เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “ผลกระทบของ COVID-19 ต่ออุตสาหกรรมไทย” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ว่า มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรค รัฐบาลไทยดำเนินการนั้นยังน้อยกว่าอีกหลายประเทศอยู่มาก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า
โดยมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สามารถแบ่งได้ 4 ด้านคือ 1.ด้านภาษี ไทยทำเพียงการยืดการชำระภาษีออกไป เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หักภาษี ณ ที่จ่าย ในขณะที่สิงคโปร์คืนภาษีให้นิติบุคคล ส่วนจีนยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และแม้กระทั่งยอมให้ผู้ประกอบการนำส่วนที่ขาดทุน ณ เวลานี้ ไปหักลบกับผลกำไรในวันข้างหน้าได้ยาวนานถึง 8 ปี หรือมาเลเซียกับเกาหลีใต้ใช้วิธีการลดภาษี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เริ่มมีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจมากขึ้น เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ และพยายามกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target Approach) ทั้งนี้ แม้หลายประเทศจะมีมาตรการพักชำระหนี้เช่นกัน แต่สิ้นสุดในสิ้นปี 2563 เพราะมีมาตรการอื่นๆ รองรับแล้ว แต่ไทยนั้นยาวนานกว่าโดยพักชำระหนี้ได้ถึงกลางปี 2564
ถึงกระนั้นสิ่งที่ควรทำไปพร้อมกันคือเมื่อยื่นขอเข้าโครงการพักชำระหนี้แล้วต้องเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง เพราะหากมีเพียงการพักชำระหนี้อย่างเดียวย่อมไม่ต่างจากการทับถมหนี้เพิ่มไปเรื่อยๆ ภาครัฐจึงต้องเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ 2.ด้านกระตุ้นการจ้างงาน ไทยยังไม่มีความชัดเจน ในขณะที่สิงคโปร์รัฐบาลร่วมจ่ายกับผู้ประกอบการ (Co-Payment) เพื่อกระตุ้นการจ้างงานตั้งแต่ต้น โดยจะช่วยอุดหนุนค่าจ้างแรงงานตั้งแต่ร้อยละ 25-75 สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยไปมากตามลำดับ
เช่นเดียวกับมาเลเซียก็มีการใช้วิธี Co-Payment แบบเดียวกับสิงคโปร์ ส่วนเวียดนามแม้จะไม่ทำ Co-Payment แต่กำหนดเงินกู้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 หรือปลอดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการจ้างงานของผู้ประกอบการ ซึ่งญี่ปุ่นก็ใช้กลไกแบบนี้เช่นกัน อนึ่ง สิงคโปร์ยังเข้าไปช่วยฝึกอบรมประชาชนที่ตกงานโดยอิงกับทักษะที่ผู้ประกอบการต้องการ ตามด้วยการตั้งศูนย์จับคู่แรงงานกับสถานประกอบการ พร้อมมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการจ้างแรงงานกลับเข้าสู่สถานประกอบการ โดยเฉพาะแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมทักษะใหม่แล้ว
3.ด้านสินเชื่อ แม้ไทยมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แต่ในความเป็นจริงก็ทราบกันดีว่าเข้าถึงได้ยาก โดยช่วงล็อกดาวน์ มีผู้เข้าถึงเพียงร้อยละ 18 ของวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท และเมื่อยุติการล็อกดาวน์จะมีผู้เข้าถึงเพียงร้อยละ 24 นอกจากนี้ยังดึงบริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วย ธปท. ค้ำประกัน วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท ในปีที่ 3-10 หรือคิดเป็นร้อยละ 11
อย่างไรก็ตาม พบว่าวงเงินคำประกันของไทยยังน้อยกว่าบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ค้ำประกันขั้นต่ำร้อยละ 24 ของวงเงินทั้งหมด ส่วนสิงคโปร์ขยายมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปถึงเดือน ก.ย. 2564 และค้ำประกันสูงถึงร้อยละ 90 ของวงเงินทั้งหมด อนึ่ง เกาหลีใต้ยังจัดงบประมาณ 10 ล้านล้านวอน เพื่อซื้อหุ้นกู้หรือตราสารที่ออกจากบริษัทที่ได้รับการประเมินในระดับต่ำ
และ 4.ด้านการดูแลกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ ไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มธุรกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการ ในขณะที่เวียดนาม รัฐบาลให้ความช่วยเหลือพิเศษกับกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์กับสิ่งทอ เพราะถือว่าเป็น เครื่องยนต์ที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต (Engine of Growth) เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญ (Focus) ไปที่ธุรกิจ 2 กลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ เวียดนามยังประกาศตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจสายการบิน เพราะหากมีวัคซีนแล้วแต่สายการบินมีปัญหาการท่องเที่ยวก็ฟื้นไม่ได้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆ รัฐบาลไทยเริ่มออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้ แต่ก็ยังสิ้นสุดเพียงสิ้นปี 2563 รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยว อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน หรือเปิดรับนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม ในขณะที่ต่างประเทศจะเน้นไปที่การลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เช่น กรณีรัฐบาลจีนอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำผลกำไรในอนาคตหักลบกับส่วนที่ขาดทุนในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอแนะของไทย การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำยังจำเป็นในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) พร้อมกับการเพิ่มวงเงินค้ำประกัน และแก้ไขกฎระเบียบเรื่องหลักประกันให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนการจ้างงาน ภาครัฐควรดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยให้เกิดการวางระบบจับคู่แรงงานกับสถานประกอบการ และต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจที่กระทบอย่างหนักต่อไป เช่น ภาคการท่องเที่ยวและบริการ
“ที่เขาอยากได้นอกจากการปล่อยสินเชื่อคือการลดภาระให้เขา ลดภาระต้นทุนให้เขาสักนิดหนึ่ง โดยเฉพาะอาจพิจารณามาตรการด้านภาษีเพิ่ม อย่างจีนที่เขาให้เอาตัวขาดทุนมาหักกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนก็จะต้องดูแลต่อเนื่อง เพราะ Export (ส่งออก) มันเห็นภาพเริ่มปรับตัวดีขึ้น แล้วหลายอุตสาหกรรมค่าเงินมันยังสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมอาหารที่ใช้ Domestic Content (วัตถุดิบในประเทศ)” รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าว
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลต้องการหารายได้เพิ่มด้วยการเก็บภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ เรื่องนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้กลายเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้ช่องทางออนไลน์ทำธุรกิจ ซึ่งจะทำให้แผนการส่งเสริมการใช้ช่องทางออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ควรเกลี่ยมาทำโครงการที่มีศักยภาพในการแข่งขันในระยะยาว ต้องส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) เพื่ออำนวยความสะดวก (Facilitate) ให้ผู้ประกอบการ