23 มิ.ย.2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 จุดประกายความกังวลไปทั่วโลก
โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์บริเวณหนามเพื่อให้เข้าจับกับเซลล์ปอดของมนุษย์ได้ดีขึ้น เหมือนกับสายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดและมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงในอดีต ต่างจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และ BA.2 ซึ่งไม่พบการกลายพันธุ์ในบริเวณดังกล่าว
ส่วนหนามของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ฺ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ที่เปลี่ยนแปลงไปสามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) ดึงดูดให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อเข้ามาทำลายเกิดการอักเสบ (ของปอด) ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ (life-threating) (ภาพ 1)
BA.4 และ BA.5 ขณะนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุโรป โดยเฉพาะในอังกฤษเกิดความตื่นตระหนกเป็นพิเศษในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสืบเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองใหญ่ 4 วันระหว่างวันที่ 2-5 มิถุนายน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการพบปะสังสรรค์ใกล้ชิดโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน นำมาสู่ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43 ในสัปดาห์ถัดมา (ภาพ 2)
ในทวีปอเมริกาเหนือ สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ดูเหมือนจะแพร่ระบาดได้ดีกว่า BA.2.12.1 และมีความเป็นไปได้สูงที่จะระบาดเข้าไปแทนที่ BA.2.12.1 ที่กำลังระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา (ภาพ 3)
ล่าสุดศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ตอบคำถามที่สอบถามศูนย์จีโนมฯเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5
Q1: ประเทศใดในยุโรปที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเนื่องจากการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 มากที่สุด
A1: โปรตุเกสกำลังเผชิญกับระบาดของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ระลอกใหม่โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อล้านคนมีค่าเฉลี่ย 7 วันอยู่ที่ 2,043 ราย ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราผู้ป่วยรายใหม่สูงเป็นอันดับสองของโลก แม้ว่าจะลดลงบ้างจากระดับสูงสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ 2,878 (ภาพ1) โดยมีผู้เสียเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ 178 คนในวันที่ 20 มิถุนายน 2565 (ภาพ2)
Q2: จำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย และได้อัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ปัจจุบันมีจำนวนกี่ราย
A2: จำนวนผู้ติดเชื้อ BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 ที่ตรวจพบในประเทศไทย ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม และได้อัปโหลดข้อมูลรหัสพันธุกรรมขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” ปัจจุบัน (23/6/2565) มีจำนวน 32, 49, 25 ตามลำดับ (ภาพ3) เฉพาะผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4 – BA.5 มีจำนวน 81 ราย และเมื่อรวมสายพันธุ์ BA.2.12.1 เข้าไปด้วยจะมีจำนวนรวม 106 ราย