‘ตรีนุช’ จี้ ‘ผอ.สพม.’ เลย-หนองบัวลำภู -ขอนแก่น เพิ่มมาตรการความปลอดภัย-โมเดลแก้โรคซึมเศร้า ทรงผมนักเรียน
8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น(สพม.ขอนแก่น) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเลย-หนองบัวลำภู (ผอ.สพม.เลย-หนองบัวลำภู) และผอ.สพม.ขอนแก่น รวมถึงผู้บริหารการศึกษาและผอ.โรงเรียน เพื่อมอบนโยบายและเน้นย้ำมาตรการเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน ทรงผมนักเรียน โดยมีนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะผู้บริหาร ศธ.เข้าร่วมประชุมด้วย
น.ส.ตรีนุช กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ได้กำชับให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมต่าง ๆในทุกมิติ และต้องมีแผนเผชิญเหตุ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นแล้วการแก้ไขก็ต้องรวดเร็วฉับไวมากกว่านี้ โดยเขตพื้นที่ฯจะต้องลงไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับเด็กและครอบครัวของเด็กอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และทางเขตพื้นที่ฯและโรงเรียนจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงว่าในเขตพื้นที่ฯหรือโรงเรียนของเราอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด นอกจากนี้ได้ให้หามาตรการในการแก้ไขปัญหาภาวะซึงเศร้าของนักเรียนเนื่องจากประสบปัญหาสังคมและปัญหารอบครัว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ มีโครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย ซึ่งก็ทำอยู่ดังนั้น จึงกำชับให้เขตพื้นที่การศึกษาเฝ้าระวังกลุ่มเด็กเปาะบางที่มีภาวะซึงเศร้าและให้ประสารกับทางสาธารณสุขพื้นที่คอยดูแลนักเรียนกลุ่มเปาะบางให้สามารถเรียนหนังสือและอยู่ในสังคมได้
น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้เน้นย้ำถึงการยกเลิกระเบียบ ศธ.ที่เกี่ยวกับทรงผมนักเรียน เพื่อกระจายอำนาจให้สถานศึกษาร่วมกับผู้เกี่ยวข้องออกกฎระเบียบทรงผมเป็นของแต่ละโรงเรียนเอง ส่วนที่ใดเห็นว่าดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ที่ใดอยากปรับก็มีความยืดหยุ่นเหมาะกับพื้นที่หรือวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นก็สามารถปรับเปลี่ยนได้โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมในการช่วยพิจารณาแก้ไข จึงขอให้ทางสำนักงานเขตพื้นที่ฯช่วยสร้างการรับรู้กับสถานศึกษาในเขตพื้นที่ของนะเองรับทราบถึงแนวปฏิบัติมากยิ่งขึ้น
“ส่วนกรณีครูโรงเรียนใน จ.เพชรบูรณ์ จับกรรไกรกล้อนผมนักเรียนหน้าเสาธง จนผมแหว่งไม่น่าดู เศษผมตกเกลื่อนลานหน้าเสาธงของโรงเรียนนั้น สิ่งที่ครูปฏิบัติแบบนั้นไม่เหมาะสมอยู่แล้ว เพราะ ศธ. มีแนวทางการลงโทษนักเรียนตามระเบียบ ศธ. ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548 เพียง 4 อย่างเท่านั้น ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากเด็กทำอะไรผิดลงโทษ ตามขั้นตอนแต่การที่ครูไปกล้อนผมเด็กนั้นไม่ควรและเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ทางเขตพื้นที่ฯ ได้ตั้งคณะกรรมการฯสอบครูรายดังกล่าวแล้ว คาดว่าภายใน 2-3 วันจะทราบผล และเมื่อผลออกมาแล้วก็ให้ปฏิบัติตามระเบียบ ขอเน้นย้ำว่าครูทุกคน หากพบเด็กทำผิดระเบียบก็ควรจะปฏิบัติตามระเบียบ ไม่ควรไปกล้อนผมเด็ก” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า จากที่มีนักเรียนใน จ.ขอนแก่น โดดตึก เนื่องจากมีภาวะซึมเศร้านั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงรับนโยบายของ รมว.ศธ.ในการให้หวัดขอนแก่น เป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าในวัยเรียนของนักเรียน โดยเฉพาะในโรงเรียนมัธยมทั้งหมดทั่วประเทศ โดยจะมีขบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) มาร่วมสร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหา จากนั้นจะมีการสำรวจว่าแต่ละพื้นที่มีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเปาะบางจำนวนเท่าใด และจะมีวิธีการเยียวยาป้องกันรักษาอย่างไร เพราะไม่อยากให้มีเด็กคนใดต้องเจ็บป่วยโรคซึมเศร้านี้ ซึ่งคิดว่าจะเป็นกันมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงต้องเร่งหาทางป้องกัน
“วิธีแก้ปัญหาเราคงตัดเสื้อตัวเดียวแล้วแก้ปัญหาทั้งประเทศไม่ได้ แต่เราอยากเห็นโมเดลกลาง เมื่อได้โมเดลแล้วก็ให้แต่ละเขตพื้นที่ฯนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ เพราะถ้าเราไม่มีโมเดลกลางเลยเราก็ไม่รู้ว่าต้นทุนที่จะทำนั้นคืออะไร” นายอัมพร กล่าว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี