อาทิตย์นี้ขอว่าด้วยการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบการใช้งบประมาณ ที่ผมได้กระตุ้นอยู่หลายครั้งเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ขณะที่ผมปฏิบัติหน้าที่อยู่ในรัฐสภา
ต้องบอกตามตรงว่า ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจเมื่อทราบข่าว (สำนักข่าวอิศรา : 22 มีนาคม 2565)ว่า สตง. ได้รายงานผลการตรวจสอบโครงการโรงเรียนสองภาษา หลักสูตรไทย-อังกฤษ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของกรุงเทพมหานคร ว่าต่ำกว่าเป้าหมาย และไม่เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด
โดยจากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียน 11 แห่ง พบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่มีการทดสอบสมิทธิผลทักษะภาษาอังกฤษตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยมีโรงเรียนจำนวน 8 แห่งที่ต้องทดสอบสมิทธิผลทักษะภาษาอังกฤษตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แต่ไม่ปรากฏข้อมูลผลการทดสอบสมิทธิผลทักษะภาษาอังกฤษที่ใช้แบบทดสอบมาตรฐานจากสถาบันซึ่งได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ และโรงเรียนอีกจำนวน 3 แห่ง จัดการเรียนการสอนไม่ถึงระดับที่ต้องทดสอบ นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบประเด็นบุคคลภายนอกช่วยปฏิบัติราชการด้านการสอนภาษาอังกฤษ (ครูต่างชาติ) ของโรงเรียนบางแห่ง ไม่ตรงวิชาเอก และไม่เพียงพอตามแนวทางที่กำหนด
อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการทำงานของ สตง. ตามข้อมูลการรายงานข่าว คือ เรื่องการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา (แนวทางการศึกษาที่ได้บูรณาการความรู้ระหว่างศาสตร์วิชาต่างๆ เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ความรู้ทางด้านวิศวกรรม และความรู้ด้านคณิตศาสตร์ รวมเข้าด้วยกัน) ของกรุงเทพมหานคร“ไม่มีประสิทธิภาพ” ส่งผลทำให้ครูเสียโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง และส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ทำให้ขาดการพัฒนา ไม่เกิดการเรียนรู้ และการบูรณาการความรู้ ไปใช้เชื่อมโยง หรือแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง
โดยสุ่มตรวจสอบโรงเรียน จำนวน 22 แห่งพบว่า โรงเรียนบางแห่งไม่มีการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาในโรงเรียนตามแนวทางการนำกิจกรรมสะเต็มศึกษาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน จำนวน 9 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 40.91 จำแนกเป็นโรงเรียนที่ตั้งศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 2 แห่ง และโรงเรียนเครือข่ายของศูนย์จำนวน7 แห่ง กล่าวคือ ไม่มีการจัดกิจกรรมสอดแทรกไปตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องของแต่ละรายวิชาภายในคาบเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีการจัดกิจกรรมไว้ในรายวิชาเพิ่มเติมหรือเลือกเสรี และไม่มีการจัดกิจกรรมไว้ในกลุ่มกิจกรรมนอกชั้นเรียน )
ครับ, เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าวนี้ เกี่ยวกับการรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ที่นอกจากการตรวจสอบในเชิงปริมาณแล้ว ยังเพิ่มเติมการตรวจสอบในเชิงผลสัมฤทธิ์และข้อแนะนำในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายให้เกิดประสิทธิภาพ (ในที่นี่มิได้นำมาระบุไว้ สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักข่าวอิศรา) ก็ต้องถือว่าเป็นการพัฒนาระบบการตรวจสอบ อันส่งผลสำคัญต่อการปฏิบัติงานของข้าราชการเป็นอย่างยิ่ง เพราะอานิสงส์เช่นนี้เองจะต่อยอดไปสู่การยกระดับ “ระบบราชการ” ให้เกิดกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามที่ผม และคนส่วนใหญ่ หวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้มาโดยตลอด
กล่าวคือ การตรวจสอบของ สตง. นี้ เป็นการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ใช้งบประมาณ(Performance Audit) เพิ่มเติมขึ้นมา นอกเหนือไปจากการตรวจสอบความถูกต้องทางเอกสารของการใช้งบประมาณเท่านั้น ซึ่งเป็นการบอกกับข้าราชการที่มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อกรณีดังกล่าวนี้ว่า สตง. ให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์” ที่เกิดขึ้นกับ “ประชาชน” จากการใช้“งบประมาณ” ของรัฐ (ที่มาจากการเสียภาษีของพวกเขา)
ถ้าประชาชน (ในกรณีนี้ คือ นักเรียน) ไม่ได้รับประโยชน์ คือ ความสามารถของการใช้ภาษาอังกฤษ และการคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ จากสะเต็มศึกษา ก็ต้องถือว่า โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาและควรที่จะนำมาใช้เป็นกรอบสำหรับการปฏิบัติงานในเชิงของการศึกษา และตรวจสอบมาตั้งนานแล้ว เพราะโดยปกติที่ผ่านมา ข้าราชการที่ใช้งบประมาณ จะให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามระเบียบที่กหนดจากทางราชการอย่างถูกต้อง แต่ในส่วนของผลสำเร็จนั้น จะเกิดขึ้นกับประชาชนหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะสตง. ตรวจสอบเพียงความถูกต้องของเอกสารตามกฎระเบียบ (Compliance Audit) จากทางราชการเป็นหลัก พูดง่ายๆ ก็คือ การตรวจว่า ใบเสร็จซื้อกาแฟถูกต้องตามระเบียบราชการหรือไม่ ส่วนในถ้วยกาแฟที่ซื้อนั้นจะมีกาแฟหรือไม่ รสชาติกาแฟเป็นอย่างไร สตง. จะไม่ตรวจ นี่คือปัญหาใหญ่ของระบบราชการ ที่ทำให้กระทรวง กรม และจังหวัด แม้จะใช้งบประมาณปีละเป็นล้านล้านบาท แต่ประชาชนกลับไม่ได้รับผลสำเร็จอะไรอย่างเป็นรูปธรรมเลย เพราะงบประมาณใช้ไปอย่างถูกต้องตามระเบียบราชการเป็นเพียงจุดหมายปลายทางของการดำเนินโครงการเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อทาง สตง. ได้ปรับไปตรวจสัมฤทธิผล (Performance Audit) ร่วมด้วย เช่น กรณีกรุงเทพมหานคร ใน 2 โครงการนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และสำหรับผมเห็นว่า สตง. สมควรที่จะได้รับการชื่นชม และสนับสนุนให้ทำการตรวจผลสัมฤทธิ์เช่นนี้ให้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เพื่อหวังว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายไปในโครงการต่างๆ ของประเทศไทย จะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และตรงตามเจตนารมณ์ของการใช้งบประมาณของรัฐอย่างแท้จริง
ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ แรงกระเพื่อมของการตรวจสอบเชิงผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐอย่าง สตง. นั้น จะกลายเป็นคำถามกลับไปยัง “สำนักงบประมาณ” (สงป.) ว่า โครงการที่ทาง สงป.อนุมัติไปนั้นตรงกับปัญหา และความต้องการของประชาชนหรือไม่ ยกตัวอย่าง กรณีโครงการ สะเต็มศึกษา ที่ สงป. อนุมัติให้ตั้ง “ศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา” ของกรุงเทพมหานคร และจัดสรรงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์ และครุภัณฑ์ไปให้ พร้อมกับงบประมาณดำเนินการ
แต่ปรากฏว่า ผลการตรวจสอบของ สตง. จากการสุ่มตรวจสอบโรงเรียนที่ตั้งศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 8 แห่ง พบว่า ศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 4 แห่ง ไม่มีการนิเทศติดตามการสอนของครูผู้สอนที่เข้ารับการอบรม ตามที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กำหนด และศูนย์อบรมทางไกลสะเต็มศึกษา จำนวน 4 แห่ง มีการนิเทศติดตาม ซึ่งพบปัญหา ได้แก่ การจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาสอดแทรกในชั้นเรียนไม่มีความต่อเนื่อง อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมสะเต็มศึกษาไม่เพียงพอ และครูพี่เลี้ยงยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ จึงไม่สามารถให้ความเห็นในการนิเทศติดตามได้อย่างมั่นใจ
“การขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาของกรุงเทพมหานครไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลทำให้ครูเสียโอกาสได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง และส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนทำให้ขาดการพัฒนา ไม่เกิดการเรียนรู้และการบูรณาการความรู้ไปใช้เชื่อมโยงหรือแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริงผ่านกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษาได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-NET) วิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่ยังมีค่าเฉลี่ยของโรงเรียนบางแห่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ...”
ถึงตรงนี้ คำถามที่ สงป. ต้องตอบให้ได้ก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการพิจารณางบประมาณของหน่วยงานตน ทำไมทาง สตง. จึงรายงานการตรวจสอบออกมาตามที่ได้ระบุไว้นี้ และผมขอเสนอว่า รายงานฉบับดังกล่าวนี้ของ สตง. ควรได้รับการส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้อ่าน และศึกษาข้อมูลร่วมด้วย เพื่อที่จะได้ทราบว่า ทำไมงบประมาณปีละหลายล้านล้านบาทของรัฐบาลไทย ถึงไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างที่ควรจะเป็น
กนก วงษ์ตระหง่าน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี