ลำปาง : โจรแสบเหิมหนัก แอบเข้าขโมยสายไฟในศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมตำบลทุ่งฝายเกลี้ยง คาดเป็นขี้ยาขโมยนำไปขาย
ปราจีนบุรี : โจรขึ้นตัดสายไฟฟ้าแรงสูงสูงกว่า 10 เมตร
นนทบุรี : ขโมยใจกล้า ตี2 มันตัดสายไฟmainต่อจากมิเตอร์ คาดคงตามจับไม่ได้
ปทุมธานี : คนร้ายไม่ทราบจำนวนแอบเข้ามาขโมยลักตัดสายไฟฟ้าที่ต่อระหว่างกล่องควบคุมไฟฟ้ากับเแท็งค์น้ำประปาหมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อยไม่มีน้ำประปาใช้
หนองบัวลำภู : คนร้ายเข้าไปตัดสายไฟใน โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ชีวะภาพของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลโนนทัน ริมถนนสายหนองบัวลำภู – อุดรธานี
ประจวบคึรีขันธ์ : กลุ่มผู้ปลูกพืชสวนโวยถูกขโมยลักตัดสายไฟฟ้า ที่ใช้ต่อเข้ากับเครื่องปั๊มน้ำเพื่อดูดน้ำจากสระไปรดแปลงผัก ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
พระนครศรีอยุธยา : รปภ.โรงงานรีไซเคิลพลาสติกในกรุงเก่า จับขโมยเข้ามาลักลอบตัดสายไฟไปขาย
กรุงเทพฯ : หนุ่มเหิมลักลอบตัดลวดสายล่อฟ้าแฟลตตำรวจ แต่ถูกจับได้คาหนังคาเขาพร้อมของกลาง อ้างตกงานจากโรงงานหลังขึ้นค่าแรง 300 บาท
สมุทรปราการ : โจรแสบอ้างเป็นพนักงานบริษัทสัญญาจ้างของ บ.ทรู ลักตัดสายไฟฟ้าเส้นหลักในหมู่บ้านสินเพชร ย่านบางพลี
นี่คือ ตัวอย่างข่าวที่นำเสนอหนังสือรายวันหลายฉบับ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็นในการประกอบอาชีพและใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน
กรมชลประทาน เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ประสบปัญหาการถูกลักลอบตัดสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยเฉพาะสายไฟฟ้าของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและของอาคารควบคุมการปิด-เปิดประตูระบายน้ำ ที่ใช้อยู่ตามโครงการชลประทานและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาต่างๆ ทั่วประเทศ จะถูกขโมยลักลอบตัดเป็นประจำมีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว โดยส่วนใหญ่จะขโมยในช่วงเวลากลางคืนหรือเวลาที่เจ้าหน้าที่ออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ และทำให้สูญเสียงบประมาณในการซ่อมแซมหรือจัดหามาทดแทน
รวมทั้งยังทำให้ไม่สามารถที่จะสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรมตามแผนที่วางไว้ได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร ทำให้ไม่มีน้ำที่จะใช้ทำการเกษตร หรือกิจกรรมอื่นๆอีกด้วย
เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซากอีก กรมชลประทานโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย จึงได้ค้นคว้าวิจัยผลิตอุปกรณ์เตือนภัยการตัดสายไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้นมา และเมื่อนำมาทดลองในสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 4 แห่ง ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจไม่มีเหตุการณ์ขโมยสายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเลย
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยการตัดสายไฟฟ้าสถานีสูบน้ำดังกล่าว ถือเป็นมาตรการในการป้องปราบ และช่วยเจ้าหน้าที่ในการจับกุมมิจฉาชีพ ป้องกันไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งในในปัจจุบันมีเหตุการณ์มิจฉาชีพลักลอบตัดสายไฟฟ้าไปขายเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากสายไฟฟ้าเป็นวัสดุโลหะมีราคาสูงเป็นที่ต้องการตลาด ในขณะที่การติดตามจับกุมเป็นไปด้วยความยากลำบาก
สำหรับระบบการทำงานอุปกรณ์เตือนภัยการตัดสายไฟฟ้าสถานีสูบน้ำดังกล่าวนั้น เป็นการทำงานในระบบ “อนาล็อก” ด้วยการเดินสายไฟฟ้าขนาดเล็กขนานไปกับสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ของเครื่องสูบน้ำ เพื่อตรวจจับความผิดปกติของอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อใดที่สายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ของเครื่องสูบน้ำถูกตัด หรือถอดออกไป วงจรเสียงสัญญาณไซเรนและสัญญาณไฟฟ้าไซเรนจะทำงานทันที ซึ่งเสียงไซเรนจะดังมาก และไฟฟ้าไซเรนก็จะมองเห็นได้ในชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในละแวกใกล้เคียงรับทราบทันที ทำให้สามารถเข้ามาตรวจสอบป้องปรามได้อย่างทันสถานการณ์
อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวมีขีดจำกัด ที่จะต้องมีไฟฟ้าไหลผ่านตลอดเวลา แต่เมื่อหยุดเดินเครื่องสูบน้ำจะไม่มีกระแสไฟฟ้าผ่าน มิจฉาชีพอาจจะใช้ช่วงเวลานี้ในการขโมยสายไฟฟ้า กรมชลประทานจึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงระบบสัญญาณเตือนภัย ให้มีอุปกรณ์การตรวจจับสัญญาณที่ดีขึ้น โดยการปรับปรุงจากการใช้สายไฟฟ้าขนาดเล็กในการตรวจจับสัญญาณ มาใช้แรงดันไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 12 โวลท์ มาไหลผ่านสายไฟฟ้าของเครื่องสูบน้ำทุกเส้น โดยในช่วงที่มีการสูบน้ำจะมีกระแสไฟฟ้าไหลในสายไฟฟ้าเครื่องสูบน้ำและจะมีพนักงานในควบคุมดูแลอยู่ แต่ถ้าเมื่อหยุดเดินเครื่องสูบน้ำก็จะไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลในสายไฟฟ้า สามารถปล่อยแรงดันไฟฟ้ากระแสตรง ขนาด 12 โวลท์ เข้าในสายฟ้าเครื่องสูบน้ำได้
ดังนั้นถ้ามีการตัดสายไฟฟ้าของเครื่องสูบน้ำเส้นใดก็ตาม สัญญาณเตือนภัยก็จะทำงานทันที ไม่ว่าในช่วงเวลานั้นจะเดินเครื่องสูบน้ำอยู่หรือไม่ก็ตาม
นายประสงค์ ผ่องสวัสดิ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเตือนภัยด้วยสัญญาณไฟและเสียงไซเรนดังกล่าวแล้ว ยังได้มีการพัฒนาระบบตรวจจับ ให้สามารถส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือ ของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำแม้จะอยู่ไกลแค่ไหนได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถจับกุมมิจฉาชีพได้ง่ายขึ้น และช่วยไม่ให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายได้ดียิ่งขึ้น
และในอนาคตยังจะพัฒนาใช้การส่งสัญญาณเตือนภัยแบบใช้ Modem ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามาพ่วง เพื่อส่งสัญญาณภาพ โดยใช้กล้องรูเข็มในการจับภาพความเคลื่อนไหวภายในสถานีสูบน้ำ และส่งสัญญาณในระบบ 3 G หรือ 4 G เพื่อให้เห็นภาพของผู้ที่เข้ามาในสถานีได้ และเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไปอีกด้วย
สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยการตัดสายไฟฟ้าสถานีสูบน้ำ ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวนั้น จะติดตั้งให้ครบทั้ง 10 สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง และจะขยายผลไปยังโครงการชลประทานอื่นๆที่มีสถานีสูบน้ำ หรือประตูระบายน้ำที่ใช้ไฟฟ้าในการควบคุมและมีความพร้อมที่จะดำเนินการ โดยจะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนต่อไป
การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เตือนภัยการตัดสายไฟฟ้าดังกล่าว ถือเป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่องานชลประทานอย่างมาก เพราะหากสายไฟฟ้าถูกลักขโมยไปไม่ใช่แค่ทรัพย์สินของทางราชการที่เสียหายเท่านั้น เกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงอีกด้วย เนื่องจากอาจจะทำให้ไม่มีน้ำในการเพาะปลูกในฤดูกาลผลิตนั้นๆ หรือพืชผลทางการเกษตรเสียหาย สูญเสียรายได้อย่างที่ไม่ควรจะเป็น
เมื่อมีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวแล้วกรมชลประทานมั่นใจว่า ปัญหาการลักลอบตัดสายไฟฟ้าจะลดลงอย่างแน่นอน และถ้าหากหน่วยงานราชการอื่นๆ สนใจที่จะนำไปติดตั้ง กรมชลประทานก็พร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลีการผลิตให้ เพื่อที่จะช่วยกันรักษาทรัพย์สินของประเทศชาติให้คงอยู่ตลอดไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี