วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
สกู๊ปแนวหน้า : เปิดเมือง-อยู่กับโควิด(1) ถอดบทเรียนดูแล‘คนฐานราก’

สกู๊ปแนวหน้า : เปิดเมือง-อยู่กับโควิด(1) ถอดบทเรียนดูแล‘คนฐานราก’

วันเสาร์ ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 06.00 น.
Tag : โควิด สกู๊ปแนวหน้า
  •  

“1 พ.ย. 2564 วันเปิดประเทศ” ข่าวใหญ่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อค่ำวันที่ 11 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมากาง “โรดแมป” ไล่เลียงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 จะเริ่มเปิดให้ชาวต่างชาติ เบื้องต้น 10 ประเทศ ที่ฉีดวัคซีนครบตามจำนวนที่วัคซีนแต่ละชนิดกำหนดแล้ว และมีผลตรวจโควิด-19 ด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ไม่พบเชื้อ ก่อนออกเดินทาง และเมื่อมาถึงประเทศไทย หากตรวจซ้ำแล้วไม่พบเชื้อ ก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ

จากนั้นในอีก 1 เดือนให้หลัง “1 ธ.ค. 2564 วันเปิดสถานบันเทิง” แสงไฟยามราตรีจากผับ บาร์ จะกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง รวมถึงร้านอาหารสามารถเปิดให้นั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ เป็นการ “เคานท์ดาวน์” นับถอยหลังสู่การเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2565 ซึ่งนี่เป็นการส่งสัญญาณครั้งสำคัญ ในการเปลี่ยนเป้าหมายจากการกวาดล้างไวรัสโควิด-19 ให้หมดไปซึ่งไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง สู่การอยู่ร่วมกับโควิด รักษาสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจให้เดินไปด้วยกันให้ได้


“ผมรู้ว่าการตัดสินใจแบบนี้มีความเสี่ยงที่เกือบจะแน่นอนเลยว่า เมื่อเราเริ่มต้นการผ่อนคลายต่างๆ จะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราว ซึ่งเราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินดูว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร เราต้องไม่ปล่อยโอกาสนี้ เพราะถ้าเราต้องเสียโอกาสในช่วงเวลาทองของการทำมาหากินไปอีกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ผมคิดว่าประชาชนคงรับมือไม่ไหวอีกต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ย้อนไปเมื่อเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2562-ต้อนรับปีใหม่ 2563 แรกเริ่มมีข่าวโรคประหลาดที่ทำให้มีคนเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา ณ เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ก่อนที่มนุษยชาติจะได้รู้จักมันในชื่อโควิด-19 ไวรัสร้ายนี้ได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแต่เฉพาะด้านสุขภาพ จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสูงขึ้น นำไปสู่การเสียชีวิตราวกับใบไม้ร่วงเป็นภาพน่าสลดหดหู่ในหลายประเทศเท่านั้น ยังรวมถึงด้านเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ปิดกิจการต่างๆ เพื่อลดการรวมกลุ่ม แต่นั่นก็ทำให้คนอีกมากต้องตกงานขาดรายได้ และอีกไม่น้อยแบกรับภาระไม่ไหว ตัดสินใจ“ฆ่าตัวตาย” เป็นภาพที่น่าเวทนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

บ่ายวันที่ 5 ต.ค. 2564 หรือ 6 วันก่อนหน้านายกฯ ประกาศเปิดประเทศ สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ จัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “คนทุกข์ในเมือง : โรคระบาด ปากท้อง บ้านและงาน” มีวิทยากรหลายท่านร่วมบอกเล่า “บันทึกความเจ็บปวด” ของคนระดับฐานรากจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 อาทิ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อค้นพบจากการร่วมทำวิจัยผลกระทบของโควิด-19 ต่อชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านและคนจนเมือง เมื่อปี 2563 ตลอดจนลงพื้นที่ชุมชนแออัดสำรวจเพิ่มเติมในปี 2564

“ชุมชนแออัด” นั้นเป็นบ้านที่ทำจากวัสดุไม่มั่นคงอีกทั้งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงถูกไล่รื้อเพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย บ้านแต่ละหลังสร้างอยู่ติดกัน มีเพียงซอยแคบๆพอให้แทรกตัวเดินสวนกันได้ และหนึ่งครัวเรือนมีสมาชิกหลายคน นอกจากนี้ยังมี “ห้องเช่าราคาถูกแต่แลกด้วยคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี” โดยเป็นห้องเช่าที่ดัดแปลงอาคารซอยเป็นห้องเล็กๆ ผู้อาศัยต้องเข้าห้องน้ำรวมเพราะไม่มีห้องน้ำในตัวที่อยู่ทั้ง 2 แบบนั้นเอื้อต่อการระบาดของโรคอย่างรวดเร็วเพราะไม่มีพื้นที่แยกกักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อ แต่ปัญหาในส่วนของห้องเช่ายังไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก

“คนในชุมชนแออัดอย่างน้อยยังเห็นสภาพพื้นที่โล่ง แต่คนที่เช่าห้องอยู่ห้องแคบๆ ห้องเขาก็จะมืด ทึบ ร้อน อยู่ไม่ได้ เราจะเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แย่กว่า อีกอันหนึ่งที่เสียเปรียบคือไม่ค่อยมีใครเอาข้าวมาแจกให้ห้องเช่า คนที่อยากจะบริจาคช่วยเหลือก็จะไปแจกตามชุมชน พอออกข่าวให้คนรู้จักก็จะมีคนมาแจกไม่ขาด” อาจารย์บุญเลิศ ระบุ

ขณะที่ อินทิรา วิทยสมบูรณ์ อาสาสมัครโควิด บอกเล่าประสบการณ์ 4-5 เดือนของการทำงานประสานส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 จากชุมชนเข้าสู่ระบบการรักษา และเห็นว่า “จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลข แต่หมายถึงภาพสะท้อนความเปราะบางของผู้คนในเมือง” ดังเรื่องเล่าจากหลากหลายผู้คน อาทิ “ป้าสมควร” พนักงานทำความสะอาดสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) อาศัยในชุมชนแออัด มีลูกชายประสบอุบัติเหตุต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และไวรัสโควิด-19 ได้พรากชีวิตลูกชายไปโดยที่ตนเองไม่สามารถแม้แต่จะไปร่วมงานศพ

“สุธีรัตน์” สาวออฟฟิศบริษัทแห่งหนึ่ง อาศัยในชุมชนแออัด ครอบครัวมีสมาชิกถึง 29 คน สภาพบ้านเป็นอาคาร3 ห้อง ที่เจาะผนังเปิดให้อยู่รวมกัน วันหนึ่งสุธีรัตน์มีอาการไอด้วยความสงสัยจึงไปตรวจและพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้เพราะเวลานั้นจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ทั้งที่เอกซเรย์แล้วพบว่าเชื้อลงปอดแล้ว ท้ายที่สุด สุธีรัตน์ก็เสียชีวิตจากโรคร้ายอยู่ที่บ้าน และหลังจากนั้นก็ยังพบด้วยว่า 21 จาก 28 คน ในบ้านติดเชื้อ

“วิสุทธิ์” ชายวัยสี่สิบเศษ อาศัยอยู่ภายในบ้านร่วมกับผู้สูงวัย 4-5 คน ทั้งหมดอายุตั้งแต่ 70-80 ปี วิสุทธิ์ ติดเชื้อโควิด-19 ทราบผลจากการตรวจด้วยวิธีเอทีเค (ATK) แต่โรงพยาบาลไม่สามารถรับตัวไว้รักษาได้เพราะเตียงเต็ม ในขณะที่ศูนย์พักคอยที่ตั้งขึ้นหลายแห่งในกรุงเทพฯ ติดข้อจำกัดว่าจะรับเฉพาะผู้ที่ตรวจด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์เท่านั้น “วันชัย-ภคภัค” สองสามี-ภรรยา เมื่อวันชัยผู้เป็นสามีติดเชื้อและค่าออกซิเจนลดต่ำมาก แต่การส่งตัวเข้าระบบการรักษาก็ทำได้ยาก ทั้งรถกู้ภัยที่ต้องเจรจากับตำรวจที่ตั้งด่านจากมาตรการล็อกดาวน์ และโรงพยาบาลที่มีเตียงไม่พอ

“มันยังมีชีวิตอีกมากมายในหลักหมื่น ความที่เราเห็นไม่ว่าคนที่เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่ไม่มีเลขบัตรประชาชน ถูกไล่ออกจากบ้าน ต้องหาที่อยู่อาศัยระหว่างการรอเข้าสู่โรงพยาบาล คนที่ไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียว คนที่มีเงินติดตัวอยู่ 300 บาทที่ไม่สามารถไปเบิกได้ เท่ากับว่าความเปราะบางเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของสังคมที่ต้องโอบอุ้มกันและกัน เราจึงเจอว่ามันมีภาคประชาสังคมจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาทำหน้างานนี้ และเป็นหน้างานที่อาจจะมีประสิทธิภาพกว่ารัฐเสียด้วยซ้ำ” อินทิรา กล่าว

อินทิรา ยังกล่าวอีกว่า “การรวมศูนย์อำนาจกลับกลายเป็นปัญหาเสียเอง”จากภาวะ “เตี้ยอุ้มค่อม” หมายถึงแบกรับทุกอย่างเอาไว้แต่ไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ อีกทั้งทำให้เห็นได้ชัดว่า “กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เปราะบางมาก” โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19ที่ไม่สามารถนำผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ออกมาตรวจคัดกรองได้ “ประเทศไทยจะสามารถก้าวข้ามวิกฤติโควิดได้เลย หากไม่นำบทเรียนต่างๆ ที่พบมาสรุปร่วมกัน” โดยเฉพาะการจัดระบบบริการที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น

ด้าน ศยามล เจริญรัตน์ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกลุ่มอาชีพกลุ่ม “ผู้ผลิตอาหาร” ไล่ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานแปรรูป ขับรถส่งสินค้า จนถึงตลาดหรือร้านค้า ซึ่งในช่วงล็อกดาวน์ พบปัญหาการผลิตอาหารป้อนเข้าสู่เมือง เพราะมีการคุมเข้มการเดินทางส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหารอยู่ระยะหนึ่ง โดยเฉพาะข้าวสารไข่ น้ำตาล รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทั้งนี้ ในสถานการณ์โควิด-19 บุคลากรกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุคลากรสาธารณสุข แต่กลับได้รับความสนใจน้อยกว่ามาก

“ตั้งแต่เริ่มมีการปิดเมืองปี 2563 แรกๆ เลยถ้าจำไม่ผิดช่วงเดือนมีนาคม เราก็มีความคิดว่าเราคงต้องทำเรื่องนี้ เพราะว่าคนกลุ่มนี้ถูกมองไม่เห็น พอเราเข้าไปถามว่าทำไมถึงยังมาขายสิ่งที่เราได้รับจากแม่ค้า-พ่อค้าที่เป็นอาหารพร้อมปรุงแล้วพร้อมทานเลย เขาบอกว่า..ถ้าป้าไม่ขายแล้วพวกหนูจะกินอะไร?..มันเจ็บมากเลยนะ เขาออกมาทำก็ห่วงเรา ขณะเดียวกันบางคนก็บอกเราว่า..ถ้าไม่มาขายจะเอาอะไรกิน กลัวโรคแต่กลัวอดมันมากกว่า..อดคือมันไม่มีกินวันนี้ แต่เป็นโรคยังพอรักษาได้หรือหาช่องทางได้ อันนี้เป็นคำตอบเมื่อปีที่แล้ว” ศยามล กล่าว

ศยามล กล่าวต่อไปว่า “โควิด-19 ทำให้ความสำคัญขอกลุ่มอาชีพผู้ผลิตอาหารถูกมองเห็นชัดขึ้น” เช่น เมื่อสถานบันเทิงถูกปิด นักดนตรีหลายคนต้องหันมาขายอาหาร เพราะง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับการปรับตัวไปยังภาคส่วนอื่นๆ เนื่องจากทั้งชีวิตศึกษาฝึกฝนแต่ทักษะด้านร้องรำทำเพลง และเมื่อดูมาตรการคุ้มครองแรงงาน พบว่า กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ จึงเข้าไม่ถึงการคุ้มครอง เช่น ประกันสังคม นอกจากนี้ “กลุ่มอาชีพจัดการขยะ”ยังต้องทำงานหนักและเสี่ยงมากขึ้น จากปริมาณขยะอาหารและขยะติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น

(อ่านต่อฉบับวันที่ 17 ต.ค. 2564)

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • โควิดติดเชื้อพุ่งแค่สัปดาห์เดียว พรวด1.11แสน  เสียชีวิต31ศพ โควิดติดเชื้อพุ่งแค่สัปดาห์เดียว พรวด1.11แสน เสียชีวิต31ศพ
  • โควิด’ป่วยพุ่ง  วันเดียว2หมื่น  ปิดรร.สระแก้ว พบระบาดหนัก โควิด’ป่วยพุ่ง วันเดียว2หมื่น ปิดรร.สระแก้ว พบระบาดหนัก
  • โควิดติดเชื้อพุ่ง หมอจุฬาชี้น่าเป็นห่วง สธ.ยันพร้อมรับมือได้ โควิดติดเชื้อพุ่ง หมอจุฬาชี้น่าเป็นห่วง สธ.ยันพร้อมรับมือได้
  • ‘สมศักดิ์’ยืนยัน สธ.พร้อมรับมือ‘โควิด-19’ ชี้การแพร่ระบาดมีแนวโน้มลดลง ‘สมศักดิ์’ยืนยัน สธ.พร้อมรับมือ‘โควิด-19’ ชี้การแพร่ระบาดมีแนวโน้มลดลง
  • WHO เตือนโควิดกลับมา จับตาพันธุ์ใหม่ NB1.8.1 WHO เตือนโควิดกลับมา จับตาพันธุ์ใหม่ NB1.8.1
  • โควิดรอบ7วันพุ่ง  ป่วย6.5หมื่น/ดับ8ศพ โควิดรอบ7วันพุ่ง ป่วย6.5หมื่น/ดับ8ศพ
  •  

Breaking News

เกษตรกรกำแพงเพชร บุกพรรคประชาชน หลัง'ไอซ์'ปูดงบ 'ไผ่' หวั่นเดือดร้อนถูกตัดงบ

‘ไผ่’ซัด‘รักชนก’เป็นเหตุ‘ม็อบชาวกำแพงเพชร’บุกศูนย์ ปชน. โวยพาดพิงงบพัฒนา

‘ไผ่’ตอก‘ไอติม’อยู่แต่ กทม.ไม่รู้ สส.บ้านนอกทำงานแบบไหน กวักมือไปดูงานกำแพงเพชร

ตำรวจบางละมุง 'รวบสองคู่หู'ลักเหล็กอลูมิเนียม อ้าง!ตกงาน-เลี้ยงแม่ป่วย

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved