สธ.ย้ำโควิดขาขึ้น
จี้รพ.ลุยฉีดวัคซีน
ปชช.ต้องได้4เข็ม
ก่อนฉลองปีใหม่
สธ.ย้ำโควิดไทยขาขึ้น จี้รพ.ทั่วประเทศรณรงค์ปชช.ฉีดเข็มกระตุ้นแนะอย่างน้อย4เข็ม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง608’บึงกาฬ’ติดเชื้อเพิ่มสัปดาห์ละ200คน สสจ.ตีปี๊บชวนชาวบ้านมารับเข็มกระตุ้นก่อนปีใหม่
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้โควิดอยู่ในช่วงสถานการณ์ขาขึ้น ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ไว้ และแต่ละจังหวัดปฏิบัติตามแผนที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดวางไว้ตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว โดยเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งทุกคนต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4 เข็ม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดการเปิดกิจกรรมกิจการตามปกติ ประกอบกับใกล้ช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงควรมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะขณะนี้โควิดถือเป็นโรคเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตรายอีกแล้ว
นพ.ธเรศกล่าวต่อว่า ขณะนี้ 80% ของผู้ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิตเป็นผู้สูงอายุ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว และยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จึงอยากให้ครอบครัวพามารับวัคซีน ซึ่งปัจจุบันกระจายวัคซีนทั้งไฟเซอร์ และ LAAB ไปในสถานพยาบาลตามต่างจังหวัดแล้ว
ส่วนกรณีพบติดเชื้อในต่างจังหวัด เป็นกลุ่มขนาดเล็กจากการที่มีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ มาเยี่ยมญาติ สามารถมารับบริการในสถานพยาบาลได้ โดยยังคงให้คำแนะนำสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศว่าหากมีอาการเจ็บป่วยก็สามารถรับบริการได้ทันที ส่วนครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยง 608 หากยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ควรเลี่ยงกิจกรรมที่ใกล้ชิดกัน ควรเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากอนามัย
ด้านนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เปิดเผยว่า เชื้อโควิด-19 สามารถคงอยู่ในร่างกายและทำให้เกิดปอดอักเสบซ้ำแล้วซ้ำอีก ในคนที่เคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ แพร่กระจายเชื้อให้คนอื่น ต่อไป ถ้าเป็นไปได้ต้องพยายามกำจัดเชื้อไวรัสในร่างกายของคนเหล่านี้ให้หมดด้วยการให้ยาต้านไวรัสพร้อมกันหลายขนาน ร่วมกับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป
ทั้งนี้ หมอมนูญยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยชาย อายุ 67 ปี เคยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรักษาหายแล้วด้วยเคมีบำบัดเมื่อ 5 ปีก่อน มีปอดอักเสบจากไวรัสโควิดถึง 4 ครั้งในเวลา 4 เดือน โดยผู้ป่วยคนนี้ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 4 เข็ม เป็นแอสตราเซนเนกา 2 เข็ม ไฟเซอร์ 1 เข็ม และโมเดอร์นา 1 เข็ม แต่ตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันในเลือด พบว่าไม่มีภูมิเลย ผู้ป่วยได้รับ Evusheld ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หลังฉีดเข้ากล้าม โดสแรกวันที่ 16 สิงหาคม ผ่านไป 1 เดือนต่อมา ตรวจวัดระดับ Anti spike protein antibody ขึ้นมา 19,876 หลังให้ Evusheld โดสที่ 2 วันที่ 22 ตุลาคมตรวจวัดระดับ Anti spike protein antibody 2 สัปดาห์ต่อมา ภูมิคุ้มกันขึ้นมากกว่า 40,000 AU/m l ติดตามผู้ป่วย 5 สัปดาห์ หลังได้ยาต้านไวรัสโควิด 3 ขนานพร้อมกันคือ เรมเดซิเวียร์ชนิดฉีด แพ็กซ์โลวิด โมลนูพิราเวียร์ ชนิดกิน รวมทั้งภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld ฉีดเข้ากล้ามหลังป่วยเป็นปอดอักเสบครั้งที่ 4 จากโรคโควิด ผู้ป่วยดีขึ้นมาก ตรวจ ATK สัปดาห์ละครั้งติดต่อกัน 4 สัปดาห์ให้ผลลบ เอกซเรย์ปอดล่าสุดกลับมาเป็นปกติ เชื่อว่าการรักษาครั้งนี้ สามารถกำจัดเชื้อไวรัสโควิดในร่างกายให้หมดไปได้ ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป อย่างไรก็ตาม มีรายงานคนไข้ 1 คนในสหราชอาณาจักรป่วยลักษณะเดียวกับผู้ป่วยรายนี้ ได้รับยาเรมเดซิเวียร์คู่กับแพ็กซ์โลวิดแล้วได้ผลดี แสดงว่าการใช้ต้านไวรัสร่วมกันหลายขนานช่วยเสริมฤทธิ์การฆ่าเชื้อไวรัสให้ดียิ่งขึ้น ผลข้างเคียงไม่เพิ่มขึ้น
วันเดียวกัน นพ.ภมร ดรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ แถลงถึงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จ.บึงกาฬว่า ตั้งแต่เข้าหน้าหนาวเดือน พฤศจิกายนเป็นต้นมา แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มสูงขึ้น ภาพรวมของจังหวัดมีผู้ติดเชื้อ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 200-230 ราย เฉลี่ยวันละ 30 ราย เมื่อเข้าเดือนธันวาคม ยอดผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละมากกว่า 300 ราย ล่าสุดคือ 331ราย เฉลี่ยวันละประมาณ 40 รายและจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น จึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มคุ้มกันให้ร่างกายและป้องกันโควิดที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้นช่วงฤดูหนาวปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม 608 กลุ่มนี้ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง หากได้รับเชื้อโควิด อาจทำให้อาการรุนแรง หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงประชาชนกลุ่มทั่วไป หากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานเกิน 3 เดือนแล้วให้ไปเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยสามารถไปรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่ รพ.สต.ทุกแห่ง
นพ.ภมรกล่าวต่อว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของจ.บึงกาฬ ฉีดไปได้เพียง 17 % ของประชากร ถือว่ายังค่อนข้างน้อย สำหรับกลุ่ม 608 ควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุดก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ เพราะจะมีลูกหลานกลับมาจากกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่มาเยี่ยมบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงติดเชื้อสูงขึ้นได้ เนื่องจากรัฐบาลมีการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ คงจะมีการสังสรรค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่กันมากพอสมควร