วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
ย้อนมองผลกระทบ‘ประชากรข้ามชาติ’  ก่อนโควิด-19เปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น

ย้อนมองผลกระทบ‘ประชากรข้ามชาติ’ ก่อนโควิด-19เปลี่ยนผ่านสู่โรคประจำถิ่น

วันจันทร์ ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 06.00 น.
Tag : โควิด-19 โรคประจำถิ่น
  •  

ผ่านพ้นไปแล้วกับงานสัมมนา “แนวทางในการจัดบริการด้านสุขภาพ การเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ และแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ : บทเรียนจากช่วงวิกฤติสุขภาพในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการอียูรับมือโควิด

งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 ภายในงานมีการสะท้อนเรื่องราวสถานการณ์ที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา อาทิ ปภพ เสียมหาญ ผู้แทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวถึงโครงการเยียวยาในช่วงที่กิจการต่างๆ ถูกปิดตามมาตรการล็อกดาวน์ พบความเหลื่อมล้ำในกลุ่มแรงงานข้ามชาติกับแรงงานไทยที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เช่น โครงการ ม.33 เรารักกัน ที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันตนชาวไทยเท่านั้น ทั้งที่ส่งเงินสมทบเหมือนกัน


สุธาสิณี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ยกตัวอย่างหลากหลายมาตรการที่ไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม โดยพบทั้งมาตรการที่ได้เฉพาะแรงงานสัญชาติไทย หรือมาตรการที่ได้เฉพาะแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือได้เฉพาะแรงงานที่มีเอกสารเท่านั้น ซึ่งการแก้ปัญหาต้องคำนึงเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน ต้องไม่เลือกปฏิบัติ มาตรการรัฐต้องออกแบบให้รองรับแรงงานข้ามชาติเพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลาย

ชมพูนุท ป้อมป้องศึก นักวิชาการสิทธิมนุษยชนเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม. มีการทำข้อแนะนำและรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทยทุกปี ช่วงการระบาดก็มีรายงานผลกระทบจากโควิดและมีข้อเสนอ เช่น ควรมีมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรค การเข้าถึงวัคซีนต้องคำนึงถึงกลุ่มที่เสี่ยงตกหล่น

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต้องคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงของกลุ่มเปราะบางด้วย เด็กที่ได้รับผลกระทบต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ต้องมีการสำรวจเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาและมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้รัฐควรเร่งจัดหาวัคซีนให้กลุ่มเปราะบางและแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากส่งผลกระทบถึงคนไทยเพราะเขาทำงานและอยู่ร่วมกับเราในประเทศไทย

ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2563 ที่มีโควิดรัฐบาลประกาศให้ทุกกิจการที่มีความเสี่ยงหยุดกิจการ สปส. ให้ความช่วยเหลือโดยให้ขึ้นทะเบียนว่างงานโดยเหตุสุดวิสัยทางออนไลน์ ซึ่งนายจ้างต้องลงทะเบียนให้ลูกจ้าง โดย สปส. จ่ายให้เท่ากันไม่ว่าแรงงานไทยหรือต่างชาติ ยกเว้นลูกจ้างที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้องและไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม ซึ่ง สปส. ไม่สามารถทราบได้

อุกฤษณ์ กาญจนเกตุ ที่ปรึกษาสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาช่วงโควิดจะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน แต่แรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมีความลำบากกว่ามาก ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากไหนได้ การส่งเสริมการจ้างงานให้ถูกกฎหมายเป็นปัจจัยที่จะลดปัญหาต่างๆ ได้ ขณะที่ไทยถูกจับตาเรื่องการค้ามนุษย์ ถ้ามีแรงงานเข้ามาไม่ถูกกฎหมายก็จะมีปัญหาค้ามนุษย์ตามมา จึงต้องมีกระบวนการชักจูงให้ทำแรงงานข้ามชาติให้ถูกกฎหมาย ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการทำงานถูกกฎหมายนั้นไม่ต่างจากการเข้ามาแบบผิดกฎหมาย

ยังมีการพูดคุยเรื่อง “เด็กข้ามชาติ” หรือบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่ต้องติดตามพ่อแม่ผู้ปกครองมาใช้ชีวิตในประเทศไทย โดย รศ.ดร.เฉลิมพลแจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอข้อเสนอจากงานวิจัย “เด็กข้ามชาติในสภาวะวิกฤติสุขภาพ : สถานการณ์และทางออก” ว่า ข้อมูลสถิติเด็กข้ามชาติที่มีนั้นตัวเลขจำนวนไม่ชัดเจน แต่มีพลวัตการอยู่อาศัยของเด็กในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก ในการศึกษามองสามประเด็นสำคัญคือ สุขภาพ การศึกษา และการคุ้มครองเด็กข้ามชาติ

ด้านสุขภาพคือเรื่องความเสี่ยงและความเปราะบางในการติดเชื้อและเสียชีวิต แต่ทางอ้อมคือเรื่องอนามัยแม่และเด็ก หญิงตั้งครรภ์ การเข้าถึงวัคซีนและโภชนาการสมวัย ด้านการศึกษานั้นผลกระทบทางตรงคือการปิดโรงเรียนและศูนย์เรียนรู้ เกิดการชะงักในโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก เด็กขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าเด็กไทยกลุ่มเปราะบางจะเจอผลกระทบไม่ต่างกัน แต่เด็กข้ามชาติมีปัจจัยเรื่องเอกสารและบริบทที่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องการคุ้มครองนั้นความเสี่ยงขึ้นอยู่กับช่วงวัย เช่น ในเด็กเล็กการขาดผู้ดูแลที่เหมาะสม ความรุนแรงในครอบครัว ในเด็กวัยเรียนกระทบจากการปิดโรงเรียน ในเด็กโตจะถูกผลักให้ทำงานเพิ่มขึ้นจนกระทบต่อการศึกษาและมีเรื่องการล่วงละเมิดและพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคม ซึ่งปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังคือ 1.การเข้าไม่ถึงทั้งเรื่องการจดทะเบียนเกิด การศึกษา และบริการสุขภาพที่จำเป็น

2.การตกหล่นทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษาและการคุ้มครอง 3.เด็กข้ามชาติจะมีความเสี่ยงและเปราะบางเพิ่ม สำหรับข้อเสนอแนะจากการศึกษาคือ 1.กลไกและมาตรการเฉพาะหน้าที่ชัดเจนในการติดตาม ประเมิน เฝ้าระวัง และช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบโควิดต่อเด็กข้ามชาติ 2.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กข้ามชาติและบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.นโยบายระยะยาวที่ชัดเจนภายใต้แนวคิด replacement migration

โดยหากประเทศไทยมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มนี้ว่าสามารถเป็นกำลังแรงงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยได้ในอนาคต ก็จะทำให้นโยบายและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ ทั้งการจดทะเบียนการเกิด การศึกษา และสุขภาพ รวมถึงการคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงและความปลอดภัยในด้านต่างๆ มีความเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน ชัดเจนและมีแนวทางลงสู่ระดับการปฏิบัติในทุกเรื่องที่เป็นไปในเป้าหมายเดียวกัน

มนัญชยา อินคล้าย ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กข้ามชาติ เล่าว่า จากการระบาดที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร จนมีการปิดตลาด แม่และเด็กบางคนต้องแยกกัน นายจ้างที่มีแรงงานไม่ถูกกฎหมายก็กังวลจนเอาแรงงานไปทิ้งข้างทาง หอพักก็ไล่แรงงานไม่ถูกกฎหมายออก เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้ สถานการณ์มาคลี่คลายตอนที่รัฐประกาศว่าจะดูแลทุกคน ไม่ต้องไปไหน ให้อยู่กับที่ นายจ้างจึงเริ่มคลายกังวล

อย่างไรก็ตาม ในการระบาดระลอก 3 เริ่มมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการรักษา โดยเฉพาะช่วงแรกที่ต้องจ่ายค่าตรวจโควิดเอง ยิ่งแรงงานที่ไม่มีบัตรยิ่งลำบาก ทั้งนี้ การสาธารณสุขเป็นความมั่นคงของชาติโควิดไม่ได้เลือกเชื้อชาติ ศาสนาและช่วงวัย หากมองคนเป็นคนเหมือนกัน ต้องให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ถ้วนหน้าเท่าเทียม รวมถึงลูกหลานแรงงานข้ามชาติควรเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพและใบเกิด เพราะช่วงโควิดที่สมุทรสาครจำกัดคิวแจ้งเกิดแต่ละวันพอคิวยาวพ่อแม่บัตรหมดอายุก็กลายเป็นคนเถื่อนอีก

นพ.ประณิธาน รัตนสาลี ที่ปรึกษางานพัฒนาระบบบริการเฉพาะ กองบริหารการสาธารณสุข กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติ มีข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ที่ผ่านมาแม้ว่าผู้ป่วยไม่มีสิทธิรักษาแต่โรงพยาบาลต้องให้การรักษาอยู่แล้ว แต่มีปัญหาว่าไม่สามารถเก็บค่าบริการได้ จึงมีการแบกรับค่าใช้จ่ายมายาวนาน ส่วนการให้บริการสาธารณสุขช่วงโควิดนั้นผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติมักอยู่ในพื้นที่ชายขอบซึ่งการให้บริการไม่พร้อมจนเกิดข้อจำกัด ช่วงโควิดยิ่งทำให้การบริการติดขัดเมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจนติดเชื้อง่ายขึ้น

สุธิดา ศรีมงคล ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบคุ้มครอง กรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การช่วยเหลือเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ยึดการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยค้นหาเด็กที่มีความเสี่ยง ให้เด็กได้รับความเช่วยเหลือทันท่วงที ให้เด็กมีผู้ดูแลและปลอดภัยผ่านกลไกและช่องทางการช่วยเหลือเชิงรุกต่างๆ มีการช่วยเหลือเฉพาะหน้ามีการให้ความปลอดภัย การรักษา การดำรงชีวิตเบื้องต้น นอกจากนี้คือการจัดทำแผนรายบุคคล

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เจ้าหน้าที่งานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่าเด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงบริการ ก่อนหน้านี้สิทธิต่างๆ ขึ้นอยู่กับเลข 13 หลัก จนเป็นอุปสรรคการเข้าถึงบริการและการเยียวยา แต่วิกฤตนี้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง หลายภาคส่วนพยายามผลักดันนโยบายและหลักการปฏิบัติที่เอื้อต่อสิทธิเด็กอพยพมากขึ้น

ซึ่งเรื่องการคุ้มครองเด็กจะทำอย่างไรให้ระบบและกลไกที่มีอยู่เข้มแข็ง ใช้ได้จริงและสอดคล้องบริบทในพื้นที่ โดยต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กทุกคนในชุมชนโดยต้องไม่ตกหล่นเด็กข้ามชาติ นอกจากนี้ต้องผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพและการจดทะเบียนการเกิดให้ครอบคลุมเด็กข้ามชาติ ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะเป็นปัจจัยสำคัญ นอกจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนแล้ว ทำอย่างไรระบบที่มีจะเข้มแข็งและครอบคลุมทุกคน

เหลือเวลาอีกไม่นาน โควิด-19 กำลังจะผ่านพ้นจากโรคระบาดใหญ่เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น แต่แรงงานข้ามชาติจะยังอยู่คู่กับเศรษฐกิจไทยไปอีกนาน บทเรียนที่ได้จากสถานการณ์โรคระบาด น่าจะนำไปสู่การปรับปรุงนโยบายให้ครอบคลุมได้ในระยะยาว!!!

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

  •  

Breaking News

ฮามาสปล่อยตัวประกัน‘สหรัฐฯ’คนสุดท้ายแล้ว แต่อิสราเอลยังเดินหน้าถล่มกาซาต่อไป

อากาศแปรปรวน! เครื่องบินโดยสารลงจอด'อู่ตะเภา' 8 ลำ

‘สหรัฐฯ-จีน’ลดภาษี115%พักรบ90วันดีต่อศก.โลก ห่วงเสถียรภาพการเมืองทำไทยเสียเปรียบเจรจา

'วิโรจน์'ลุยชายแดนสังขละบุรี ถกปัญหา'ที่ดิน'ระหว่าง'กองทัพบก-ปชช.'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved