ประเทศไทยเป็นประเทศที่เลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออกมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20ปี โดยเริ่มจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนาเพียงชนิดเพียว จากประสบการร์เลี้ยงกุ้งของประเทศไทยมทำให้มีองค์ความรู้ในการจัดการการเลี้นงกุ้งมากมาย แต่อย่างไรก็ตามการเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่ผ่านมา กลับพบว่ามีปัญหาการผลิที่ตกต่ำ โตช้า ไม่สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ดีเหมือนที่ผ่านมา จึงได้มีการนำกุ้งขาวแวนนาไมเข้ามาเลี้ยงแทนกุ้งกุลาดำ ปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงกุ้งขาวไม่น้ำกยว่า 90%ของพื้นที่เลี้ยงทั้งหมดที่ยังคงมีการเลี้ยงกุ้งอยู่ สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมพบว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกของไทย ขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือ EMS ที่กำลังระบาดอย่างหนัก
โดย นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก (จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และ จันทบุรี) พบว่า ผลผลิตลดลง เนื่องจาก เกิดโรคตายด่วนหรือโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งขาวใหญ่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้แก่ อำเภอเมืองและอำเภอคลองเขื่อน ส่วนจังหวัดระยอง พบบริเวณปากน้ำประแสร์ ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง และจังหวัดจันทบุรี ที่ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ และตำบลตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ โดยประมาณความเสียหายร้อยละ 40
ด้านสถานการณ์ราคา พบว่า จากปัญหาโรคตายด่วน ผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งของประเทศ และปริมาณการส่งออก ปี 2556 ในไตรมาสแรกลดลง เป็นเหตุให้ราคากุ้งพุ่งสูงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ต้นปี 2556 เช่น กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 161 บาท และสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นกิโลกรัมละ 205 บาท ในเดือนเมษายน 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27
อย่างไรก็ตาม การป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้จัดทำคำแนะนำเบื้องต้น วิธีการปฏิบัติงานให้กับโรงเพาะฟัก และเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งในบ่อดิน ให้มีการฆ่าเชื้อโรคในโรงเพาะฟัก ตั้งแต่ ระบบอากาศ ระบบน้ำบ่อหรือถังพ่อแม่พันธุ์ และอุปกรณ์และเครื่องมือเพาะพันธุ์ ส่วนเกษตรกรเอง ควรมีการเตรียมบ่อที่ดี กำจัดสารอินทรีย์ก้นบ่อ ตากบ่อให้แห้ง ฆ่าพาหะและเชื้อในบ่อ ควรมีบ่อพักน้ำ และฆ่าเชื้อในน้ำก่อนนำมาใช้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งหากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าจะช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับลูกกุ้งได้
ทั้งนี้ โรคตายด่วนหรือโรค EMS ได้เริ่มระบาดมาตั้งแต่ ปี 2553 ที่ประเทศจีน เวียดนาม และมาเลเซีย ก่อนที่จะระบาดเข้ามาในประเทศไทย ปลายปี 2554 ถึงปี 2555 และยังระบาดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้เกษตรกรส่วนใหญ่หยุดเลี้ยงชั่วคราว ปล่อยบ่อทิ้งร้างเป็นจำนวนหลายพันบ่อ ไม่กล้าลงเลี้ยงกุ้งรอบใหม่ ส่วนเกษตรกรที่ยังเลี้ยงอยู่ก็ยังเลี้ยงแบบไม่เต็มที่ ไม่กล้าที่จะลงกุ้งหนาแน่น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีอยู่ในระดับสูง
สำหรับโรค EMS ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แน่ชัด และนักวิจัยยังค้นหาสาเหตุของโรคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคเกิดจากคุณภาพของลูกกุ้งที่เกษตรกรซื้อมาเพาะเลี้ยงยังไม่ดี ตรวจพบเชื้อแบคทีเรียและโปรโตซัวในลูกกุ้ง โดยโรคนี้จะปรากฏให้เห็นในกุ้งกุลาดำและกุ้งขาวแวนนาไมที่ลงเลี้ยงในบ่อดิน 10 - 40 วัน อัตราการตายของกุ้งอาจสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ และต่อมาได้มีชื่อเรียกตามลักษณะการเสื่อมอย่างเฉียบพลันของตับและตับอ่อน คือ Acute Hepatopancreatic Necrosis Syndrome, AHPNS ทั้งนี้เกษตรกรสามารถ สังเกตลักษณะกุ้งป่วยด้วยโรค EMS ดังนี้ ส่วนใหญ่กุ้งมีลักษณะสีซีด ขาวขุ่น เปลือกนิ่ม ตับและตับอ่อน ฝ่อ ลีบ บางครั้งมีสีซีด ขาว หรือเหลืองอ่อน บางครั้งอาจพบจุดดำหรือรอยขีด เมื่อบี้ตับและตับอ่อนด้วยนิ้วมือจะรู้สึกค่อนข้างเหนียวและแข็งกว่าปกติ อาหารไม่เต็มลำไส้ ขาดเป็นช่วงๆ และ พบกุ้งตายจำนวนมากบริเวณพื้นก้นบ่อ แตกต่างจากกุ้งที่ป่วยด้วยโรคตัวแดงดวงขาวหรือโรคหัวเหลือง ที่พบกุ้งลอยเข้ามาตายบริเวณขอบบ่อ เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี