เครือข่ายประชาชนเหนือ-อีสาน จับมือต้านเขื่อนลุ่มน้ำโขง
26 มกราคม 2566 ที่บริเวณโฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ยังเดินหน้าปกป้องแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกลุ่มรักษ์เชียงของ ซึ่งมีนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” เป็นประธานกลุ่ม ร่วมกับทางเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน และตัวแทนเครือข่ายองค์กร Water Keeper จากต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย กัมพูชา บังกลาเทศ และเนปาล เข้าร่วมการจัดกิจกรรมคู่เคียงของการประชุมสุดยอดแห่งเอเชียของพันธมิตรรักษาน้ำ (Waterkeeper Alliance)
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายฯทั้งหมดได้จัดกิจกรรมนั่งเรือออกสำรวจสภาพความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงตอนบนของประเทศ ระหว่างพื้นที่ อ.เชียงของ กับ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยเฉพาะการสำรวจพื้นที่แก่งคอนผีหลง พื้นที่สำคัญที่ชาวบ้านร่วมกันปกป้องเกาะแก่งแม่น้ำโขง หลังเป็นหนึ่งในจุดที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ระเบิดเกาะแก่ง เพื่อเดินเรือพาณิชย์ของประเทศจีน และมีการสำรวจเกาะแก่งแม่น้ำโขงตลอดแนวเพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ ตลอดจนความเป็นอยู่ของสัตว์และพืชในแม่น้ำโขง
หลังจากนั้นนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานและองค์กร Water keeper ร่วมกันยืนถือป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสนับสนุนการคัดค้านเขื่อนแม่น้ำโขง และอ่านคำประกาศ แถลงการณ์ปกป้องแม่น้ำโขง เลย ชี มูล ร่วมกัน ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการเปิดเวทีเปลี่ยนเรียนรู้ “ก้าวต่อไปของขบวนการประชาชนปกป้องลุ่มน้ำ กับสิทธิแม่น้ำ-ทะเล คืนชีวิตสู่ธรรมชาติ” เพื่อถอดบทเรียนถึงผลกระทบของลุ่มน้ำต่างๆทั้งภาคเหนือ ภาคอีสานและในต่างประเทศ
นายนิวัฒน์ เปิดเผยว่า แม่น้ำโขงในปีนี้ซึ่งเป็นห้วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น เพราะหยุดการเดินเรือพาณิชย์ แต่ยังมีการผันผวนของระดับน้ำ เนื่องด้วยการใช้น้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง จึงทำให้ปีนี้มี “ไก” น้ำโขงเกิดขึ้นมากกว่าทุกปี ปีนี้ทางกลุ่มจึงจะมีการสำรวจความเป็นอยู่ของนกประจำถิ่นว่าได้รับผลการเปลี่ยแปลงมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่ประชาชนยังมีความกังวลเรื่องการก่อสร้างเขื่อนปากแบง หากก่อสร้างจะส่งผลกระทบเพิ่มขึ้นอีก อาจต้องมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านได้รับรู้ร่วมกัน การที่กลุ่มเครือข่ายภาคอีสานและกลุ่ม Water Keeper มาร่วมกันครั้งนี้เป็นปีแรก เพราะได้รับผลกระทบร่วมกันอาจเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้หน่วยงานระดับประเทศเห็นความสำคัญเข้ามาช่วยเหลือโดยเฉพาะการลดทอนอำนาจการควบคุมของแม่น้ำโขงของประเทศจีนลงได้
ด้านนายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสาน กล่าวว่า ภาคเหนืออีสานได้รับผลกระทบคล้ายคลึงกันคือระบบนิเวศน์ที่เปลี่ยนปลงไปหลังจากมีการสร้างเขื่อน น้ำขึ้นลงไม่ปกติ ตะกอนที่เป็นแหล่งอาหารของปลาและสัตว์น้ำหาย ในยามฤดูน้ำหลากน้ำก็ท่วมหนัก ในยามแล้งก็แล้งจัด ทำให้วิถีชีวิตคนริมแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งจะมีการสร้างเขื่อนในประเทศลาว และโครงการผันน้ำโขงเข้าสู่น้ำเลย น้ำชีและน้ำมูล ก็ยิ่งจะทำให้เป็นปัญหาหนัก ภาคเครือข่ายจึงต้องร่วมกับหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบมาร่วมกันปกป้อง ตอนนี้จึงต้อง การหยุดโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงใหม่อีก 11 เขื่อนให้ได้ และเขื่อนที่สร้างแล้วก็ต้องมีการแก้ไข พื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ท้ายสุดคือการให้ภาคประชาชนเข้าไปส่วนในการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
ขณะที่นายอภิสม อินทรลาวัญย์ อาจารย์สำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติไหลผ่านถึง 6 ประเทศ มีความสำคัญในหลายมิติ เป็นแหล่งจับปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปีหนึ่งสามารถจับปลาได้ถึง 2.3 ล้านตัน สร้างความมั่นทางอาหารให้ประชาชนลุ่มน้ำโขงกว่า 60 ล้านคน มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอัน 2 ของโลก ในงานวิจัยผลประโยชน์และต้นทุนพบว่าพลังงานที่ได้จากการสร้างเขื่อนยังได้น้อยกว่าพันธุ์ปลาที่สูญเสียไป นอกจากนี้ยังพบว่าพลังงานประเทศไทยนั้นมีล้น มีพลังงานสำรองถึงร้อยละ 50 ซึ่งการจัดหาพลังงานใหม่ๆ ควรหาพลังงานทางเลือกที่มีผลกระทบน้อย อาทิ การสร้างทุ่นโซล่าลอยน้ำ ซึ่งจะทำให้ลดการสร้างเขื่อนใหม่ๆ และมีต้นทุนในการผลิตที่ถูกกว่า ทุกวันนี้การบริการจัดการน้ำโขงระหว่างผู้ได้ประโยชน์กับผู้เสียประโยชน์ยังไม่สมดุลกัน ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ควรมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม
ด้านนายทิฆัมพร รอดขันเมือง อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า หากมองแม่น้ำโขงในด้านกฎหมายสามารถมองได้ใน 3 มิติ คือ 1. มิติกฎชุมชน 2.มิติกฎหมายระดับประเทศ และ 3. มิติกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ ซึ่งกฎหมายระดับชุมชนจะต้องดูว่าประชาชนสามารถมีส่วนได้เสีย หรือมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแม่น้ำได้จริงหรือไม่ หากไม่ได้จริงจะสามารถแก้กฎหมายเหล่านี้อย่างไร โดยผลักดันไปถึงกฎหมายระดับประเทศให้คนที่ใช้ชีวิตและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงจริง มีส่วนในการจัดการแม่น้ำของพวกเขา
ส่วนประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศแม้จะมีกฎหมายรองรับในด้านต่างๆ แต่ก็ไม่มีหน่วยงานที่นำมาใช้ ควรจะมีองค์กรกลางที่เข้ามาดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ แม้จะมีคณะกรรมการด้านแม่น้ำโขงแต่ก็ไม่ถูกทำงานอย่างจริงจัง แม้จะมีประเทศใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงถึง 4 ประเทศ แต่มีเพียงประเทศเดียวที่ควบคุมแม่น้ำ หรือประเทศต้นน้ำ ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือทำอย่างไรให้มีการลดอำนาจประเทศต้นน้ำในการบริหารจัดการน้ำและควบคุมการใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน