วิกฤติภัยแล้ง
14เขื่อนใหญ่น้ำต่ำกว่า30%
หวั่นน้ำใช้ไม่พ้นหน้าร้อน
ทส.วอนร่วมมือประหยัดน้ำ
สทนช.ชี้ เขื่อนใหญ่-กลาง 105 แห่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยย้ำ 3 หน่วยหลัก คุมแผนจัดสรรน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา-โขง-ชี-มูล หวั่นปริมาณน้ำลากยาว ไม่ถึงสิ้นแล้งรมว.ทรัพยากรฯขอประชาชน-เกษตรกรร่วมมือประหยัดน้ำคาดแล้งหนักรอบ10ปี สั่งเร่งเจาะบาดาล ด้าน รมว.เกษตรฯสั่งด่วนให้กรมชลประทานบริหารจัดการแหล่งน้ำ ทั้งระบบ แก้ภัยแล้ง ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ เร่งทำฝนหลวงช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
เมื่อวันที่ 3 มกราคม นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้ว่าปัจจุบันแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 49,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,714 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 20,738 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44
14เขื่อนใหญ่วิกฤติน้ำต่ำกว่า30%
โดยล่าสุดมีเขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่งที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% ได้แก่เขื่อนแม่กวง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อน กระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล
ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลาง 354 แห่ง จากทั้งหมด 660 แห่งที่มีระบบติดตามได้ พบว่า อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อยจำนวน 91 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 46 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง ภาคตะวันออก 10 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง ขณะนี้หน่วยงานต่างๆได้มีการปรับแผนการดำเนินงาน โดยใช้งบประมาณปกติของหน่วยงานในการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ทันทีภายในระยะ 1–2 เดือนนี้
ขณะเดียวกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆเป็นไปตามแผน และไม่ส่งผลกระทบกับแผนการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้ง สทนช.ได้มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบแผนและผลการจัดสรรน้ำในแหล่งน้ำต่างๆในพื้นที่เขตชลประทาน มีมาตรการในการควบคุมจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำและสอดคล้องต่อปริมาณน้ำต้นทุน
ย้ำ3หน่วยหลักคุมแผนจัดสรรน้ำ
โดยหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการปรับแผนจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่-กลางแล้ว 25 แห่ง แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 14 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 แห่ง ภาคตะวันออก 5 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันตก 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 11 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 3 แห่ง และภาคตะวันออก 8 แห่ง พร้อมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องประหยัดน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้
จากการติดตามแผน-ผลการจัดสรรน้ำสะสมรายวัน (1 พ.ย.62 – 2 ม.ค.63 ) ในลุ่มน้ำสำคัญ 4 ลุ่มน้ำ พบว่า มี 2 ลุ่มน้ำที่มีการจัดสรรน้ำเกินแผน ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) จัดสรรน้ำแล้ว 1,398 ล้าน ลบ.ม. จากแผนจัดสรรน้ำ 1,268 ล้าน ลบ.ม. เกินแผน 130 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำ โขง ชี มูล จัดสรรน้ำแล้ว 385 ล้าน ลบ.ม. จากแผน 379 ล้าน ลบ.ม. เกินแผน 6 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำภาคตะวันออก (EEC) แม้ยังมีการจัดสรรน้ำน้อยกว่าแผน แต่คาดว่ามีแนวโน้มจะจัดสรรน้ำเกินแผน
“ดังนั้น สทนช.ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานคำนึงถึงลำดับความสำคัญในการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก โดยเฉพาะการรักษาคุณภาพน้ำ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มน้ำด้านอุปโภค บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตั้งแต่ปากแม่น้ำจนถึงสถานีสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ คุณภาพน้ำด้านการเกษตร แม่น้ำแม่กลอง และเพชรบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่น้ำท่าจีน บางปะกง อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่เกษตรในพื้นที่ด้วย” นายสำเริง กล่าว
ทั้งนี้ สทนช.จะบูรณาการการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาแล้งของหน่วยงานต่างๆภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี(พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นผู้บัญชาการ เพื่อติดตามผลการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของทุกหน่วยงานแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ ผลกระทบรายพื้นที่ รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
ทส. ขอทุกฝ่ายร่วมมือประหยัดน้ำ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่าเชื่อว่าปีนี้ประชาชนทราบว่าปัญหาภัยแล้งหนักมากในรอบ 10ปี เราขอความร่วมมือกับประชาชนในการประหยัดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ส่วนเกษตรกร เชื่อว่าประหยัดอยู่แล้ว แต่ในบทบาทของกระทรวงฯโดยกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตนได้ให้เป้าหมายว่าเมื่อน้ำบนดินหมดแล้วหรืออยู่ในสภาวะที่วิกฤติ มีน้อย แหล่งน้ำเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศคือแหล่งน้ำใต้ดิน ปัจจุบันประเทศไทยมีน้ำใต้ดินอยู่อีกเกือบ 3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับเขื่อนขนาดเล็ก
เชื่อผ่านวิกฤติได้ เร่งเจาะบาดาล
ดังนั้น บทบาทของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเจาะน้ำบาลดาลขึ้นมาใช้ทั้งในเรื่องอุปโภคและบริโภค ต่อมาจะใช้เพื่อการเกษตรและถ้าเราสามารถใช้ทฤษฎีนาแปลงใหญ่ มีบ่อบาดาลควบคู่กันกับกรมทรัพยากรน้ำ และเชื่อมั่นว่าช่วงแล้งนี้เราจะสามารถฝ่าวิกฤติไปได้ แต่สิ่งสำคัญกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต้องเดินควบคู่กัน ไม่ทำงานแบ่งแยกกัน ทั้งนี้ ไปจากนี้กระทรวงจะทำงานบูรณาการเป็นหน่วยงานเดียวกัน
เฉลิมชัยสั่งกรมชลฯจัดบริหารน้ำ
ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัดโดยแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 - 30 เมษายน 2563 มีน้ำจัดสรรให้ 17,699 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น อุปโภค-บริโภค 2,300 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,006 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝนปี 2563 (พ.ค.-ก.ค. 63) รวม 10,540 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรฤดูแล้งปี 2562/63 7,874 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 519 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรรับทราบ สถานการณ์น้ำต้นทุน แนวทางการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติมาเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทดแทนการทำนาปรังซึ่งจะกำหนดชนิดพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 22 จังหวัด ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งมีน้ำเพียงพอเฉพาะการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ และเลี้ยงพืชต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ยังให้กรมชลประทานขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานขนาด 1,260 ลบ.ม.ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดินในฤดูฝนทิ้งช่วงหรือฤดูแล้งในระดับไร่นา ให้เกษตรกรสามารถมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสานเลี้ยงปลาและตกกล้าเตรียมสำหรับทำนาในฤดูเพาะปลูกซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย
นายเฉลิมชัยกล่าวว่าในปี 2563 มีแผนก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและแก้มลิงรวม 421 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,232,121 ไร่และเพิ่มปริมาตรเก็บกัก 942.00 ล้าน ลบ.ม. ส่วนโครงการที่ดำเนินการมาก่อนนี้ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2563 จะได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม. จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปัจจุบันสภาพฝนมีความผันแปรสูงมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ ใช้น้ำเกินแผนที่ได้จัดสรรไว้ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำด้านการเกษตรกรรม – อุปโภคบริโภค จึงมีแผนการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูแล้ง ปี 2562/2563 จำนวน 850 ล้าน ลบ.ม. สำหรับในอนาคตจะพิจารณาผันน้ำมาสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เร่งทำฝนหลวงบรรเทาเดือดร้อน
ทั้งนี้ ได้สั่งการกรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้ และเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเพื่อติดตาม เฝ้าระวังสภาพอากาศ และสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า และจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 - 13 หน่วยปฏิบัติการเพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ซึ่งจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 230 ล้านไร่
กรมชลฯกางแผนจ้างแรงงาน
ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกรที่ไม่สามารถทำการเกษตรในฤดูแล้งได้ กรมชลประทาน มีแผนปฏิบัติการการจ้างแรงงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (งบลงทุน) สำหรับงานซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน ก่อสร้างแหล่งน้ำระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำและโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ ซึ่งดำเนินการจ้างแรงงานทั่วทุกภาคของประเทศ วงเงินประมาณ 3,100 ล้านบาท สามารถจ้างแรงงานได้ไม่น้อยกว่า 41,000 คน ระยะเวลา 3-7 เดือน เกษตรกรจะได้ค่าจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 24,000-58,000 บาท /คน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่ดำเนินการซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในฤดูแล้งนี้
อุตุใต้เตือนคลื่นลมแรง 3-5 ม.ค.
ขณะที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ประกาศฉบับที่ 5 (3/2563) เรื่อง คลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทย ตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม 2563 ลมตะวันออกที่พัดปก คลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามันมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหา ฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก อย่างใกล้ชิด