สถานการณ์ยางพารากำลังเดินเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ราคา ณ วันที่ 13 กันยายน 2564 ณ ตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา ราคายางแผ่นดิบ อยู่ที่ 51.89 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 50.22 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาน้ำยางสดหน้าโรงงานอยู่ที่ 47.00 บาทต่อกิโลกรัม
ทิศทางราคายางในไตรมาสสุดท้ายจะเป็นอย่างไร?
วันก่อนได้มีโอกาสนั่งสนทนากับผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) “นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท”
ผู้ว่าฯกยท.เล่าว่า ในช่วงเดือนกันยายนของทุกๆ ปีผลผลิตออกค่อนข้างเยอะ แต่ปีนี้มีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แม้จะมีแนวโน้มการระบาดจะลดลงแต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่สูง ทำให้ทิศทางราคายางยังไม่แน่นอน สวิงตัวในลักษณะที่เป็น side way
“ตลาดระหว่างผู้ใช้กับผู้ผลิตยางยังมีความกังวลในสถานการณ์ขณะนี้ แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้วจะมีทิศทางที่ดี” ผู้ว่าฯณกรณ์กล่าวด้วยความมั่นใจ
ขณะนี้ผลผลิตยางเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่โรงงานที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบก็ยังเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิต ราคาจึงยังทรงๆตัว ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่ถ้าหากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงราคายางจะพุ่งขึ้นอย่างแน่นอน เพราะโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะโรงงานผลิตยางล้อยานยนต์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของยางพารา จะต้องเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อมาชดเชยในส่วนที่ขาดหายไปในช่วงการระบาดของโควิด-19
อย่างไรก็ตามถ้าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ราคาก็ไม่น่าจะลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ราคาจะทรงตัว เพราะไม่มีปัจจัยอื่นๆมากดดัน การระบายยางในสต๊อกของ กยท. ดำเนินการสิ้นสุดไปแล้วไม่มีผลใดๆกระทบต่อราคาในตลาดเลย
ส่วนตลาดอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง แม้การระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดเติบโตขึ้นก็ตาม แต่ถ้าเทียบปริมาณยางที่ใช้ผลิตถุงมือยางแล้วจะมีปริมาณไม่มากเท่่ากับการผลิตยางล้อยานยนต์ และตลาดถุงมือยางส่วนหนึ่งก็ถูกยางสังเคราะห์แชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดได้ด้วย
ดังนั้น ตลาดใหญ่ของยางมากกว่า 60% ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมยางล้อยานยนต์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของราคายาง แต่เเชื่อว่าในอนาคตสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะต้องคลี่คลายลงอย่างแน่นอน เพราะมีการฉีดวัคซีนในสัดส่วนมากกว่า 70% ของจำนวนประชากร
เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ความต้องการใช้รถยนต์น่าจะเพิ่มขึ้น เพราะการระบายของโควิด-19 ทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มขึ้น เพื่อเว้นระยะห่าง ซึ่งจะส่งต่อความต้องการของยางล้อก็จะเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ส่วนมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19นั้นผู้ว่าฯณกรณ์ บอกว่า ดร.เฉลิมชัยศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมที่จะดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3หลังจากประสบผลสำเร็จในการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยจะเริ่มตั้งแต่ ตุลาคม 2564-มีนาคม 2565
อย่างไรก็ตามจะต้องนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติก่อนที่จะดำเนินการ ซึ่งจะมียาง 3 ชนิดที่จะประกันรายได้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดีราคา 60 บาท/กก. น้ำยางสด(DRC 100%) ราคา 57 บาท /กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน
นอกจากนี้ กยท. เตรียมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางทำการเกษตรผสมผสานแบบใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือยางพาราอย่างเดียว และยังจะทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งจะสร้างความมั่นคงในการทำสวนยางอย่างยั่งยืน
ถ้าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ความต้องการใช้ยางจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผนวกกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 และมาตรการสนับสนุนการทำสวนยางแบบผสมผสาน...ราคายางในอนาคตน่าจะสดใสมีเสถียรภาพแน่นอน....
รัฐศักดิ์ พลสิงห์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี