ติดเชื้อรวมATKเพิ่ม9,105คน
โควิดไทยกระฉูด
ตาย19ศพ-อาการหนัก678ราย
ฉีดเข็มกระตุ้นยังได้แค่42.8%
นายกฯพอใจปชช.ตั้งการ์ดสูง
‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ติดโควิด
หลังร่วมคณะเยือนเชียงใหม่
ศบค.รายงานยอดติดเชื้อโควิดประจำวันเพิ่มขึ้น 2,328 คนพบจากการตรวจเอทีเคพุ่ง 6,777 คน ผู้ป่วยหนัก 678 คน ตาย19 ศพ ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ยังได้แค่ 42.8% นายกฯขอบคุณคนไทยที่ยังเข้มมาตรการสาธารณสุขป้องกันตัวเองมากขึ้น แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการแล้วก็ตาม
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า
พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2,328 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศ 2,325 ราย ติดเชื้อผู้เดินทางต่างประเทศ 3 ราย ติดเชื้อเข้าข่ายจากเอทีเค 6,777 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,306,670 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,530,105 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,043 ราย หายป่วยสะสม 2,305,922 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,474,416 ราย
ส่วนผู้เสียชีวิตมี 19 คน เสียชีวิตสะสม 9,002 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 รวม 30,700 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 24,989 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 10,252 ราย โรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 14,737 ราย อาการหนัก 678 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 298 ราย ตัวเลขอัตราครองเตียงระดับ 2-3 คือ 10.90%
สำหรับผู้เสียชีวิต 19 ราย แบ่งเป็นชาย 12 ราย หญิง 7 ราย แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 4 ราย เลย 2 ราย สมุทรสาคร ขอนแก่น ศรีสะเกษ นครราชสีมา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ชุมพร นครศรีธรรมราช ชลบุรี ตราด และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โรคไต โรคอ้วน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ป่วยติดเตียง
ศบค.ยังรายงานความคืบหน้าการฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564- 2 กรกฎาคม 2565 รวม 140,000,283 โดส จำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 57,000,043 ราย คิดเป็น 81.9% เข็มที่ 2 สะสม 53,210,266 ราย คิดเป็น 76.5% และเข็มที่ 3 สะสม 29,789,974 ราย คิดเป็น 42.8%
รพ.จุฬาฯห้ามเยี่ยม-เหตุผู้ป่วยโควิดพุ่ง
วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ออกประกาศ เรื่อง ปรับมาตรการการเฝ้าไข้และงดเยี่ยมผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ระบุ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะนี้เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ป่วยและบุคลากร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงให้ปรับมาตรการการเฝ้าไข้และงดเยี่ยมผู้ป่วย ดังนี้ 1.งดเยี่ยมไข้ผู้ป่วยทุกหอผู้ป่วย 2.อนุญาตให้มีผู้เฝ้าไข้ประจำ 1 คนต่อผู้ป่วย 1 ราย โดยผู้เฝ้าไข้ต้องดำเนินการตามมาตรการคัดกรองของโรงพยาบาลฯและ3.เจ้าหน้าที่ที่เข้าปฏิบัติงานในห้องผู้ป่วยต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2565 เป็นต้นไป
โพลชี้ประชาชนยังเข้มป้องกันตัวเอง
ด้านน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พอใจผลสำรวจล่าสุดของอนามัยโพล โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “แนวโน้มพฤติกรรมการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรค”ที่พบว่า ประชาชนสวมหน้ากากเมื่อเข้าสถานที่ปิด เมื่อใกล้ชิดผู้ป่วย ผู้มีความเสี่ยงสูง หรือร่วมกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันหนาแน่น เพิ่มขึ้นจากร้อยละ89.7 เป็นร้อยละ91 ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้ง เมื่อสัมผัสวัตถุหรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ89.8 เป็นร้อยละ 91 และคัดกรองตนเองเมื่อมีอาการ หรือเมื่อมีความเสี่ยงด้วย ATK เพิ่มขึ้นจากร้อยละ81.4 เป็น 83.5 สะท้อนว่า แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 มากขึ้นตามลำดับ แต่ประชาชนยังคงป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
นายกฯขอบคุณปชช.ยังการ์ดไม่ตก
น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า นายกฯขอบคุณคนไทยที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19 โดยถือว่ายังยกการ์ดสูง แม้สถานการณ์ติดเชื้อในประเทศจะลงลดมากแล้ว แต่การระมัดระวังป้องกัน ยังจำเป็นต่อความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง รวมถึงเป็นแนวทางเพื่อลดจำนวนติดเชื้อในประเทศได้ดีด้วย วิธีง่ายที่สุดคือ สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่าง หมั่นตรวจสอบตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ของโรค นายกฯขอให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ให้รีบมาฉีดวัคซีนเพิ่มเพื่อสร้างภูมิต้านทาน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป , ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง , หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตสูง โดยวัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยลดอาการรุนแรงหากติดเชื้อ อีกทั้ง ยังเพิ่มภูมิต้านทานป้องกัน
‘สุริยะ’ไม่รอด-ป่วยหลังทัวร์เชียงใหม่
ขณะที่นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม โดยมีอาการเล็กน้อย และเข้ากระบวนการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ โดยแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตามไทม์ไลน์ทราบแล้ว ยืนยันว่าไม่กระทบการทำงาน พร้อมทำงานแบบ work from home เฝ้าดูอาการจนกว่าแพทย์จะยืนยันให้ปฏิบัติงานตามปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงาสนว่า ก่อนหน้านี้ นายสุริยะได้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ร่วมงาน “เอฟทีไอ เอ็กโปร์ 2022” ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมทั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายคนไปร่วมงานด้วย
ศูนย์จีโนมฯเผยผลวิจัยBA.4และBA.5
วันเดียวกัน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลในเพจเฟซบุ๊กศูนย์จีโนมฯ เกี่ยวกับคำถามสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4และฺBA.5และไวรัสฝีดาษลิง ข้อความระบุว่า คำถามที่สอบถามศูนย์จีโนมฯ เกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5และไวรัสฝีดาษลิง คำถาม-ตอบที่ 7 Q7: สรุปได้หรือไม่ว่า BA.4และBA.5มีการระบาดที่รวดเร็วและก่อโรคโควิด-19 ที่รุนแรงมากหรือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้A7: ข่าวดี! ล่าสุดจากการศึกษาของแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นประเทศแรกที่มีการระบาดของ BA.4 และ BA.5พบความรุนแรงของโควิด-19 (disease severity) ระหว่าง BA.1, BA.4, และ BA.5 ไม่ต่างกัน นอกจากนี้ยังบ่งชี้ว่าการระบาดสองระลอกของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1/BA.2 และ BA.4/BA.5 มีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าการระบาดของสายพันธุ์เบตา และเดลตาที่มีการระบาดมาก่อนหน้านี้
การระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยในประเทศแอฟริกาใต้ในช่วง 2ปีที่ผ่านมา ในประเทศแอฟริกาใต้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ที่น่ากังวลโอไมครอน (variant of concern) ได้อุบัติขึ้นเป็นประเทศแรก มีอัตราการติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ต่อมาเดือนพฤศจิกายนพ.ศ.2564 ถึงมกราคมพ.ศ.2565 มีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 เป็นครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญในแอฟริกาใต้ ในไม่ช้าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2ได้ระบาดเข้ามาแทนที่ BA.1 โดยไม่ได้เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต จากนั้นเริ่มมีการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เข้ามาแทนที่ BA.1และ BA.2 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงมิถุนายน 2565 ขณะนี้ในประเทศแอฟริกาใต้การระบาดของ BA.4/BA.5 ถือได้ว่าเริ่มลดลง
ไม่แตกต่างจากโอมิครอน-เดลต้า
อัตราการเจริญ หรือ growth advantage (คำนวณจากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสในช่วงเวลาต่างๆ) บ่งชี้ว่า BA.4/BA.5 มีความได้เปรียบในการเจริญเติบโตเหนือกว่า BA.2 และมีการกลายพันธุ์หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากแอนติบอดีและวัคซีนเช่นเดียวกับ BA.2 การกลายพันธุ์บางตำแหน่งของส่วนหนามแหลมไปเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา การกลายพันธุ์บางตำแหน่งของหนามก็ไปเหมือนกับสายพันธุ์ อัลฟา เบตา แกมมา และที่สำคัญ WHO ได้รับรายงานจากทั่วโลกถึงการระบาดเพิ่มจำนวนของ BA.4 และ BA.5
ผลการศึกษาการระบาดของ BA.4/BA.5 และความรุนแรงของโควิด-19 (disease severity) ในประเทศแอฟริกาใต้ ศึกษาจากผู้ป่วยจำนวน 190,836 ราย จากการระบาดของโควิด-19 ใน 3 ระลอกแรก (สายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น เบตาและเดลตา) เทียบกับผู้ป่วยจำนวน 3,793 รายจากการติดเชื้อ BA.4/BA.5 พบว่าอัตราผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตระหว่างช่วงการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 กับในช่วงของระบาดของสายพันธุ์ย่อย BA.1ไม่แตกต่างกันและอัตราผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตยังน้อยกว่าการระบาดของโควิด-19ใน 3 ระลอกแรก
ทีมวิจัยไม่ได้เปรียบเทียบ BA.4/BA.5 กับBA.2โดยตรง เพราะสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศแอฟริกาใต้เป็น BA.1 มี BA.2 ระบาดไม่มาก อย่างไรก็ดี มีการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นความรุนแรงของการเจ็บป่วยระหว่าง BA.2 และ BA.1 ที่ไม่แตกต่างกัน สรุปผลการศึกษาพบว่า ประชากรของประเทศแอฟริกาใต้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อตามธรรมชาติ ซึ่งภูมิคุ้มกันทั้งสองประเภท สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ.และการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ผู้ติดเชื้อรุนแรงต้องเข้ารักษาตัวใน รพ แต่ไม่เสียชีวิตในช่วงของการระบาดของแต่ละสายพันธุ์ สายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น ไม่มีข้อมูล% สายพันธุ์เบตา3.5% สายพันธุ์เดลตา 3.0% สายพันธุ์โอไมครอน ระบาดระลอกแรก สายพันธุ์ย่อย BA.1/BA.2 1.7% สายพันธุ์โอไมครอน ระบาดระลอกสอง สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 1,6% ผู้ติดเชื้อรุนแรงเสียชีวิตในช่วงการระบาดของแต่ละสายพันธุ์ สายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น5.3 % สายพันธุ์เบตา6.9% สายพันธุ์เดลตา6.4% สายพันธุ์โอไมครอน ระบาดระลอกแรก สายพันธุ์ย่อย BA.1 2.5% สายพันธุ์โอไมครอน ระบาดระลอกสอง สายพันธุ์ย่อยBA.4/BA.5 1.9%
ฉีดวัคซีนโควิด3เข็มช่วยป้องกันได้
การศึกษาในแอฟริกาใต้บ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น“อย่างน้อย3โดส”ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่จะมีขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา แนะนำให้บริษัทวัคซีนทำการพัฒนาวัคซีน “เจเนอเรชัน 2” มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ BA.4 และ BA.5 เป็นต้นแบบ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ดีกว่าการใช้ไวรัสดั้งเดิม อู่ฮั่น หรือโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) เป็นต้นแบบ อย่างไรก็ดีต้องเน้นย้ำว่าความรุนแรงโรคโควิด-19 ในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันเนื่องจำนวนผู้สูงอายุและจำนวนกลุ่มผู้เปราะบาง (608) อันเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ในแต่ละประเทศมีจำนวนไม่เท่ากัน เช่น ประชากรใน ประเทศโปรตุเกส ประเทศไทย และประเทศแอฟริกาใต้ ประชาชนมีอายุเฉลี่ยแตกต่างกันคือ 82,77,และ64 ตามลำดับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เพจเฟซบุ๊กศูนย์จีโนมฯได้เผยแพร่ความเห็นของ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ ที่ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 ไม่กระทบต่อการเตรียมปรับโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากในต่างประเทศที่พบการระบาด อัตราการเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นแม้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในบางประเทศ ขณะที่ยังต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นไปได้ว่า ยังไม่ถึงจุดระบาดสูงสุด ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เช่น เข็มที่ 4 ในกลุ่มผู้เปราะบางอาจรับได้ทันที ส่วนผู้ที่ร่างกายแข็งแรงและรับวัคซีนมาครบ 2-3เข็ม อาจจะชะลอเพื่อรับวัคซีนรุ่นใหม่ ที่สามารถรับมือการกลายพันธุ์ได้ ขณะที่ แม้จะมีการผ่อนปรนให้ถอดหน้ากากอนามัย แต่ในที่แออัดหรือมีคนจำนวนมาก ยังควรต้องสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด