ศบค.ยอมรับสถานการณ์หนัก
‘โคม่า’ล้นรพ.
จำนวนเตียงผู้ป่วยเริ่มวิกฤติ
อาการหนัก 1,526 ท่อหายใจ 433
เตรียมกระจายเข้า‘รพ.เอกชน’
ยอดเสียชีวิตทำสถิตสูงสุด 51 ศพ
เตรียมยกระดับมาตรการเข้มข้น
ไม่ล็อกดาวน์กทม.หวั่นแพร่ตจว.
ติดเชื้อโควิดใหม่รายวัน ยังพุ่ง 3,174 ราย ตายทำสถิติใหม่ 51 ศพ อาการหนัก 1,526 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 433 ราย ส่วนผู้รักษาหายเพิ่ม 1,941 ราย ยอดรวมหายป่วย 189,777 ราย ศบค.ห่วงผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจที่กราฟพุ่งสูงและกระจายทั่ว ปท. โดยเฉพาะกทม.เตียงเริ่มไม่พอ สั่งลดจำนวนผู้ป่วยสีเขียว เคลียร์เตียงรพ.รัฐรองรับป่วยสีแดง เล็งกระจายให้รพ.เอกชนช่วยรักษา-เร่งเปิดฮอสพิเทลระบายคนไข้-เพิ่มศักยภาพรพ.ในสังกัด
ใช้โมเดลรพ.ราชวิถี เพิ่มเตียงไอซียู โดยดึง จนท.รพ.เอกชนเสริมทัพ เลขาฯสมช.เผยข้อเสนอ ล็อคดาวน์กทม.ดี แต่ห่วงคนทะลักกลับตจว.ทำเชื้อแพร่ซ้ำรอย สงกรานต์ สรุปใช้บับเบิ้ลแอนด์ซีลจัดการเฉพาะจุดระบาด อธิบดีกรมการแพทย์ ย้ำกทม.วิกฤติเตียงใกล้เต็ม วอนปชช.ล็อคดาวน์ตัวเอง “อนุทิน”สั่งยกระดับรพ.สนาม 4 มุมเมืองใช้โมเดลรพ.บุษราคัม รองรับผู้ติดเชื้อรักษาได้เร็ว
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศบค.แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ไทยมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3,174 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,112 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,392 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 720 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 36 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 26 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 228,539 ราย
ตายนิวไฮ51ราย-โคมาพุ่ง1,526คน
ส่วนผู้รักษาหายป่วยเพิ่ม 1,941 ราย ยอดรวมหายป่วยแล้ว 189,777 ราย อยู่ระหว่างรักษา 37,018 ราย อาการหนัก 1,526 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 433 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 51 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 25 ราย อยู่ในกทม. 34 ราย ปทุมธานี สมุทรปราการ จังหวัดละ 3 ราย ชลบุรี นครปฐม จังหวัดละ 2 ราย นนทบุรี ราชบุรี ยะลา ปราจีนบุรี สงขลา สระแก้ว และสระบุรีจังหวัดละ 1 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,744 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์.-22 มิถุนายนฉีดไปแล้ว 8,148,335 โดส แบ่งเป็นเข็มแรกสะสม 5,844,521 คน คิดเป็น 8.11 เปอร์เซ็นต์ เข็มที่สอง 2,303,814 คน คิดเป็น 3.20% ส่วนสถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 179,924,986 ราย เสียชีวิตสะสม 3,897,835 ราย
ศบค.ห่วงผู้ป่วยใส่ท่อหายใจเพิ่มทั่วปท.
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค.เป็นห่วงเรื่องผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งกราฟนั้นพุ่งสูงขึ้น แต่เดิมจะอยู่เฉพาะในกทม.และปริมณฑล ขณะนี้ในต่างจังหวัดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน สอดคล้องกับการระบาดระลอกปลายปี 2563 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่จ.สมุทรสาคร แล้วมาบวกกับกทม. อ่างทอง ระยอง และชลบุรี จะเห็นความสูงของกราฟไม่เท่ากับการระบาดช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ แต่เราจะเห็นกราฟผู้เดินเข้ามารักษาในโรงพยาบาลหลังสงกรานต์มากกว่าการค้นหาเชิงรุกในชุมชน
รับป่วยล้นรพ.เล็งกระจายไปรพ.เอกชน
“แต่พอมาดูเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้นมา กราฟตอนนี้น่าห่วงใยว่า ผู้ที่เดินเข้ามารักษาในโรงพยาบาลยังพุ่งขึ้นตลอด ขณะที่การค้นหาเชิงรุกแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น ข้อห่วงใยตรงนี้เราต้องช่วยจัดการโรคทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน เพื่อไม่ให้เห็นตัวเลขพุ่งขึ้นมากกว่านี้ นี่คือสิ่งที่เราส่อแววการออกข่าวมาว่า ผู้ที่รักษาพยาบาลบอกว่าล้นแล้ว และภาพคนรอเตียงไม่สามารถเข้าไปได้ ที่ประชุมจึงวิเคราะห์ว่าทำอย่างไรให้ผู้ป่วยระดับสีเขียวลดลงหรือกระจายจากโรงพยาบาลไปที่อื่น ซึ่งโรงพยาบาลสนามเราก็ทำเต็มที่และต้องเปิดพื้นที่ดูแลสีแดงให้มากขึ้น ที่ประชุมจึงพูดถึงโมเดลหลายที่โดยเฉพาะภาคเอกชนให้เข้ามาช่วยกัน เดี๋ยวคงจะได้เห็นการจัดการที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”นพ.ทวีศิลป์กล่าว
สั่งกทม.เปิดฮอสพิเทลแบ่งเบาเตียงในรพ.
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จำนวนมากและมีผู้ป่วยวิกฤติ กรมการแพทย์ระบุจำนวนเตียงผู้ป่วยเริ่มวิกฤต ศบค.จะแก้ไขอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่เกิดขึ้นขณะนี้ชุกอยู่ที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้พูดคุยกันว่ามีผู้ป่วยอยู่จำนวนหนึ่งที่รอเตียง และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้าสู่โซนสีเขียวแล้วที่บางรายอาการไม่มาก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.)ระบุว่า ในส่วนนี้หากย้ายออกไปอยู่ในฮอสพิเทล ที่ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพอยู่แล้ว และเป็นคู่สัญญาสามารถทำได้ จึงมอบให้กรุงเทพมหานครพยายามเปิดฮอสพิเทลและให้คนไข้กลุ่มเหล่านี้ย้ายเข้าไปอยู่ได้ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นอีกช่องทางที่จะทำให้คนที่รอเตียงเข้าโรงพยาบาลได้ เตียงก็จะว่าง เพื่อรับผู้ป่วยมีอาการมาประเมิน
เพิ่มศักยภาพรพ.กทม.ดึงเอกชนเสริม
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ส่วนที่สองคือ โซนสีเหลืองและโซนสีแดงคุยกันว่าศักยภาพของภาครัฐแน่นหมดแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าภาคเอกชนจะมีเตียงว่าง ดังนั้น ต้องมีหนทางใหม่หารือกัน เพราะในบางโครงสร้างของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักที่ต้องดูแลคนกรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ซึ่งมีสถานที่อยู่แล้วก็อาจปรับให้เป็นพื้นที่รองรับระดับสีแดงได้หรือไม่ ด้วยการเพิ่มเติมอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เข้าไป ที่ประชุมมอบหมายให้รองผู้ว่ากรุงเทพมหานครไปหารือขยายศักยภาพ
“แต่ส่วนที่จะเป็นคอขวดคือ จะไม่มีบุคลากรจากภาครัฐเพียงพอมาดูแล จึงเปิดช่องทางว่ายังมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลเอกชน โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนระบุสามารถนำกำลังภาคเอกชน ไปดูแลในสถานที่ที่รัฐจัดวาง ดังนั้น กลไกบริหารจัดการต้องเปลี่ยนไปจากภาคปกติ เพราะเรากำลังเจอกับสถานการณ์วิกฤติ จึงต้องใช้รูปแบบใหม่เข้ามา”นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ใช้โมเดลรพ.ราชวิถีเพิ่มเตียงกู้วิกฤติ
และว่า พล.อ.ณัฐพลจึงให้โจทก์กรุงเทพมหานครสร้างโมเดลใหม่ขึ้น โดยดึงศักยภาพหน่วยงานเอกชน เพื่อสร้างไอซียูเพื่อดูแลผู้ป่วยหนักที่อยู่ในภาคสนามแต่อยู่นอกตัวโรงพยาบาล แต่อยู่สถานที่โรงพยาบาล ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วที่โรงพยาบาลราชวิถีสามารถเพิ่มเตียงไอซียูได้ ต้องนำมาช่วยกัน เราจะได้เห็นภาพเตรียมการดังกล่าวชัดเจนขึ้นเร็วๆนี้
ล็อคดาวน์กทม.คิดดีหวั่นเชื้อแพร่ตจว.
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีข้อเสนอจากกลุ่มแพทย์ต้องการให้ล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครอย่างน้อย 7วัน เพื่อลดการเคลื่อนย้าย อาจช่วยแก้ปัญหาได้ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอดังกล่าว ด้วยความยินดีในหลายเรื่องที่ต้องนำมาหารือกัน เรารับทราบแล้วว่าการล็อกดาวน์เป็นเรื่องที่ได้ผลดี แต่ในทางปฎิบัติปัจจุบันเราก็ทำอยู่แต่เป็นลักษณะเฉพาะจุดเฉพาะที่ไปเกิดเหตุตรงไหนก็จัดการตรงนั้น เช่น แคมป์คนงาน โรงงาน แต่ละมาตรการจะมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบที่ต้องนำมาไตร่ตรอง การปิดพื้นที่โรงงานก็อาจทำให้เกิดการกระจายของคนไม่มีงานทำเดินทางไปต่างจังหวัด ก็จะเพิ่มปัญหาไปอีก การปิดกรุงเทพมหานครอย่างที่ทราบ คนกรุงเทพฯจริงๆไม่ได้มีมาก แต่เป็นแรงงานที่มาจากต่างจังหวัด ถ้าปิดกทม.อาจทำให้แรงงานย้ายไปต่างจังหวัด เกิดติดเชื้อในต่างจังหวัดด้วย
สรุปใช้‘บับเบิ้ลแอนด์ซีล’เฉพาะพื้นที่
ดังนั้น จึงต้องผสมผสาน ที่สำคัญขณะนี้ข้อสรุปคือ จะทำลักษณะบับเบิ้ลแอนด์ซีล โดยผอ.ศปก.ศบค.ให้คำนิยามว่าบับเบิ้ลแอนด์ซีลของแต่ละที่ตรงกันหรือไม่ เพราะเราเห็นจากจ.สมุทรสาครที่ยอมให้โรงงานเปิดได้ แต่ต้องดูแลเรื่องนำพาแรงงานมาสู่โรงงานที่เรียกบับเบิ้ลแอนด์ซีลนั้น เขาทำได้เป็นอย่างดี ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องดูแลเป็นอย่างดีด้วย แต่เป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า เพราะกรุงเทพมหานครมีจำนวนคน มีความซับซ้อนขององค์กรมากกว่า ดังนั้น การแบ่งเขตดำเนินการขึ้นอยู่กับรองปลัดกรุงเทพมหานครที่เป็นคนคุมโซนแต่ละที่ ซึ่งผอ.ศปก.ศบค.กำชับว่าแหล่งรังโรคหากเกิดขึ้นที่ไหนให้จัดการเฉพาะที่ ดังนั้นข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากบุคลากรแพทย์ จึงนำมาสู่การคิดหาทางปฏิบัติให้ได้ผสมผสานกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ไปด้วยกันได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อประชาชนในต่างจังหวัด
กทม.วิกฤติยอดป่วย-เตียง/จนท.ไม่พอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เดินทางมาตรวจเยี่ยมห้องไอซียูโควิดส่วนต่อขยาย ที่รพ.ราชวิถี พร้อมเปิดเผยว่า สถานการณ์โควิดในกรุงเทพฯน่าห่วง มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวันแตะระดับ 1,000 คน ต่อเนื่องมานานกว่า 2 เดือน ทำให้เตียง ICUภาครัฐสำหรับผู้ป่วยหนักในกลุ่มสีแดงที่เมื่อต้นเดือนเมษายนเคยมีมากกว่า 200 เตียง และได้เพิ่มไอซียูส่วนต่อขยายในรพ.ต่างๆรองรับสถานการณ์อีกเท่าตัว จนมีเตียงไอซียูภาครัฐเพิ่มเป็น 440 เตียง แต่ด้วยยอดผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาเตียง ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยสีแดง สีเหลืองและสีเขียว เฉพาะผู้ป่วย สีแดงในกรุงเทพฯ ตอนนี้เหลือเตียงแค่ 20 เตียงเท่านั้น ขณะที่รพ.เอกชนในกทม.ที่มีอยู่เกือบ 200 แห่งก็มีห้องไอซียูอยู่ 1-2ห้อง และไม่มีบุคลากรแพทย์พอมาช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด จึงไม่สามารถเข้ามาช่วยรองรับสถานการณ์ตอนนี้ได้
ซีลชุมชนที่พบคนป่วยสกัดเชื้อลาม
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหา โดยบริหารจัดการเตียงไอซียู ด้วยการจัดโซน เช่น ในรพ.เล็กถ้ามีเตียงไอซียู ไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วย ให้รักษาที่รพ.นั้นเลย โดยมีอาจารย์แพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดูแลให้คำแนะนำแทน รวมทั้งให้ชุมชนทำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล แยกผู้ป่วยออกจากชุมชนเพื่อลดผู้ติดเชื้อ ส่วนสถานดูแลผู้สูงอายุ หากพบผู้ดูแลติดเชื้อ อาจให้ช่วยดูแลผู้สูงอายุที่ติดเชื้อไปด้วยเลย ก่อนส่งต่อรักษาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันประสานให้กทม.เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ที่ตอนนี้พบติดเชื้อสูงขึ้น เพื่อลดอัตราป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
ย้ำปชช.ล็อคดาวน์ตัวเองเข้มมาตรการสธ.
ขณะที่อีกแนวทางสำคัญคือ ต้องควบคุมโรค ลดอัตราติดเชื้อให้ได้โดยเร็ว ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ยิ่งยากที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับไหว และยอดผู้เสียชีวิตก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ส่วนยาฟาวิพิราเวียที่ใช้รักษาผู้ป่วยยืนยันว่ายังมีเพียงพอ และขณะนี้ปรับให้ยาเร็วขึ้น แม้จะมีอาการเล็กน้อยและนำยาฟ้าทะลายโจรมาช่วยรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ พร้อมย้ำให้ประชาชนกลับมาล็อกดาวน์ตัวเองตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มข้นอีกครั้ง
ผู้ป่วยสีแดงเตียงICUว่าง46เตียง
นพ.สมศักดิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลข้อมูลถึงวันที่ 21 มิถุนายนจากกรมการแพทย์ พบว่าห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง เช่น ห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง หอผู้ป่วยวิกฤติที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง ห้องสามัญ ครอง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง และห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง10,263 ว่าง 3,267 เตียง เตียงสนาม ครองเตียง 2,541 เตียง ว่าง 803 เตียง
ศบค.เตรียมออกมาตรการเข้มข้น
วันเดียวกัน พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์เตียงไม่เพียงพอกับผู้ป่วยโควิด-19ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)แก้ปัญหาซึ่งสธ.กำลังพิจารณาอยู่ ต้องรอฟังสธ. ส่วนที่จะมีการชุมนุมทางการเมืองวันที่ 24 มิถุนายนนั้น ตนเป็นห่วงการรวมตัวเสี่ยงติดเชื้อโควิด เพราะคนไทยทราบดีว่า การรวมตัวจำนวนมากเสี่ยงติดเชื้อ คงไม่ต้องเตือนอะไร
“อย่างไรก็ตาม กำลังพิจารณามาตรการที่เข้มข้นขึ้น ตอนนี้ยังกังวลความเดือดร้อนของประชาชน และวันนี้จะหารือมาตรการที่ต้องเข้มข้นมากกว่าเดิม เพราะยังมีประชาชนที่ยังไม่ตระหนักถึงภัยที่เกิดขึ้นจากการละเว้นมาตรการป้องกันโรค”พล.อ.ณัฐพลกล่าว และว่า ยังไม่ถึงขั้นจำกัดเวลาออกนอกเคหสถาน
เพิ่มรพ.สนาม4มุมเมืองยึดโมเดลรพ.บุษราคัม
ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสธ.จะเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ กทม.ที่อยู่ในระดับวิกฤตว่า สธ.เข้าไปช่วยเหลือทุกพื้นที่อยู่แล้ว ส่วนรพ.บุษราคัมก็รับผู้ป่วยต่างชาติระดับสีเหลืองแล้ว และสิ่งที่สธ.เร่งดำเนินการคือ ต้องเปิดเตียงและห้องไอซียูรพ.หลักให้มากที่สุด โดยไปยกระดับ เพิ่มศักยภาพรพ.สนามให้เป็นแบบรพ.บุษราคัมให้มากขึ้น รพ.สนาม 4 มุมเมืองต้องเกิดขึ้นและใช้ประสบการณ์และสิ่งที่ทำมาที่รพ.บุษราคัมตั้งรพ.ที่ขาดแต่ห้องไอซียู แต่มียา ออกซิเจนและเครื่องไฮโฟลว์พร้อม จัดตั้งได้ภายใน 7 วัน เป็นการอัปเกรดจากรพ.สนามที่มีอยู่แล้วในจังหวัดต่างๆ 4 มุมเมืองรอบ กทม. จะพิจารณารพ.ที่รับผู้ป่วยได้ประมาณ 200 เตียง ถ้าหาได้ 5 แห่ง ก็รับได้ 1,000 เตียง พอๆกับศักยภาพ รพ.บุษราคัมที่รองรับได้ประมาณ 1,200 เตียง นอกจากนี้ อาจยกระดับจากศูนย์นิมิตร์บุตร หรืออินดอสเตเดียมรับผู้ป่วยสีเหลืองด้วย ต้องทำทุกอย่างให้ทันสถานการณ์ ส่วนบุคลากรอาจต้องใช้รูปแบบของรพ.บุษราคัมที่สับเปลี่ยนจากต่างจังหวัดทุก 2 สัปดาห์
กำชับทุกจว.ซีลรง.-ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน
ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการควบคุมโรคในโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นในหลายแห่งหลายจังหวัด นายอนุทินกล่าวว่า ได้กำชับอย่างหนัก โดยปลัด สธ.ลงพื้นที่จ.สมุทรปราการกำชับให้ร่วมมือกัน ซี่งกรมควบคุมโรคจะเข้าไปบับเบิลแอนด์ซีล แต่ต้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง ตำรวจช่วยดูแลอย่าให้เดินทาง หรือลักลอบหลบหนี เพราะไม่ใช่ป้องกันไม่ให้คนนอกเข้าไปเท่านั้น แต่คนในต้องไม่ออกด้วย นายอนุทินยังย้ำว่า ใครลอบใช้แรงงานผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการต้องจ่ายและรับผิดด้วย เพราะถ้าไม่มีคนจ้างก็ไม่มีคนลักลอบเข้ามา แต่เมื่อมีโรคระบาดเช่นนี้ ก็อันตรายและเสี่ยง ถ้าติดเชื้อต้องดำเนินคดี โทษอาจหนักด้วย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดำเนินเรื่องตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับตลอด และเชื่อว่าทุกฝ่ายพยายามทำเต็มที่ ส่วนมาตรการค้นหาเชิงรุกมีอยู่แล้ว
ไฟเซอร์ยันส่งให้ไทยได้ไตรมาส4
ผู้สื่อข่าวถามถึงการปรับยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนที่อาจต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หรือฉีดสลับชนิดวัคซีน นายอนุทิน กล่าวว่า เท่าที่ทราบกำลังศึกษา ถ้าผลออกมาและมีการตัดสินใจอย่างไรจะแถลงให้ทราบ แต่ยืนยันว่าวัคซีนทุกชนิดที่ไทยจัดมามีประสิทธิภาพ อย่างซิโนแวคที่ภูเก็ตผลออกมาถึงกว่า 80 % และไว้ใจได้ สำหรับการสั่งซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดสนั้น เป็นยอดที่บริษัทแจ้งว่าจะจัดสรรให้ไทยได้ภายในปี 2564 ตอนแรกแจ้งว่าจะจัดส่งไปในไตรมาส 3 แต่บริษัทก็เลื่อนไปไตรมาส 4 เพราะวัคซีนเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ซึ่งโรงงานวัคซีนแต่ละแห่งก็มีข้อผูกมัดและสัญญากับประเทศต่างๆทั่วโลก แต่ขณะนี้ไทยไม่ได้ขาดวัคซีนมีส่งและกระจายไปทุกสัปดาห์ ศักยภาพการฉีดอยู่ที่ 3-4 แสนโดสต่อวัน ยิ่งคนฉีดวัคซีนได้มากเท่าไหร่ ต่อให้คนที่ไม่ได้ฉีดก็ลดความเสี่ยงระดับหนึ่ง เพราะคนที่ติดเชื้อแต่อาการไม่หนัก การแพร่เชื้อก็เบาบางลงไป ขณะนี้ฉีดไปได้แล้วกว่า 8 ล้านโดส เชื่อว่าสิ้นเดือนมิถุนายนจะฉีดได้ 10 ล้านโดสตามเป้าหมาย
หมอชี้เหมือนจนตรอกชงล็อคดาวน์กทม.
ด้านรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชา
อายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัว นิธิพัฒน์ เจียรกุล ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ แสดงความเห็นถึงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ขณะนี้ว่า ดูเหมือนเราจะจนตรอก มีทางเลือกไม่มากแล้ว ลองพิจารณาสถานการณ์โควิดในกทม.สัปดาห์ที่ผ่านมา จะพบยอดผู้ป่วยใหม่รายวันไม่ลดลง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปเกินสี่หลัก อัตราตรวจพบเชื้อรายใหม่สูงกว่า 10% ทั้งที่แต่ละโรงพยายามตรวจให้น้อยเพราะไม่มีเตียงรับผู้ป่วยถ้าผลเป็นบวก สัดส่วนผู้ป่วยเด็กมากขึ้นกว่าระลอกก่อน แสดงว่าโรคระบาดซึมลึกเข้าไปในครอบครัวและชุมชน โชคดีว่ากลุ่มนี้อาการไม่รุนแรง แต่สร้างปัญหาเตรียมเตียงดูแลทั้งในรพ.หลักและรพ.สนามสำหรับเด็กอายุน้อย ทำให้การใช้เตียงในรพ.หลักติดขัด จำนวนเตียงระดับ 2 และ 3 ที่ขยายศักยภาพมาหลายรอบเหลือไม่ถึง 5% ตัวเลขผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต กลับมาเพิ่มขึ้นและอาจทำนิวไฮ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า เราไม่สามารถเพิ่มเตียงระดับ 2 และ 3 ไปมากกว่านี้ได้แล้ว เพราะติดเรื่องกำลังคน ถ้าปล่อยให้มีผู้ป่วยใหม่ที่จำเป็นต้องอยู่รพ.หลักเพิ่มขึ้นเร็ว ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องนำไปดูแลรักษาในพื้นที่ทั่วไปที่ไม่ได้เตรียมไว้รักษาผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยอื่นได้รับบริการลดกว่ามาตรฐานมาก ทำให้ผู้ป่วยโควิดไม่ได้รับการดูแลเต็มที่ เพราะคนและเครื่องมือติดตามไม่พอ ท้ายสุดทำให้บุคลากรและผู้ป่วยอื่นเสี่ยงกระจายเชื้อในโรงพยาบาล
“คำตอบสุดท้ายสำหรับวิกฤตโควิดระลอกสี่ คือ ล็อคดาวน์กรุงเทพอย่างน้อย 7 วัน เพื่อเร่งจัดการปัญหาค้างคา และลดปัญหาใหม่ที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าที่กว่ามาตรเด็ดขาดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนจะเห็นผล และที่สำคัญถ้าจะทำตามที่เสนอนี้ ต้องห้ามคนกรุงเทพแตกรังออกต่างจังหวัดเหมือนที่เราทำพลาดมาแล้วช่วงสงกรานต์” รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี