กรมอุตุฯเตือน “พายุฤดูร้อน” พัดถล่ม 48 จังหวัด-กทม.และปริมณฑล ฝนฟ้าคะนองลมแรง อาจมีฟ้าผ่า ลูกเห็บตกบางพื้นที่ ปภ.กำชับทั้ง 4 ภาค เตรียมรับมือ สรุป 17 จังหวัด ถูกพายุถล่ม สังเวยแล้ว 3 ราย
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 9 เรื่อง”พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน(มีผลกระทบถึงวันที่ 26 เมษายน 2563)”ว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบนแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ส่งผลทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ซึ่งจะมีผลกระทบถึงวันที่ 26 เมษายน 2563 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นโดยอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้ ในช่วงวันที่ 25-26 เมษายน 2563 ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก และกำแพงเพชร ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และราชบุรีภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้: จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.)กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าช่วงวันที่ 24–26 เม.ยนี้ พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกจะยังคงเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะอากาศของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้น ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอันตรายจากภาวะพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าผ่าโดยอยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
อธิบดีกรมปภ.กล่าวว่าจากอิทธิพลความกดอากาศสูงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด จึงเกิดการประทะของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ทำให้ในช่วงวันที่22 เม.ย.ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง17 จังหวัด ได้แก่ น่าน ลำปาง เพชรบูรณ์ พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา สุรินทร์ และศรีสะเกษ รวม 56 อำเภอ 114 ตำบล 317 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 1,849 หลัง ผู้เสียชีวิต 3 ราย (มุกดาหาร 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย) ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กระเบื้องมุงหลังคา และวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสม