เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2563 ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คม-ชัด-ลึก” ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เมื่อช่วงดึกของวันที่ 20 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา คัดค้านแนวคิดมาตรการ “ปิดประเทศ-ปิดเมือง-ปิดบ้าน” เพื่อสกัดการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เนื่องจากประเทศไทยไม่พร้อมจะทำเรื่องดังกล่าวซึ่งหากทำจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งหากกลับมาเปิดทุกอย่างเหมือนเดิมก็มีโอกาสที่ไวรัสโควิด-19 จะกลับมาระบาดอยู่ดี ดังนี้
- ณ ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ดูเหมือนว่าจะมาถึงจุดที่สำคัญและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ คือเริ่มมีเสียงเรียกร้องหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ถึงเวลาแล้วที่เราต้อง Lockdown Shutdown ปิดประเทศ ปิดเมืองแบบชนิดที่ไม่ให้คนไปไหนเลยเพื่อหยุดการแพร่ระบาด คุณหมอเห็นด้วยหรือไม่?
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา : ไม่เห็นด้วยเลย!..การที่เราจะป้องกันไวรัสตัวนี้ เราจะต้องเกิดภูมิต้านทานตามธรรมชาติ แปลว่าคนทุกคนไม่ควรจะได้รับเชื้อเยอะๆ อาจจะได้รับเชื้อน้อยๆ แล้วก็มีความสามารถที่จะสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ เราจะต้องชะลอ เพราะฉะนั้นตอนนี้จริงๆ ปัญหาก็คือถ้าเราจะปิด Lockdown ประเทศ ถามว่าแล้วหลังจากนั้นจะปิดนานเท่าไร 14 วัน 21 วัน หลังจากนั้นเปิดขึ้นมาไวรัสมันกลับมาไหม? มันจะเกิดภูมิต้านทานตามธรรมชาติไหม? เพราะคนทุกคนไม่มีใครเจอไวรัสเลยหรือ คำถามที่ 1 เพราะฉะนั้นถ้าทำให้เกิดภูมิต้านทานไวรัสตามธรรมชาติได้ภายใน 2-3 อาทิตย์ ไวรัสก็กลับมาอยู่ดี
“แล้วอีกคำถามหนึ่ง เราต้องถามคนที่เขาหาเช้ากินค่ำ ว่าถ้าเราให้เขาหยุดงาน 2-3 สัปดาห์ เขาจะอยู่ได้ไหม? ฉะนั้นถ้าเราบอกว่าจะปิดประเทศ Lockdown ไมได้ช่วยให้เกิดภูมิต้านทานตามธรรมชาติแล้วก็ทำร้ายคนจน คนจนก็เป็นคนไทย เรารักประเทศไทยเราต้องรักคนจนด้วย เขาคือคนสำคัญเลยที่ทำให้เราเป็นประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการปิดประเทศอย่างเด็ดขาด คนห้ามออกนอกบ้าน”
คือต้องอธิบายให้ชัดก่อน หลายๆ คนตอนนี้ได้รับเชื้อแต่เขาไม่มีอาการ แล้วในที่สุดเขาก็จะเกิดภูมิต้านทาน ยิ่งเราไปตรวจเยอะๆ เราก็จะตื่นตระหนกว่ามีคนติดเชื้อเยอะ แต่ความจริงผมอยากให้กระทรวงอธิบายว่าจริงๆ คนที่ได้รับเชื้อหลายๆ คนมีอาการป่วยน้อยมากหรือไม่ป่วยเลย คนที่ป่วยหนักตอนนี้ในบรรดาผู้ที่ติดเชื้อขณะนี้ 270 ท่าน มีป่วยหนักอยู่เพียง 1 รายเท่านั้นเอง
- นี่เป็นตัวเลขที่สงสัยมานาน ที่คม-ชัด-ลึก ก็มีโอกาสได้สอบถามท่านอธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าที่ตรวจเจอไปสองร้อยกว่าสามร้อยกว่าคนเอาไปทำอะไร? ท่านก็บอกว่าเอาไปเรียกว่ากักไว้เฉยๆ เพื่อไม่ให้แพร่ระบาด แต่ในการรักษาแทบไม่ได้ทำอะไรเลยอยากนั้นใช่ไหม?
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา : ผมไม่ได้เป็นคนรักษา ผมก็เข้าใจเช่นนั้น ฉะนั้นกฎข้อที่ 1 ก่อน ถ้าเราเอาคนที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมากไปเก็บไว้ตามโรงพยาบาล ถ้าเรามีผู้ป่วยโรคหนักๆ โรคอื่นซึ่งอาจจะไม่ใช่โรคนี้ด้วย เราก็จะไม่มีเตียงที่จะรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคอื่นเลย ทีนี้ถ้าเรากลัวว่าถ้าปล่อยเขาไปในสังคมแล้วเขาจะไปแพร่กระจาย เราก็ต้องอธิบายเขาว่าต้องดูแลตัวเอง แยกตัวเองจากผู้อื่น เราก็ไปเชื่อว่าเขาเชื่อถือไม่ได้
“ผมเชื่อใจและศรัทธาคนไทย ทุกวันนี้ที่โรงพยาบาลมีกฎมีเกณฑ์ คนที่มาตรวจโรคทุกคน มารับบริการปฏิบัติตามกฎทุกคน แล้วทำไมเราถึงคิดว่าคนที่เขารู้ว่าเขาได้รับเชื้อมาเขาจะปฏิบัติตามกฎไม่ได้? เขาจะอยู่ที่บ้านไม่ได้ เพราะการที่เราเอาเขามาอยู่ที่โรงพยาบาลมันก็จะมีค่าใช้จ่าย ใครจะเป็นผู้ออก?”
ประการที่ 2 การที่เอาคนที่มีเชื้อโรคน้อยๆ มาอยู่รวมกัน ก็จะเกิดการติดเชื้อผ่านกันไป-มา เชื้อโรคน้อยก็อาจจะเกลายเป็นเชื้อโรคมาก เหมือนการที่เราเอาคนที่อาจจะไม่ได้รับเชื้อเลยหรือได้รับเชื้อน้อยมากอยู่บนเรือ ในที่สุดคนส่วนใหญ่ก็จะได้รับเชื้อโรค เพราะฉะนั้นการที่เราเอาคนที่คิดว่าเขาติดเชื้อแล้วเอามาแยกเอาไว้ มันจะทำให้บริการทางการแพทย์อ่อนกำลัง แล้วก็มีโอกาสทำให้เขาได้รับเชื้อกลับไป-มา เพราะอยู่กันแต่ในโรงพยาบาล
แล้วถ้าพูดในแง่ภูมิต้านทาน การถูกกักขังทำให้ภูมิต้านทานลดลง โอกาสที่เขาจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อตัวนี้เขาก็จะยิ่งลำบาก ประโยคเรื่องภูมิต้านทานนี่พูดหลายครั้ง ผมเชื่อว่ามีคนข้างนอกที่ยังไม่ถูกกักขังในโรงพยาบาลที่ได้รับเชื้อไปแล้วอีกเยอะมาก และเขาตอนนี้ที่อยู่ในสังคม และเขาก็กระจายเชื้อ แต่ถ้าเรามีภูมิต้านทานที่ดี เราจะป่วยน้อยมาก บางคนก็ไม่ป่วยเลยแล้วเกิดภูมิต้านทานธรรมชาติขึ้นมาเอง
ฉะนั้นปัญหาของการแก้ปัญหาคือต้องทำให้คนส่วนใหญ่เกิดภูมิต้านทานตามธรรมชาติ อันนี้ก็ไม่ถึงกับปล่อยคนป่วยเดินเพ่นพ่าน เพราะเจอคนที่เขาพร้อมที่จะป่วยหนักก็มี ต้องระมัดระวังตัวเองก็ถูกต้องแล้ว การที่จะไปปิดแล้วทำให้คนที่เขาหาเช้ากินค่ำไม่มีจะกิน ผมคงไม่เห็นด้วย ผมเชื้อใจคนไทย ถ้าเกิดบอกว่าเขาติดเชื้อต้องระมัดระวังตัวเอง เขาก็ทำ ผมเห็นใจคนยากจนเพราะเขาก็เป็นประชาชนคนไทย อย่าคิดว่าเจ็บแล้วจบ เพราะคนที่เจ็บอาจจะไม่ใช่เรา คือคนที่เขาจนกว่าเรา
- ถ้าทุกวันนี้เราปล่อยให้มันดำเนินไป ใครที่ป่วยแล้วออกอาการหนักคุณก็ไปรักษาพยาบาล แต่ใครที่ไม่ได้มีอาการอะไรไม่แน่เขาอาจจะมีภูมิต้านทานขึ้นมาได้ ถูกไหม?
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา : ใช่ครับ
- สอง..ประชาสัมพันธ์ว่าช่วงนี้มันอาจเป็นช่วงระบาด ใครที่ไม่แน่ใจก็ขอให้หยุดนิ่งเฉยๆ แต่เราไม่ต้องไปออกกฎว่าจะ Lockdown คุณต้องอยู่กับบ้าน ใช้ชีวิตปกตินี่ละแต่คุณระวังตัวให้มากขึ้น ถูกไหม?
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา : ถูกต้องครับ
- เคยเดินตลาดไปเดิน กลับถึงบ้านรีบล้างมือ อาหารก็กินร้อนๆ อย่างนี้ถูกไหม?
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา : เรื่องอาหารกินร้อนอันนี้ต้องพูดอีกอย่าง ผมสนับสนุนให้ทุกคนออกไปเดินตากแดดรับแสงแดดได้วิตามิน D เพราะวิตามิน D จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน อาหารถ้าเรากินสุก คือตอนนี้เห็นมีคนมาแชร์บอกว่าห้ามกินผักสด ทั้งที่ผักเขียวสดๆ อย่างผักชีมีวิตามิน C ถ้าเรากังวลเราก็ล้างก่อนแล้วก็กิน แต่ถึงขนาดบอกว่าต้องกินอาหารแช่แข็งทุกมื้อ กินบะหมี่สำเร็จรูป เราจะลดภูมิต้านทานของเรา แปลว่าภูมิต้านทานของเราทีนี้ไม่เพียงแต่จะเอาไว้ป้องกันการติดเชื้อไวรัส ภูมิต้านทานของเรายังเอาไว้ป้องกันเราจากโรคมะเร็ง
- ถ้าอย่างนี้เราก็กลับมายืนบนพื้นฐานของการรักษาสุขอนามัยที่เราเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ถูกไหม?
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา : เราเรียนอยู่บนพื้นฐานสุขอนามัยส่วนใหญ่ แต่ว่าโลกมันเปลี่ยนไป อันนี้ต้องบอกจริงๆ ว่าอาหารที่เรากินทุกวันนี้แช่แข็งไมโครเวฟ อาจจะไม่มีสารอาหารที่ครบถ้วน เพราะฉะนั้นการกินผักสด ผลไม้ การเดินตากแดด ออกกำลัง นอนหลับ หยุดเครียด ก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่เราต้องมี การที่เราจะกักขังคนอยู่ในบ้าน 14 วัน แล้วให้เขาจมอยู่กับความเครียด ภูมิต้านทานยิ่งลดลง ผมไมได้เห็นด้วย และผมก็ไม่คิดว่าจะเป็นการลดโอกาสการติดเชื้อ คือจะทำต่อเมื่อจำนวนผู้ป่วยหนักมากเกินกว่าที่แพทย์จะสามารถรับมือได้ อันนั้นจำเป็น
- แนวคิดของคุณหมอเหมือนหรือต่างจากแนวคิดของรัฐบาลอังกฤษหรือเนเธอร์แลนด์ไหม?
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา : ผมยืนสายกลางกว่าเขา รัฐบาลอังกฤษผมว่าโหดไปนิด จัดคอนเสิร์ตให้เอาคนที่ป่วยกับไม่ป่วยมารวมกันแล้วเดี๋ยวคนไม่ป่วยก็จะมีภูมิต้านทานเอง ผมคิดว่าเราอาจจะต้องไปเจอกับคนที่เขามีโรคประจำตัวอยู่ พอได้รับเชื้อไปก็จะป่วยหนัก ถ้าคุณคิดว่าคุณป่วยก็ระมัดระวังตัวเอง แต่คงจะไม่ถึงกับต้องนอนโรงพยาบาล แน่นอนว่าที่คุณมาโรงพยาบาลก็คงมีคนได้รับเชื้อจากคุณแล้ว คุณคิดว่าแพทย์กับพยาบาลไม่ได้รับเชื้อจากคุณหรือ
แต่ถ้าคุณภูมิต้านทานดีแล้วได้รับเชื้อน้อยๆ เพราะเขาระมัดระวังตัวเขาก็จะเกิดภูมิต้านทานขึ้น เพราะฉะนั้นแนวคิดผมก็จะใกล้เคียงกับรัฐบาลอังกฤษกับเนเธอร์แลนด์แล้วก็เยอรมนี ในเรื่องของ Herd Immunity แต่เขาก็ระวังไม่ให้ผู้ป่วยเยอะจนเกินไป แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่บอกให้จัดคอนเสิร์ตเอาคนป่วยกับคนไม่ป่วยมารวมกัน เพราะไม่เห็นด้วย แต่เอาเป็นว่าเชื้อว่าถ้าเราปล่อยให้คนอยู่ร่วมกัน
“เพราะต้องย้ำว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ป่วยหนักหรือบางคนไม่ได้มีอาการเลย การวิตกจริตมันทำให้ภูมิต้านทานเราลดลง แล้วประเทศที่ Lockdown อย่างสเปน อย่างอิตาลี ไปดูนะครับ ตอนนี้เขา Lockdown อัตราตายไม่ได้น้อยลง สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการ Lockdown ประเทศอื่นเขาทำกันแล้ว แล้วมันก็ไม่เป็นผล”
ก็คือชะลอได้และควรชะลอ แต่หยุดคงไม่ได้ ชะลอเพื่อให้คนส่วนใหญ่เกิดภูมิต้านทาน เพราะภูมิต้านทานก็มี 3 ปัจจัย อันที่ 1 ก็คือภูมิต้านทานของเราเอง อันที่ 2 ปริมาณเชื้อที่เราได้รับเข้าไป และอันที่ 3 คือบริการทางการแพทย์
- คำถามสุดท้าย..ขณะนี้ดูเหมือนว่าสังคมไทยกำลังตระหนกเกินกว่าเหตุไหม? สำหรับไวรัสที่ชื่อโควิด-19
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา : ผมคิดว่าสังคมไทยมีกลุ่มน้อยที่ตระหนกเกินกว่าเหตุ แต่กลุ่มใหญ่ที่ระมัดระวังตัว คนที่ใกล้ชิดกับผม ผมพยายามอธิบาย ผมคิดว่าเขายอมรับและเข้าใจ กลุ่มแพทย์ไม่มีใครตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุเลย เพราะทุกสิ่งที่ผมอธิบายไปก็ดูเขาเข้าใจ เขาก็เห็นอยู่ว่าคนส่วนใหญ่นั้นอาการไม่หนัก คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าถ้าภูมิต้านทานของเราดี เราจะฝ่าสถานการณ์นี้ไปได้ แต่ก็จะมีกลุ่มน้อยที่ดูเหมือนจะตระหนกเกินกว่าเหตุ
"แต่ก็จะมีกลุ่มจริงๆ ที่ไม่ได้ตระหนกเกินกว่าเหตุ แต่พยายามสร้างข่าวให้คนตระหนกเกินกว่าเหตุ ซึ่งอันนี้คงจะต้องขอร้องนะครับ ว่าความวิตกจริตคือการลดภูมิต้านทานของร่างกาย เราควรจะดูแลตัวเองให้ถูกหลักมากกว่า”
คลิกชมคลิปได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=wjC5C-cpEzo
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี