ที่งานประชุมปัจฉิมนิเทศ โครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคิดค่าน้ำและจัดทำกฎหมายลำดับรองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ (หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน กรณีพื้นที่ที่มีแนวโน้มการใช้น้ำสูงขึ้นเป็นพิเศษในภาคตะวันออก คือพัทยา จ.ชลบุรี กับมาบตาพุด จ.ระยอง ว่า อาจต้องนำเทคโนโลยีมาช่วย
เช่น เปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืด หรือการใช้น้ำแบบหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่แบบหมุนเวียนในโรงงาน เรื่องนี้ สทนช. สนับสนุนเต็มที่ พร้อมเสนอแนะว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) น่าจะมีมาตรการเข้าไปสนับสนุนด้านการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ด้วย
“ชลบุรี” จังหวัดชายทะเลตะวันออกของไทย ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศ ดังข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ช่วงปี 2557-2560 พบว่าทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด ณ ราคาตลาด ต่อหัวต่อหนึ่งปี (GPP per Capita) และผลิตภัณฑ์จังหวัด ณ ราคาตลาดปัจจุบัน (GPP) สูงเป็นอันดับ 3 เป็นรองเพียงจังหวัดข้างเคียงอย่างระยอง และเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เท่านั้น
ความโดดเด่นประการหนึ่งของ จ.ชลบุรี คือ “ที่นี่มีครบ” ทั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เมืองท่องเที่ยวระดับโลก รวมถึงบางพื้นที่ก็ยังทำเกษตรและประมงพื้นบ้าน แต่เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลายนี้เอง “น้ำ” จึงกลายเป็น “ปัญหา” ของคนในพื้นที่ เพราะเมื่อ “ทรัพยากรมีจำกัดแต่มีความต้องการใช้สูง” ผลคือผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ เกิดความขัดแย้งกัน
“ถ้าเป็นน้ำจืด ตอนนี้ไม่ค่อยมีเกษตรกรรมในพื้นที่เท่าไร ส่วนใหญ่จะเป็นประมงเยอะ น้ำส่วนใหญ่จะถูกแบ่งสรรปันส่วนมาให้ภาคอุตสาหกรรมด้านหนึ่งผมเคยอยู่อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมใช้น้ำค่อนข้างเยอะ แต่กระบวนการบริหารจัดการน้ำจืดมันยังไม่ดีเท่าที่ควร มันน่าจะมีน้ำที่ใช้ไปแล้วน่าจะเอากลับมาใช้ใหม่ได้ บางอุตสาหกรรมบางประเภทสามารถเอากลับมาใช้ใหม่ได้
แต่ว่าด้วยกฎหมายหรือความตระหนักของอุตสาหกรรม ยังไม่มีใครคิดที่จะเอากลับมาใช้ใหม่ส่วนใหญ่คือใช้แล้วก็จะเอามาแค่รดน้ำต้นไม้ แต่ที่จะเอากลับมาใช้ในระบบยังไม่ค่อยเห็น ส่วนน้ำทะเลเรามีปัญหาอยู่เหมือนกันเรื่องมลพิษปนเปื้อน เพราะว่าเราอยู่ปลายน้ำ คนที่อยู่ด้านบนพอใช้เสร็จเขาก็ปล่อยออกสู่ทะเล เราเป็นคนชายน้ำอยู่ด้านท้ายของน้ำ ฉะนั้นปัญหาหลีกไม่พ้น”
อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้าน ชุมชนบ้านอ่าวอุดม กล่าวกับคณะสื่อมวลชนที่ติดตามคณะทำงานของ แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงสถานการณ์ในจังหวัดทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล ซึ่งเดิมทีก็มีปัญหาอยู่แล้ว และอาจรุนแรงขึ้นเมื่อโครงการ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เสร็จสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้
เช่น มีการถมทะเล มีการจัดสรรน้ำไปให้ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น “ทุกวันนี้แรงดันน้ำที่ปล่อยมาให้ชาวบ้านใช้อุปโภค-บริโภคก็น้อยอยู่แล้ว” ชาวบ้านรู้เรื่องนี้แต่ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องปรับตัวบริหารจัดการในแต่ละครัวเรือนไปตามสภาพ “รัฐต้องบอกความจริงเพื่อสร้างความตระหนักให้กับชาวบ้าน” ฝ่ายชาวบ้านจะได้รู้ว่าน้ำมีจำกัดไม่ใช่ใช้ไปวันๆ หนึ่งโดยไม่ต้องคิดอะไร “ฝ่ายอุตสาหกรรมก็ต้องได้รับการส่งเสริมให้นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต” ซึ่งสามารถทำได้มากกว่าเพียงการนำน้ำไปรดต้นไม้เท่านั้น
เช่นเดียวกับ รังสรรค์ สมบูรณ์ ตัวแทนกลุ่มชาวประมงบ้านบางละมุง-แหลมฉบัง ที่เล่าว่า ชาวบ้านเจอปัญหาหลายอย่าง อาทิ 1.มีการปล่อยน้ำจากพื้นที่อุตสาหกรรมผ่านแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเมื่อมีฝนตกส่งผลให้สัตว์น้ำที่ชาวบ้านลงทุนไว้ เช่น ปูทะเล หอยแมลงภู่ เสียหายน็อกน้ำตายจำนวนมาก 2.มีการกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้านที่มีลักษณะเป็นบ่อน้ำลึกซึ่งบ่อเหล่านี้มีปริมาณน้ำมาก จึงกังวลว่าในอนาคตชาวบ้านทั่วไปจะมีน้ำใช้เพียงพอหรือไม่ เพราะน้ำคงถูกนำไปใช้เพื่อเอื้อต่อโครงการ EEC มากกว่า
“ที่รู้มาคือผู้ใช้น้ำอันดับ 1 ในวันข้างหน้าคือนิคมอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว แล้วลองคิดดูถ้าเกิดน้ำมันไม่พอวันข้างหน้า เราจะอยู่อย่างไร ชีวิตของคนเราขาดน้ำ 3 วันก็แย่แล้ว รัฐบาลทำทุกอย่างเพื่อคนที่จะมาลงทุน ผมมอง EEC ใครจะมองอย่างไรไม่รู้ ในความเห็นของผมเราไม่
ได้อะไรเลย เรามีแต่ถูกคุกคาม ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่” รังสรรค์ ระบุ
รวมถึง “ดอน” ตัวแทนกลุ่มประมงบ้านนาเกลือ แสดงความกังวลกับโครงการ EEC เพราะ “เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จำนวนประชากรในพื้นที่ย่อมมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำก็ต้องสูงขึ้นด้วย” แล้วจะพอหรือไม่เพราะไม่ได้เพิ่มเฉพาะโรงงานแต่ยังมีเรื่องของที่อยู่อาศัยด้วย ขณะที่ “โรงแรมในเขตท่องเที่ยวจำนวนมากยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้นำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่” ต่างกับฝ่ายชาวบ้านที่รัฐมักรณรงค์ให้ประหยัดน้ำเสมอ
นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก สมนึก จงมีวศินกล่าวถึง “ยุทธศาสตร์ชาติที่ให้ความสำคัญกับ EEC อย่างมาก” ในบางพื้นที่จึงเกิดภาพ “ชาวบ้านได้แต่มองตาปริบๆเห็นน้ำไหลผ่านท่อไปแต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้” ทำให้พื้นที่อื่นๆ กังวลโดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำฉบับใหม่ มีการกล่าวถึงเรื่องกลุ่มผู้ใช้น้ำจะทำให้ชาวบ้านทั่วไปถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับท้ายๆ
“เวลาเราไปสร้างโครงสร้างแข็งไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ คลองผันน้ำคลองระบายน้ำ (Floodway) ต่างๆ รวมไปถึงอุโมงค์เป็นท่อ มันมักไปอยู่ที่ที่คุณมั่นใจหรือว่าปีหน้าฝนจะตกตรงนี้ คุณเอาอะไรมาคิด ถ้าไปเอาข้อมูลเก่ามาคิดมันก็ผิดอีกเหมือนกัน ฉะนั้นคุณต้องไปดูก่อนว่าพื้นที่นั้นมีน้ำจริงๆหรือเปล่า มีน้ำตลอดไหม มันคงที่ไหม มัน Stabilize (เสถียร) ไหม ถ้ามันไม่ก็ไม่ควรจะเป็นพื้นที่ในการสร้างอ่าง คลองผันน้ำหรือท่อส่งน้ำ
อันที่สองที่สำคัญคือคุณได้ออกแบบร่วมกันไหม ชาวบ้านไม่เคยปฏิเสธระบบชลประทานโครงสร้างแข็งคำถามเดียวคือจะทำให้ระบบนิเวศ ภูมิสังคม กับโครงสร้างแข็งไปร่วมกันได้อย่างไร เขาขออยู่ 2 เรื่อง1.มีโครงสร้างแข็งได้แต่ห้ามไปขวางลำน้ำนิเวศ ระบบนิเวศของเขา 2.มีแล้วต้องกระจายน้ำให้เท่าเทียม ถ้ามีแล้วทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้น้ำอย่ามี” สมนึก ให้ความเห็น
ด้าน รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ (กำแพงแสน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหัวหน้ากลุ่มวิจัยแผนงานการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ชลบุรีไม่ควรมุ่งพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) แต่ควรไปสู่การเป็นเมืองนิเวศ (Eco City)” เพราะหัวใจของเมืองอัจฉริยะคือการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก ส่วนหัวใจของเมืองนิเวศคือการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
“เทคโนโลยีเข้ามาเต็มไปหมดเลยแต่สุดท้ายทรัพยากรประหยัดหรือไม่ยังตอบไม่ได้ เพราะตอนนี้ทรัพยากรมันตึงมือ เอาง่ายๆ ทรัพยากรชลบุรีเองมันไม่พอ ทรัพยากรก็ไม่พอ ผู้บริโภคก็ไม่พอ ตอนนี้ชลบุรีมีประชากรจริง 1.2 ล้านคน ยังไม่รวมประชากรแฝงอีก 1 ล้านคน ฉะนั้นมันต้องคิดกันอีกยาวเลยว่าชลบุรีจะโตอย่างไร เราจะไปทันสมัยอย่างเดียวเลย เราไม่คิดเรื่องทรัพยากรเลย อันนี้น่ากลัว” อาจารย์บัญชาระบุ
อีกด้านหนึ่ง คณะทำงานฯ และคณะสื่อมวลชน ยังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงาน 2 แห่งคือ 1.บริษัท โมเดอร์น ไดสตัฟส์ แอนด์ พิคเมนท์ส จำกัด ในพื้นที่ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ประกอบกิจการผลิตสี ซึ่ง ดำรงค์ รุ่งเรืองเสรี ผู้จัดการอาวุโส แผนก IPQC เล่าว่า ด้วยความที่ตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมแต่อยู่ใกล้ชุมชน การดำเนินการจึงต้องคิดถึงชุมชนโดยรอบด้วย ทำให้บริษัทนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ทรัพยากรน้ำถูกใช้หมุนเวียนซ้ำในกระบวนการผลิต เพื่อลดการพึ่งพาน้ำดิบจากภายนอก รวมถึงลดการปล่อยน้ำเสียออกสู่ชุมชน
อาทิ “น้ำที่มีแร่ธาตุสูง (Hard Water)” ใช้สำหรับล้างทำความสะอาดเครื่องจักรหรือพื้นโรงงาน โดยเมื่อใช้แล้วจะนำไปเข้ากระบวนการบำบัดด้วยเคมีก่อนแยกน้ำดีเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนน้ำเสียที่เหลือหลังผ่านกระบวนการนี้จะถูกนำไปบำบัดด้วยระบบระเหยแห้ง “น้ำที่มีแร่ธาตุต่ำ (Soft Water)” ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าโดยตรง เมื่อใช้แล้วนำเข้าสู่ระบบบำบัดเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และ “น้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง (RO Water)” ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าโดยตรง และมีขั้นตอนการจัดการเช่นเดียวกับ Soft Water
“โดยรวมการใช้น้ำลดลง 32% จากปีฐานคือปี 2558 การที่เรานำน้ำจากระบบ 4 Effect หรือระบบระเหย น้ำกลั่นที่ได้เราได้กลับมาใช้ในระบบ Boiler (หม้อไอน้ำ) ทำให้เราสามารถลดการใช้น้ำดิบธรรมชาติได้ค่อนข้างเยอะตัวเลขที่เราได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ที่นำน้ำจากระบบ 4 Effect กลับมาใช้ใหม่ ภาพรวมทั้งหมดในองค์กรเรื่องการลดการใช้น้ำปี 2560 กับปี 2561 อยู่ที่ 7 หมื่นคิว (ลูกบาศก์เมตร) การใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 23 คิวต่อตันของผลิตภัณฑ์” ดำรงค์ กล่าว
กับอีกโรงงานคือ 2.บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประกอบกิจการผลิตถุงยางอนามัย โดย จักรพงศ์ชูพยัคฆ์ ผู้รับผิดชอบด้านพลังงานอาวุโส ตัวแทนฝ่ายบริหารด้านการจัดการพลังงาน เล่าว่า การใช้น้ำช่วงปี 2561-2562 อยู่ที่เฉลี่ย 113,000ลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 47 ใช้ในกระบวนการจุ่ม (Dipping)แม่พิมพ์กับน้ำยาง รองลงมา ร้อยละ 43ใช้อุปโภค-บริโภค
จึงเริ่มหาทางลดการใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต ประกอบด้วย 2.1 ปรับกระบวนการไหลของน้ำ 2.2 ลดการใช้น้ำจาก 4 หัวเหลือ 2 หัวในสายการผลิต2.3 นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 2.4 บำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ และ 2.5 ติดตั้งถังเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิต โดยใน2 ข้อหลังอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งนอกจากนี้ยังมีการติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีก10 จุด จากเดิม 11 จุด คาดว่าในปี 2563น่าจะลดการใช้น้ำลงได้ร้อยละ 5.5ในภาพรวม
ซึ่งจากทั้ง 2 โรงงานตัวอย่างข้างต้น รศ.ดร.สุจริต คูณธนกูลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย ด้าน
สังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่าในภาคอุตสาหกรรมมีการรณรงค์ให้ประหยัดการใช้น้ำให้ได้ร้อยละ 40 โดยในปี 2563 ควรลดให้ได้ร้อยละ 10 แต่ก็หวังว่าจะกลายเป็นแผนปฏิบัติประจำในระยะยาว โดยควรมีมาตรการช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานขนาดกลาง-ขนาดเล็กที่อาจไม่มีความพร้อมมากเท่าผู้ประกอบการโรงงานขนาดใหญ่
“โรงงานเขาลงทุน 50-60 ล้านบาท เขาบอกว่าขอดอกเบี้ยต่ำได้ไหม แทนที่จะ 7% ลดไป 3%ได้ไหม อะไรอย่างนี้ เขาก็ยืดระยะเวลาคืนทุน อันนี้เราก็ต้องมาคำนึงเหมือนกันว่าถ้าเขายืนด้วยตัวเองก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่ได้ การให้ดอกเบี้ยต่ำก็จะทำให้เราประหยัดน้ำ ประหยัดน้ำก็ไปสร้างเมืองสร้างอย่างอื่นทดแทน เงินก็จะมาชดเชยได้” รศ.ดร.สุจริต กล่าวในท้ายที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี