ภาษาไทย ถือได้ว่าเป็นทั้งมรดกทางวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจของคนไทย เป็นภูมิปัญญาที่บรรพชนได้สร้างไว้และถ่ายทอดสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้ จากการสังเกตการณ์ของคนที่อยู่ในแวดวงการใช้ภาษาไทยมาหลายสิบปีได้เห็นว่าคนไทยในทุกวันนี้จำนวนไม่น้อยนั้นขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องและเหมาะสม การใช้พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ในภาษาไทยนั้นผิดเพี้ยน เนื่องจากไม่รู้ว่ามีสระและวรรณยุกต์ของภาษาไทยมีกี่รูป กี่เสียง การสะกดผิดเห็นได้ทั่วไป บางคนก็พูดภาษาไทยคำภาษาอังกฤษคำ และที่น่าเป็นห่วงคือ สังคมเริ่มชิน เห็นเป็นเรื่องธรรมดา คนหมู่มากเริ่มปล่อยปละละเลยไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องแก้ไข จนมีการใช้ผิดๆ กันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การเรียนการสอนภาษาไทย ก็ยังคงดำเนินอยู่ในโรงเรียน แต่ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สื่อมวลชน สื่ออินเตอร์เนต โรงเรียน ครอบครัว และบุคคลสาธารณะ มีอิทธิพลเหนือกว่า อย่างไรก็ตามถึงแม้คนรุ่นใหม่ สังคมยุคใหม่ให้ความสำคัญในภาษาไทยน้อยลงแต่ภาษาไทยเป็นสิ่งที่หาค่ามิได้ เป็นสมบัติของชาติ จึงเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ และสืบทอดไปสู่คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างถูกต้อง ภาษาไทยควรมีการใช้อย่างมีหลักการ ใช้ให้ถูกกาลเทศะ สถานที่ถูกบุคคล ต้องชัดเจนทั้งการออกเสียงและใช้ประโยค ถูกต้องตามความหมาย และบริบทของภาษา
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันสนับสนุน ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไปอีกทั้งปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาถึงปัจจุบันครบ 60 ปี
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะหน่วยงาน ด้านการสืบสานรักษาและต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดงานวันภาษาไทยขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อเผยแพร่ความรู้และอนุรักษ์ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ อาทิ การคัดเลือกปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยและคัดเลือกเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน
การประกวดคำขวัญวันภาษาไทยแห่งชาติ การประกวดเพลงแร็พ “รักนะจ๊ะ ภาษาไทย” เป็นต้น โดยส่วนกลาง วธ. กำหนดให้จัดงานวันภาษาไทยขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนคนไทยตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทยและร่วมใจธำรงรักษาภาษาไทยไว้เป็นเอกลักษณ์ของชาติไม่ใช่หน้าที่ของวธ. อย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน และทุกภาคส่วน อาทิ สถาบันครอบครัว พ่อ แม่ ผู้ปกครองที่เป็นบุคคลใกล้ตัวและมีบทบาทสำคัญที่สุดที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่บุตรหลาน ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเพราะจะช่วยในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก สถาบันการศึกษา ครู อาจารย์บุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้อง มีส่วนสำคัญในการเป็นแบบอย่างการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องปลูกฝังให้เด็กเกิดความรักหวงแหนภาษาไทย ตลอดจนภาครัฐและภาคเอกชนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และใช้ให้ถูกต้องร่วมทั้งอนุรักษ์ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติอย่างยั่งยืน
เกิดเป็นคนไทยควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง นอกจากจะสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจตามความต้องการได้แล้ว ภาษาไทยยังแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรมที่ลูกหลานควรภาคภูมิใจ และเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
ชนิตร ภู่กาญจน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี