให้กลายเป็นอาชีพหลัก เมื่อชาวบ้านสามารถดูแลตัวเองได้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชน
นางวันดี โคตรนาม อายุ 52 ปี อาชีพเกษตรกร ซึ่งใช้เวลาว่างจากการทำเกษตรมาเลี้ยงไหมอีรี่ กล่าวว่า วชช.สระแก้ว ได้สนับสนุนการเลี้ยงไหมอีรี่แบบครบวงจร เลี้ยงง่าย ไม่เป็นโรค เหมาะกับเกษตรกรในจังหวัดสระแก้ว ที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังจำนวนมาก เพราะหนอนไหมกินใบมันเป็นอาหาร แถมผลพลอยได้เมื่อตัดใบมันออก สารอาหารจะถูกนำไปเลี้ยงหัวมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หัวมันมีขนาดใหญ่ ได้ผลผลิตในปริมาณที่สูงขึ้น ขายได้ราคางาม ขณะที่ขี้หนอนไหมยังนำไปเป็นปุ๋ยได้อีกทาง ทำให้ทุกวันนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงอยากให้คนในพื้นที่หันมาเลี้ยงไหมอีรี่มากขึ้น
ขณะที่ นายเอกพจน์ เจริญวงษ์ อายุ 46 ปี อาชีพเกษตรกร กล่าวว่า เคยทำงานบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ รายได้ที่หามาได้แทบจะไม่พอค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน จึงหันกลับมาภูมิลำเนาจังหวัดสระแก้ว แรกๆ ทำการเกษตรโดยที่ไม่มีความรู้มาก่อน ทำให้ได้ผลผลิตออกมาไม่ดี จึงเข้าไปเรียนรู้และทดลองทำการเกษตรแบบอินทรีย์ที่สถาบันการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ของ วชช.สระแก้ว ได้เรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือนจากมูลสัตว์และเศษผักผลไม้ การสร้างโรงเรือนและเพาะเห็ด การเลี้ยงหนูนาการปลูกผักและสมุนไพรแบบไม่ใช้สารเคมี การนำกะลามาอบสมุนไพรก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นของที่ระลึก สร้างรายได้ให้ตนและครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตตั้งใจจะทำการเกษตรแบบอินทรีย์เต็มพื้นที่ เพื่อสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร รู้สึกดีใจและอยากให้ทุก วชช.ช่วยนำความรู้มาให้กับชาวบ้าน เพราะนอกจากการพัฒนาอาชีพแล้ว ยังพัฒนาความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของวิทยาลัยชุมชน ที่นอกจากทำให้ผู้ที่จบการศึกษามีชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยวิธีการทำงานที่ผูกพันและแนบแน่นกับชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี