นักศึกษาวิศวะธรรมศาสตร์ สุดยอดคิดค้นนวัตกรรมใหม่ แอพพลิเคชั่นแรกในโลก ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย “AI” วิเคราะห์ผลตรวจวัตถุพยานในจุดเกิดเหตุได้แม่นยำถึง 98% และรู้ผลเร็วใน 62 วินาที ต่างจากวิธีเดิมที่ใช้เวลาถึง 30 วันถือเป็นแอพฯแรกในโลก เตรียมขยายผลใช้สนับสนุนตำรวจสืบสวนติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีได้เร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) และอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย เปิดเผยว่า นักศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาพัฒนานวัตกรรมตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI แอปพลิเคชันแรกของโลก ที่สามารถตรวจสอบหัวกระสุนปืน ในสถานที่เกิดเหตุจริง พร้อมแสดงผลการวิเคราะห์ที่แม่นยำใน 62 วินาที ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เพื่อลดระยะเวลาในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนคดี เนื่องจากในกระบวนการตรวจสอบตามปกติ จะใช้เวลานานถึง 30 วัน ผ่านการเก็บกระสุนปืน วัตถุพยาน ไปตรวจสอบตำหนิร่องเกลียวสันเกลียวที่เกิดจากกลไกทำงานของปืน ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องใช้เครื่องมือและผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เมื่อผลออกมาแล้ว จึงจะส่งต่อให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สืบสวนและสรุปสำนวนคดีต่อไป
รศ.ดร.จาตุรงค์อธิบายเพิ่มเติมว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นการนำ AI เข้ามาช่วยประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งขั้นตอนตรวจสอบคือ นำลูกกระสุนที่ได้จากที่เกิดเหตุ ใส่ลงไปในเครื่องมือที่มีมอเตอร์ที่ถูกควบคุมด้วยระบบฮาร์ดแวร์ จากนั้นใช้สมาร์ทโฟนถ่ายภาพตำหนิร่องเกลียว-สันเกลียว ที่เกิดขึ้นบนลูกกระสุนปืน ผ่านแอปพลิเคชันจำแนกหัวกระสุนปืน โดยมอเตอร์ของเครื่องมือจะทำงานด้วยการหมุน 360 องศา เพื่อเก็บภาพแบบพาโนรามา ภายใน 62 วินาที จากนั้นระบบจะวิเคราะห์แสดงผลออกมาให้เห็นว่า ลูกกระสุน ถูกยิงมาจากปืนยี่ห้อใด
ทั้งนี้ ระบบ AI ในงานวิจัยดังกล่าว ได้ผ่านการเก็บตัวอย่างของลูกกระสุนทั้งหมด 898 ลูก จากปืนที่มีสถิติก่อคดีสูงที่สุด 8 ยี่ห้อ ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลจากนิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นผลให้ผลลัพธ์ของงานวิจัย แม่นยำและถูกต้องสูงถึง 91-98% ขึ้นอยู่กับยี่ห้อปืนที่ใช้ยิง
รศ.ดร.จาตุรงค์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชัน “ตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI”นั้น อยู่ในขั้นตอนนำไปทดลองใช้งานจริง โดยต้องใช้งานควบคู่กับการวิเคราะห์ผลแบบเดิม เพื่อให้เกิดความถูกต้องสูงที่สุด ซึ่งแอพพลิเคชันดังกล่าว จะช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนทราบยี่ห้อปืนที่ใช้ก่อคดี จำกัดขอบเขตการสืบสวนติดตามตัวคนร้ายให้ได้เร็วขึ้น
“อนาคต เตรียมต่อยอดงานวิจัยด้วยการเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม เพื่อให้ระบุขนาดของปืนได้มากขึ้น เนื่องจากงานวิจัยขณะนี้ เก็บตัวอย่างไปเพียงขนาดเดียวคือ 9 มม.หรืออาจสืบค้นได้ว่าเคยมีประวัติการก่อคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีอัตราเกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับปืนค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยที่ 30,000 – 40,000 คดีต่อปี”รศ.ดร.จาตุรงค์กล่าว และว่า สำหรับงานวิจัยระบบตรวจสอบหัวกระสุนปืนด้วย AI ถือเป็นครั้งแรกของนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร IEEE Access ซึ่งอยู่ใน Quartile ที่ 1 ของการจัดอันดับวารสารของ Scientific Journal Ranking (SJR) ถือเป็นความภาคภูมิใจของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีโอกาสทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ช่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี