ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังหารือด้านการเกษตรกับนายคริส ทีนนิ่ง ผู้ช่วยปลัดด้านการค้าและการต่างประเทศ กระทรวงเกษตร น้ำ และสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย พร้อมคณะ โดยมีนายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผอ.สำนักการเกษตรต่างประเทศ ร่วมหารือ ว่าปีนี้จะครบรอบ 70 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและออสเตรเลีย อันส่งผลให้ความร่วมมือภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าการค้าและส่งเสริมความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกัน ตลอดจนประเด็นการจัดการกับโรคระบาดต่างๆ ทั้งในพืชและสัตว์ ซึ่งประเทศไทยใส่ใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าว่า สินค้าเกษตรของไทยมีความปลอดภัยแน่นอน
ขณะเดียวกัน ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำความรู้จักประธานร่วมของการประชุมที่สำคัญ 2 การประชุม ซึ่งออสเตรเลียจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 ที่ประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ การประชุมคณะทำงานร่วมด้านวิชาการเกษตร ไทย-ออสเตรเลีย (Joint Working Group on Agriculture : JWGA) ครั้งที่ 22 ซึ่งมี ดร.ทองเปลวกองจันทร์ และนายคริส ทีนนิ่ง เป็นประธานร่วม และการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร (Sanitaryand Phytosanitary Measures (SPS) Expert Group) ซึ่งมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ และนายคริส ทีนนิ่ง เป็นประธานร่วม โดยฝ่ายไทยได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมและหวังว่าจะสามารถเร่งผลักดันการเปิดตลาดเป็ดปรุงสุกของไทยและอโวคาโดของออสเตรเลีย ที่คาดว่าจะมีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่ายในการประชุมดังกล่าว ซึ่งจะถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและออสเตรเลีย
ดร.ทองเปลวกล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เป็นประธานการประชุม หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับความร่วมมือและสนับสนุนประเด็นต่างๆ ที่ฝ่ายไทยจะผลักดันในการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปก และในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 จะมีการรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปก และแผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหาร มุ่งสู่ปี ค.ศ. 2030 โดยฝ่ายไทยต้องการผลักดันประเด็นต่างๆ ในปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปก อาทิ การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Economy : BCG Model) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มีความยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม นโยบายความมั่นคงอาหารของไทย โดยรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบาย BCG และถือเป็นนโยบายแห่งชาติ (National Agenda) ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการประชุม COP 26 และการบรรลุเป้าหมาย SDGs และยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอีกด้วย