นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผอ.สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังโรคใบจุดหรือใบจุดตากบ สาเหตุจากเชื้อรา Cercospora lactucae-sativae ทำลายผลผลิตผักสลัดทุกระยะการเจริญเติบโต โดยเฉพาะผักที่มีใบกว้าง เช่น กรีนคอส บัตเตอร์เฮดโดยเริ่มแรกแผลมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน ต่อมาแผลขยายใหญ่มีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้น กลางแผลมีสีเทาหรือสีขาว ขอบแผลมีสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายตากบ แผลมีหลายขนาดตั้งแต่จุดเล็กถึงจุดใหญ่ ขนาด 1-10 มิลลิเมตร เกิดกระจายทั่วใบ ถ้าอาการรุนแรงแผลจะลามขยายติดกันทำให้ใบไหม้ หากเกิดกับใบอ่อนอาจทำให้เกิดอาการใบหงิกงอ
สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดให้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค หรือฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ด โดยแช่ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20-25 นาที และก่อนการปลูกควรไถพรวนดินลึกๆ ทิ้งไว้อย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้เศษซากพืชและวัชพืชย่อยสลาย จัดการแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี ควรมีอากาศถ่ายเท หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอเมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเช่น เบโนมิล 50% WP อัตรา 12 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% WP อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีถ้าพบโรคระบาดรุนแรง ให้ปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียนอย่างน้อย 3 ปี
นายศรุตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด อาจถูกการทำลายจากโรคเน่าเละ โดยอาการเริ่มแรกแผลมีลักษณะเป็นจุดฉ่ำน้ำเล็กๆ บนใบหรือบริเวณลำต้น ต่อมาแผลจะขยายลุกลาม เนื้อเยื่อพืชบริเวณแผลจะยุบตัวลง มีเมือกเยิ้ม มีกลิ่นเหม็น ก่อนเน่าทั้งต้น โรคนี้พบระบาดมากในฤดูฝน