เมื่อ 2-3 วันก่อนเข้าไปในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร บังเอิญคลิกเข้าไปในเมนู รับฟังความคิดเห็น จึงพบว่ามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ สำหรับผู้ผลิต และจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร นั่นคือ ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.......” ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่เงียบมาก
พยายามค้นหาข่าวว่ามีการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้บ้างไหม ก็พบอยู่เพียงสื่อเดียว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563แม้ในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรเองก็ไม่ได้ทำเครื่องหมายอะไรให้รู้ว่าเป็นเรื่องใหม่ หรือมีความสำคัญ ในเมนูรับฟังความคิดเห็นถ้าไม่คลิกเข้าไปดูก็จะไม่ทราบว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นเรื่องใด
เข้าไปในเว็บไซต์ของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร จึงได้พบว่ามีการรับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้อยู่ โดยใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่อยู่ในหน้าแรกของเว็บไซต์ ลงเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มกราคม เช่นเดียวกัน ตามปกติการรับฟังความคิดเห็นจะต้องใช้วิธีการจัดประชุม จึงจะได้ความคิดเห็นที่ชัดเจนตรวจสอบได้ เพราะจะเห็นหน้าค่าตาคนที่ร่วมประชุมกันอยู่ อาจจะมีข้อขัดแย้งบ้าง ไรบ้าง แต่ความเห็นที่ได้รับจากการประชุมค่อนข้างจะชัดเจน
การรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ เพิ่งมีมาในระยะหลัง ไม่แน่ใจว่าจะมีคนเข้าไปให้ความเห็นสักกี่คน ยิ่งถ้าไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง คนที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นก็คงจะไม่ค่อยมีการอาศัยปากต่อปากบอกต่อๆ กัน ก็อาจจะพอได้บ้าง ในความเห็นส่วนตัวมองว่าการประมวลผลการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์อาจจะมีการเบี่ยงเบนเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่อยากให้เป็น..
แต่ในสถานการณ์ที่กรมวิชาการเกษตร ถูกตัดงบประมาณลงอย่างมากมายเช่นนี้ การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางออนไลน์ ก็พอยอมรับได้เพื่อประหยัดงบประมาณ แต่ระยะเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพียง 16 วัน (28 มกราคม -12 กุมภาพันธ์ 2563) อาจจะน้อยเกินไป
ถึงวันนี้ ปิดรับฟังความคิดเห็นไปเรียบร้อยแล้ว ผลการรับฟังความคิดเห็นเป็นเช่นไรยังไม่ทราบ...
อย่างไรก็ตาม ขอกล่าวถึงสาระสำคัญของ ร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ฉบับนี้พอสังเขป....ร่างประกาศกระทรวงเกษตรฯ ฉบับนี้ ให้ยกเลิกความในหมวด 2 ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ.2547”
หมวดที่ 2 ว่าด้วย “หลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ผลิตและเก็บรักษา” ฉบับเดิม ระบุเฉพาะ “วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3” แต่ร่างประกาศฉบับใหม่ ใช้คำว่า “วัตถุอันตราย” เฉยๆ
ประกาศฉบับเดิม กำหนดให้ผู้ผลิตวัตถุอันตราย จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวง ในส่วนที่เกี่ยวข้อง กับเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์และระบบ ที่มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตผู้ใช้วัตถุอันตราย และสภาพแวดล้อม ต้องจัดให้มีมาตรการและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ผลิต หรือเก็บรักษาวัตถุอันตราย จัดให้มีผู้ควบคุมการผลิต จัดให้มีการบันทึกการผลิตวัตถุอันตรายแต่ละครั้งของการผลิต ผู้ผลิตต้องตรวจสอบสารสำคัญและส่วนประกอบของวัตถุอันตราย ภาชนะบรรจุ ฉลากที่ปิดบนภาชนะบรรจุ ต้องมีเอกสารแสดงกรรมวิธีผลิต และต้องรายงานเกี่ยวกับภาชนะบรรจุที่ใช้แล้ว รวมทั้งต้องมีมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการกำจัดน้ำเสีย
ร่างประกาศฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้ผลิตวัตถุอันตรายจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานสถานที่ผลิตวัตถุอันตราย ซึ่งประกอบด้วย สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สถานที่ต้องได้รับการรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานจัดการสิ่งแวดล้อม ISO140001 และมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025
อาคารผลิตและเก็บรักษาวัตถุอันตรายต้องมีลักษณะตรงตามที่กำหนด เช่น ต้องมีบันไดหนีไฟ ผนังเพดาน และหลังคาต้องเป็นวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดการลุกลามเมื่อเกิดไฟไหม้ มีการระบายอากาศที่เหมาะสม มีแสงสว่างเพียงพอ ต้องติดป้าย “วัตถุอันตราย” อักษรสีแดงบนพื้นขาว บริเวณทางเข้าอาคาร ในสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตราย ต้องติดป้ายแสดงชื่อวัตถุอันตราย และป้ายคำเตือนสำหรับผู้ปฎิบัติงาน
อุปกรณ์การผลิต การผสมปรุงแต่งวัตถุอันตรายชนิดที่เป็นของเหลว ชนิดผง และชนิดเม็ด ต้องมีอุปกรณ์ตามที่กำหนดในประกาศ การแบ่งบรรจุวัตถุอันตรายทั้งชนิดเหลว ชนิดผงและชนิดเม็ดต้องปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศ ให้แยกเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสารกำจัดวัชพืชโดยเฉพาะ ห้ามใช้ผลิตสารกำจัดศัตรูพืชชนิดอื่น
มีการกำหนดวิธีการจัดการวัตถุดิบและลักษณะของภาชนะบรรจุขนาดใหญ่ ผู้ผลิตวัตถุอันตรายชนิดจำกัดการใช้ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ นอกจากนี้การผลิตวัตถุอันตรายทุกชนิดต้องมีเอกสารแสดงกรรมวิธีการผลิตด้วย ข้อปฎิบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือผู้ผลิตต้องมีมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมการจัดการน้ำเสีย และการจัดการข้อร้องเรียน
แทบจะเรียกได้ว่าร่างประกาศบับใหม่นี้ เป็นเรื่องใหม่เกือบทั้งหมด...ผู้ผลิต...ไหวไหม...
แว่นขยาย