“ดิจิทัลอาร์ต (Digital Arts)” หรือผลงานศิลปะที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งเทคโนโลยียิ่งพัฒนาไปมากเท่าใดย่อมส่งผลให้ศิลปินมีเครื่องมือสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้นด้วย ดิจิทัลอาร์ตจึงเป็นสาขาวิชาที่ยังมีโอกาสเติบโต จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ปิโก (ไทยแลนด์) ก่อตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล FAAMAI Digital Arts Hub” โดยมีงานเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้
จนัธ เที่ยงสุรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศิลปกรรมดิจิทัล FAAMAI Digital Arts Hub เปิดเผยว่า ศูนย์นี้ยังมีพันธมิตรกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ เช่น Bauhaus-Universitat Weimar มหาวิทยาลัยด้านศิลปะในเยอรมนี Taipei National University of the Arts มหาวิทยาลัยด้านศิลปะในไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งทาง FAAMAI หรือ “ฟ้าใหม่” มุ่งหมายพัฒนาองค์ความรู้ด้านดิจิทัลอาร์ต หาพันธมิตรใหม่ๆ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคม
โดยด้านข้างอุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ตั้งของโดม Geodesic สีขาวสะดุดตาอยู่บริเวณลานจอดรถ โดมนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 35 เมตร สูง 17.5 เมตร ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้เป็นพื้นที่พัฒนาผลงานด้านดิจิทัลอาร์ตของผู้สนใจศาสตร์ด้านนี้ในไทยให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นอีกสาขาหนึ่งที่ช่วย
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ขณะที่ ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า คณะฯ ก่อตั้งมาแล้ว 38 ปี และวันนี้ไม่อาจสอนแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไปเพราะเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็วมาก นิสิตจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับด้านศิลปะมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาคณะฯ ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลอาร์ต กระทั่งมีอาจารย์จนัธ เที่ยงสุรินทร์ ซึ่งจบทางดิจิทัลอาร์ตโดยตรงมาช่วยงาน ขณะเดียวกันคณะฯก็ยังขาดเครื่องมือซึ่งหลายชิ้นราคาสูง แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนศตวรรษที่ 2 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเงิน 40 ล้านบาท
งบประมาณนี้ใช้เพื่อก่อสร้างโดม Geodesic ความจุ 800 คน รวมถึงใช้ปรับปรุงห้องเรียนเพื่อรับกับเครื่องมือใหม่ๆ อีกทั้งยังมีการอบรมทั้งอาจารย์และนิสิตที่สนใจงานดิจิทัลอาร์ตจากพันธมิตรอย่าง Bauhaus-Universitat Weimar ทำให้เป็นที่แรกของประเทศไทยที่มีองค์ความรู้ด้านนี้ นำไปสู่การเรียนและการฝึกอบรมระยะยาว ซึ่งต้องยอมรับว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจงานด้านดิจิทัลอาร์ตกันมาก โดมแห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับเรียนรู้อย่างจริงจังจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง และต่อยอดไปสู่การประกวดแข่งขันทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ
ศ.ดร.บุษกร ยังกล่าวอีกว่า “พื้นที่ดิจิทัลอาร์ตแห่งนี้ยังเป็นประโยชน์กับชุมชนโดยรอบ” ซึ่งเป็นภารกิจอีกด้านของจุฬาฯ นอกเหนือจากการสร้างคนและสร้างองค์ความรู้ “เมื่อมีผู้คนมาเยี่ยมชมมากขึ้นย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชน” เช่น ร้านอาหาร ร้านค้า อนึ่ง การส่งเสริมดิจิทัลอาร์ตในครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ส่งเสริมให้มนุษยชาติจับมือกันสร้างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลก นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์ด้านสุขภาวะด้วย
“โดมนี้เรามาชมศิลปะอย่างเดียวหรือเปล่า? ไม่ใช่! เรายังมี Project (โครงการ) Well Being (ชีวิตที่ดี) ก็คือ Post-Covid (โลกหลังยุคไวรัสโควิด-19 ระบาด) เราจะเห็นคนฆ่าตัวตายจำนวนมากเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้น จะเห็นคนตกงาน คนมีความรู้สึกหดหู่ หรือคนที่กลัวเป็นโรคจนคล้ายๆ จะเป็นโรคจิต อารมณ์ความรู้สึก Depress (ซึมเศร้า) เมื่อเรามีโดมขึ้นมา เราก็จะ Convert (แปลง) ให้เป็น Place (สถานที่) สำหรับ Healing (เยียวยา) หรืออาจทำเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง ถ้าเราเบื่อโลกนี้เรารู้สึกไม่มีความสุข เราอยากที่จะเข้าไปผ่อนคลาย ก็สามารถเข้าไปในโลกเสมือนในโดม
ถ้าเราชอบน้ำตกเราอาจกดปุ่มแล้วมีน้ำตกข้างหน้าเรา ได้ยินเสียงน้ำตก นั่งอยู่บน Green Bag นิ่มๆ Sensory (ประสาทสัมผัส) ทั้งร่างกายเราก็จะผ่อนคลาย แล้วอาจจะมีแสง สี เสียง ดิจิทัลอาร์ตมันจะเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะด้วย อันนี้สำคัญมาก มันไม่ใช่แค่เดินผ่านแล้วเห็นแต่เป็นการเอาตัวเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง คือมากกว่าการมองเห็น มันจะมีการได้ยิน การสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง ในอนาคตมันเป็นไปได้ทั้งหมด ถ้าดูน้ำตกอยู่อาจจะมีลูกอมกลิ่นน้ำตกอมไปด้วย” ศ.ดร.บุษกร กล่าว
สำหรับโดมดิจิทัลอาร์ตฟ้าใหม่ เดิมมีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 แต่ต้องชะลอออกไปจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงมีกำหนดการจัดกิจกรรมแรกคือการประกวด “FAAMAI Digital Arts Competition 2020” ในหัวข้อ “New World (โลกใหม่)” แบ่งเป็น 5 เรื่องย่อยคือ Covid-19 (โควิด-19),
Expectation of New Generation (ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่) , Global Warming (ภาวะโลกร้อน), Digital Disruption (การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี) และ Generation Gap (ช่องว่างระหว่างวัย)
การประกวดจะแบ่งออกเป็น 2 รุ่น คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และนิสิต-นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (อายุไม่เกิน 25 ปี) ผู้สนใจสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.-31 ต.ค. 2563 และสามารถดูรายละเอียดรวมถึงติดตามข่าวสารของ FAAMAI Digital Arts Hub ได้ที่เว็บไซต์ www.chulafaamai.com หรือเพจเฟซบุ๊ค Faamai Digital Arts Hub และอินสตาแกรม faamai_digital_cu
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี