“ศธจ.” ร้องศธ.เสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ขณะที่ “ตรีนุช” ชี้ พ.ร.บ.การศึกษาชาติฉบับใหม่ต้องมี “ศธจ.-ศธภ.” เป็นผู้แทนศธ.
วันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มผู้แทนศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) นำโดย นายณัทชัย ใจเย็น ศธจ.นนทบุรี และคณะ ได้เข้าพบ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอให้ศธ.เสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ .... ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญฯ
โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ถือเป็นกฎหมายสำคัญ เหมือนเป็นธรรนูญของการศึกษา รัฐบาลใช้เวลากว่า 5 ปีในการยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้รับหลักการในวาระที่ 1 แล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญฯ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกัน จนถึงจุดที่เห็นว่า ต้องมีการทบทวน โดย ศธ. ถือเป็นหน่วยปฏิบัติ ซึ่งมีหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ประกอบกับได้รับเสียงสะท้อน จากหลายหน่วยงาน รวมถึง ศธจ. และศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ที่มีข้อกังวล บางมาตราที่อาจส่งผล กระทบให้บางหน่วยงานอาจจะถูกยุบเลิก ทำให้การบูรณาการทำงานในพื้นที่มีปัญหา
“ทาง ศธจ.ได้นำข้อกังวล ในมาตรา 3 ที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. อาจส่งผลให้ต้องยกเลิก ศธจ. และศธภ. กระทบต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการภาคทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของ ศธ.เห็นว่ายังจำเป็นต้องมีหน่วยงานนี้อยู่ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่จะบูรณาการในการทำงานร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดพัฒนาการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามบริบทของพื้นที่ และหากต้องยุบ ศธจ.และศธภ. ไปก็จะกระทบทั้งกับบุคลากรที่ได้รับความเดือนร้อนหลายพันคน รวมถึงกระทบกับการทำงานพัฒนาการจัดการศึกษาในพื้นที่ด้วย โดยที่ผ่านมาได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รวบรวมความคิดเห็น เพื่อเสนอให้ กมธ.วิสามัญฯ พิจารณา ปรับแก้ให้เหมาะสมต่อไป“ น.ส.ตรีนุชกล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศก์ ก็ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ต่อไปจะไม่มีเงินวิทยฐานะให้แก่กลุ่มดังกล่าว ซึ่ง ศธ.เห็นว่าจำเป็นที่ต้องปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อให้ทุกคนได้คงสิทธิตามเดิม พร้อมกันนี้ยังมีอีกหลายมาตราที่จำเป็นต้องปรับปรุง เช่น การให้โรงเรียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล ที่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ
ด้านนายณัทชัย กล่าวว่า ส่วนตัวมั่นใจในตัว รัฐมนตรีว่าการศธ. แต่ยังกังวล เพราะการเมืองยังไม่มีความแน่นอน ดังนั้นหลังจากนี้ตัวแทน ศธจ.จะไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ผู้นำฝ่ายค้าน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณายกร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ถึงการบริหารราชการเชิงพื้นที่จังหวัดเป็นฐานให้สามารถทำงานต่อไปได้
“ขณะนี้มีผู้ร่วมลงชื่อขอให้แก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วกว่า 4,437 คน ซึ่งมีทั้งข้าราชการ บุคากร ศธจ. ศธภ. ลูกจ้าง และบุคาลกรโรงเรียนเอกชน ฯลฯ ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้ประกาศใช้โดยที่ยังไม่ยกเลิก มาตรา 3(10) จะส่งผลให้ ศธจ.และศธภ.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ตามกฎหมาย เพราะกฎหมายที่ให้อำนาจถูกยกเลิก จะกระทบต่อการทำงานในพื้นที่ กศจ. จะไม่สามารถอนุมัติเรื่องต่าง ๆที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ การจัดการศึกษาในรูปแบบโฮมสคูล ที่ให้อำนาจ กศจ.ในการอนุมัติ จะหยุดชะงักทันที การจัดการศึกษาท้องถิ่น รวมถึงงานที่ได้ทำความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆก็จะต้องยุติทันที ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษาฯ ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เนื่องขาดองค์ประกอบหลัก คือผู้แทนจาก กศจ. ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนขั้นเงินเดือน การเลื่อนวิทยฐานะต่าง ๆก็ไม่สามารถทำได้ เพราะองค์ประชุมไม่ครบ” นายทัตชัย กล่าว