จะดีเพียงใดถ้าคนในสังคมไทยได้ตื่นขึ้นมาเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 พร้อมกับเรียนรู้ที่จะดูแลสุขภาวะของตัวเองอย่างถูกวิธีกันอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน? คำถามนี้ผศ.ดร.สุคนธา ศิริ หัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้เขียน E-Book “หลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน” ว่า เรื่องของ “ความรอบรู้ทางสุขภาวะ (Health Literacy)” เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ เช่นเดียวกับศาสตร์ทางด้านระบาดวิทยา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกในยุคที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 รวมถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อดังกล่าว จากสายพันธุ์เดลต้าซึ่งให้ผลที่รุนแรง และล่าสุดคือโอมิครอน ที่ถึงแม้จะไม่รุนแรงเท่า แต่ก็สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่า ทั้งนี้ ด้วยหลักการ “Epidemiologic Triad” ทางระบาดวิทยาที่อธิบายการเกิดปัญหาสุขภาพอยู่บน 3 ปัจจัยพื้นฐาน คือ ตัวโรค (Agent) คน (Host) และสิ่งแวดล้อม (Environment)
หากเข้าใจอย่างถ่องแท้ และสามารถสอดประสานให้เกิดความสมดุลก็จะสามารถป้องกันควบคุมการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ด้วยการเรียนรู้ที่จะเข้าใจในธรรมชาติของโรค การกระจายและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเพื่อให้สามารถป้องกันควบคุมการแพร่ระบาด และเรียนรู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนว่ามีการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ซึ่งการฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
“เราจะรับมือโควิด-19 อย่างไรอย่างมีสติ โดยการก้าวขึ้นบันไดตามหลักการป้องกันโรค จากขั้นปฐมภูมิตั้งแต่ก่อนเกิดโรคทำอย่างไรให้ประชาชนห่างไกลโควิด-19 สู่ขั้นทุติยภูมิ ค้นหาผู้ติดเชื้อ เพื่อตัดวงจรการติดและแพร่กระจายเชื้อ ไปจนถึงขั้นตติยภูมิทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลาเพื่อลดอัตราตาย เพิ่มการรักษาให้ได้มากที่สุด” ผศ.ดร.สุคนธา กล่าว
ผศ.ดร.สุคนธา กล่าวต่อไปว่า ใน E-Bookหลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน ผู้อ่านจะได้เรียนรู้เรื่องระบาดวิทยาอย่างครบวงจร ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาการวัดทางระบาดวิทยา รูปแบบการศึกษาพื้นฐานทางระบาดวิทยา การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การวินิจฉัยชุมชน ไปจนถึงการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนในแต่ละประเภทการคัดกรอง และการใช้เครื่องมือที่ดีในการคัดกรอง ฯลฯ เช่น “การเลือกซื้อชุดตรวจแบบ ATK มาใช้” ให้ดูที่มาตรฐานการผลิตเป็นหลัก โดยจะต้องผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้วเท่านั้น
นอกจากนี้ “การจะดูว่าเป็น ATK ที่ใช้ตรวจครอบคลุมโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ สามารถสังเกตได้ง่ายๆ โดยดูปีที่ผลิต” ว่าอยู่ในช่วงที่โควิด-19สายพันธุ์ใดกำลังแพร่ระบาด ซึ่งช่วงที่สายพันธุ์โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดอยู่ในช่วงปลายปี2564 ต่อจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ดี ไม่ชัดเจนเท่าดูการระบุคุณสมบัติที่ข้างกล่อง ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า E-Bookหลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน จะสามารถทำให้ประชาชนได้ก้าวข้ามผ่านอคติซึ่งเกิดจากความไม่รู้จนสามารถรอดพ้นวิกฤต หรือกับดักทางความคิด ให้เดินหน้าอยู่กับโควิด-19 ได้ต่อไปด้วยความรู้เท่าทัน
ผู้สนใจสามารถติดตามอ่าน E-Book “หลักวิทยาการระบาดพื้นฐาน” และเล่มอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยมหิดลภูมิใจมอบให้เพื่อการส่งเสริมและสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ได้ทางแอปพลิเคชัน “MU PRESS” ที่สามารถดาวน์โหลดด้วยสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS และ Android
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี