เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์แจ้งเตือนเกษตรกรไม่ให้ลงมือเพาะปลูกข้าวเร็วเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียตามมามากมาย ทั้งเสี่ยงต่อฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจทำให้ข้าวตายได้ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องวัชพืช ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคุณภาพข้าวเปลือกตามมา
วันนี้ (27 เม.ย.65) นายดำรง ปลั่งกลาง เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้ได้เกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้มีฝนตกหลายท้องที่ในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งในปีการผลิตที่ผ่านมา มีเกษตรกรหลายรายได้เริ่มลงมือเพาะปลูกข้าวตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งถือว่าเป็นการเพาะปลูกข้าวที่เร็วเกินไป เนื่องจากยังไม่เข้าสู่ฤดูฝน
ดังนั้น ข้าวที่เกษตรกรเพาะปลูกลงไปจึงมีความเสี่ยงต่อปัญหาฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมของทุกปี อาจทำให้ข้าวตายได้ และข้าวที่เพาะปลูกเร็วเกินไปยังจะต้องประสบปัญหาวัชพืชขึ้นในนาข้าวเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้ผลผลิตข้าวลดต่ำลงประมาณ 30% ทำให้ต้องเพิ่มต้นทุนในการกำจัดวัชพืช ต้นทุนการผลิตข้าวจึงสูงขึ้นและผลผลิตข้าวที่ได้จะมีคุณภาพต่ำ มีสิ่งเจือปนสูงทำให้จำหน่ายได้ในราคาต่ำตามมาอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อหลีกเสี่ยงปัญหาดังกล่าวจึงขอเตือนให้พี่น้องเกษตรกรอย่าเร่งรีบลงมือเพาะปลูกข้าวเร็วเกินไปโดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกข้าวนาปีคือช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนมิถุนายนของทุกปี
เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวต่อว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีการปลูกข้าวหอมมะลิมากที่สุด โดยมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 2.6 ล้านไร่ หรือร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งจังหวัด จึงถือได้ว่าข้าวหอมมะลิเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยในแต่ละปีจะมีผลผลิตประมาณ 1 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นมูลค่า 20,000 ล้านบาท จึงควรวางแผนช่วงการปลูกให้เหมาะสมกับช่วงฤดู แต่ไม่เกินเดือนสิงหาคม - 003