ในการแถลงข่าวของ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสม. ได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายยุวพัฒนาสังคม (Social Fix) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ระบุว่า พบปัญหาการละเมิดสิทธิและสวัสดิภาพของนักเรียน นิสิต นักศึกษาระหว่างการฝึกงาน เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการฝึกงาน
การเจ็บป่วยจากการฝึกงาน และการให้ฝึกงานเกินกว่าเวลาที่กฎหมายแรงงานกำหนด โดยปัญหาดังกล่าวมีหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคุ้มครองเป็นการเฉพาะ ประกอบกับการดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายทั่วไปใช้เวลานานและไม่ครอบคลุมอุบัติเหตุหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฝึกงาน จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้เรียนที่เป็นเด็กโดยที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ได้ให้การรับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษาที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์และความสำนึกในศักดิ์ศรีของตนอย่างบริบูรณ์ และจะต้องเพิ่มพูนการเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อให้บุคคลได้เข้าถึงสิทธิในการศึกษาตลอดจนสิทธิในการได้รับคำแนะนำทางเทคนิควิชาชีพในเด็กจะต้องคำนึงถึงสิทธิของเด็กเป็นสำคัญโดยเฉพาะสิทธิที่จะได้มีเวลาพักผ่อน ได้มีเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมการละเล่นทางสันทนาการที่เหมาะสมตามวัยดังที่ได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
กสม. เห็นว่า แม้การฝึกงานซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะของผู้เรียน จะไม่ใช่นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาการจ้างงานซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน แต่สถานประกอบการยังคงมีหน้าที่จัดสภาพการทำงานให้มีความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ฝึกงานตามกฎหมาย ประกอบกับกรณีการฝึกงานในลักษณะการฝึกอบรมฝีมือแรงงานก็จะต้องจัดสวัสดิการให้กับผู้เข้ารับการฝึกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงแรงงานเช่นกัน
ขณะที่สถานศึกษาก็เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ควบคุมและประสานงานกับสถานประกอบการในการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของนักศึกษา โดยเฉพาะกรณีการจัดให้มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ สิทธิในการได้รับการพักผ่อน เวลาว่างและข้อจำกัดที่สมเหตุผลในเรื่องเวลาด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า การจัดการฝึกงาน ฝึกอาชีพ และฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานศึกษาในปัจจุบัน
พบว่า ในระดับการอาชีวศึกษามีเพียงแนวปฏิบัติการดำเนินการฝึกงาน และมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลให้การจัดการฝึกงาน หรือฝึกอาชีพในการเรียนการสอนระดับการอาชีวศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร โดยมีสาระเพียงบางส่วนที่ได้กำหนดถึงการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพของนักเรียน นักศึกษาในระหว่างการฝึกงานเท่านั้น
เช่นเดียวกันกับกรณีการฝึกงาน หรือฝึกประสบการณ์วิชาชีพในระดับการอุดมศึกษาซึ่งแม้จะมีคู่มือการฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่จัดทำโดยสถาบันการศึกษา แต่ก็มิได้กำหนดแนวทางการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เรียนในระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือฝึกงานตามหลักสูตรสหกิจศึกษาเป็นการเฉพาะ อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานประกอบการ พ.ศ. 2565
เพื่อกำหนดข้อปฏิบัติในการดูแลและคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เรียนในระหว่างการฝึกงานและฝึกอบรมวิชาชีพ โดยอยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ประกอบกับผู้ร้องได้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยแล้ว ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานการส่งนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษาได้รับการคุ้มครองในระหว่างการฝึกงาน
และให้กระทรวงแรงงาน และกรมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลการดำเนินการของผู้ประกอบการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดดังกล่าว กรณีดังกล่าวจึงถือว่ามีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและคุ้มครอง
สิทธิมนุษยชน กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะสรุปได้ดังนี้
1.ให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษา เร่งดำเนินการให้มีการประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษา และการฝึกอบรมวิชาชีพ ในสถานประกอบการ พ.ศ. 2565 ตลอดทั้งควบคุมให้สถานศึกษาและสถาบันอาชีวศึกษาปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนเด็ก ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี
2.ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของนิสิต นักศึกษาในระหว่างฝึกงานเป็นการเฉพาะ กำหนดช่องทางรับเรื่องร้องเรียน และมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยานิสิต นักศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากการฝึกงานในสภาพการฝึกงานที่ไม่เหมาะสม หรือถูกละเมิดต่อสิทธิและสวัสดิภาพ โดยการดำเนินการ,กำหนดมาตรการดังกล่าวควรรับฟังความเห็นจากนิสิตนักศึกษา และผู้ที่มีประสบการณ์การฝึกงานด้วย
และ 3.ให้กระทรวงแรงงานกำชับให้กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานควบคุม กำกับการดำเนินการของสถานประกอบการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการฝึกงานที่ได้มีการปรับปรุงตามหนังสือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ที่ รง 0502/ว6417 ลงวันที่ 17 ต.ค. 2562
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี