วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ในประเทศ
เปิดวิสัยทัศน์‘ประมุข เจิดพงศาธร’ มองเศรษฐกิจ‘สหรัฐอเมริกา’ และโอกาสของ‘ข้าวหอมมะลิไทย’

เปิดวิสัยทัศน์‘ประมุข เจิดพงศาธร’ มองเศรษฐกิจ‘สหรัฐอเมริกา’ และโอกาสของ‘ข้าวหอมมะลิไทย’

วันจันทร์ ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
Tag : ประมุข เจิดพงศาธร
  •  

ไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นด้าน “อาหาร” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ข้าว” จากยอดการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในทุกปี และโดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ที่มีชื่อเสียงในระดับสากล ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงาน “นสพ.แนวหน้า”มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายประมุข เจิดพงศาธร ประธานบริษัท PJUS GROUP, USA นักธุรกิจชาวไทยผู้จัดหาสินค้าไทยส่งให้กับห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐอเมริกาเนื่องในโอกาสที่ คุณประมุข เดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อหารือกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ในการนำข้าวหอมมะลิที่มีตราเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย “(Thai Hom Mali Rice)” โดยกรมการค้าต่างประเทศบุกตลาดสหรัฐฯ

- ก่อนอื่นอยากให้ท่านแนะนำว่า บริษัทของท่านทำอะไรบ้าง? : ตอนนี้ทำข้าวทุกชนิด ข้าวแบรนด์ Premium Queen Elephant ข้าว Long Grain Rice ก็คือข้าวขาว ข้าวขาวกล้อง ข้าวนึ่ง แล้วก็มาข้าวหอมประเภทธรรมดา ก็คือใช้ข้าวหอมปทุม แล้วก็ข้าวหอมมะลิพรีเมียม ข้าวนี่ผมใช้ 2-3 โรงงาน เพราะทางเป้าหมายเราคิดจะทำ 1,000 ตู้ หรือประมาณ 2 หมื่นตัน แล้วต่อไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 หมื่นตัน


แล้วตัวอื่นที่ผมทำก็คือสินค้าเกี่ยวกับมะพร้าว ก็มีน้ำมะพร้าว มีกะทิ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายพอสมควร เนื้อมะพร้าวก็ยังนำมาทำมะพร้าวอบแห้ง อีกหลายๆ ชนิดต่อๆ มาหลังจากน้ำมะพร้าวเรายังมีทำเครื่องดื่มชนิดอื่น พวกน้ำว่านหางจระเข้ น้ำมะขาม น้ำแตงโม แล้วกำลังจะเพิ่มไปเป็นชาเขียว แล้วอาหารกระป๋องก็ตั้งแต่สับปะรด ฟรุ๊ตสลัด ฟรุ๊ตค็อกเทล มีพวกมะม่วง ก็เป็นส่วนของกระป๋องทั้งสิ้น แล้วก็มาสัก 3 ปีนี้ก็เป็นของขบเคี้ยว

- อะไรทำให้ท่านมาสนใจและอยากส่งเสริมข้าวหอมมะลิอย่างจริงจัง? : ก็คือข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ ในส่วนนี้ทำไมเขาถึงเน้นคำว่าทุ่งกุลาร้องไห้? ผมก็บังเอิญไปค้นพบ เราก็ชอบศึกษา ชอบถาม ว่าแล้วทุ่งกุลาร้องไห้มันดีอย่างไร? ก็บังเอิญวันหนึ่งผมอยู่กรุงเทพฯ นี่ละ ผมก็ถามแท็กซี่ว่ารายได้เป็นอย่างไรบ้าง? ตั้งแต่เข้ามาจนถึงปัจจุบัน เจอลุงคนนี้แกบอกว่าขับแล้วได้ 2,100 บาท ผมถามว่าต้องเสียค่าเช่าไหม? เขาบอกไม่! เพราะเป็นรถของเขาเอง ขับวันละกี่ชั่วโมง? เขาบอก 14 ชั่วโมง ไม่หยุดสักวัน

เราก็นึกในใจ เราก็ทำงานเยอะแล้วนะ ก็เท่ากับเป็นการเสริมสร้างกำลังใจเสียด้วยซ้ำไป แต่ทีนี้คือข้าวออร์แกนิก เท่าที่ทราบคือข้าวหอมมะลิปลูกกันอยู่แถว จ.ร้อยเอ็ด คนขับแท็กซี่ก็บอกว่าแกขับรถปีหนึ่งต้องกลับบ้านไปเพื่อที่จะไปดำนา หมายความว่าแกมีนาของตัวเอง ผมถามเรื่องดำนาเขาก็บอกว่าอันนี้เก็บไว้กินเอง แต่ในขณะเดียวกัน ที่ของแก 7-8 ไร่ แล้วก็ส่วนอื่นซึ่งไม่ใช่ของแก แกบอกว่าเขาใช้นาหว่าน ใช้เครื่องจักรหมดแล้ว ไม่ต้องมานั่งดำนาทีละต้นเหมือนในอดีต

เราก็เลยมาถึงบางอ้อ เขาใช้นาหว่านนี่เขาผสมสารเคมีก็คือปุ๋ย หว่านออกไป นั่นคือสิ่งที่จะเรียกว่าเป็นออร์แกนิกไม่ได้ ในส่วนของแกเนื่องจากไม่ได้ใช้ยากำจัดศัตรูพืชหรือฆ่าแมลง มันก็สามารถ Declare (ประกาศ) ว่าเป็นออร์แกนิกได้ถ้าหากเรียกหน่วยงานมาตรวจสอบ เขาก็บอกว่าตรงทุ่งกุลาร้องไห้เนื่องจากมันเป็นดินปนทราย ซึ่งมันปลูกได้แต่ข้าว ปลูกพืชอื่นมันก็ไม่ได้เท่าไร ตรงนี้จะดีที่สุด

“เอาข้าวพันธุ์ทุ่งกุลาร้องไห้ไปปลูกที่ภาคกลาง มันก็จะออกผลมาเป็นแบบอื่น มันจะไม่ได้มีกลิ่นหอม ตรงนี้เป็นจุดที่เรียกว่าข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย ที่ประเทศไทยถึงขั้นออกโลโก้ว่าหอมมะลิ ถึงเป็นที่ไปที่มาว่าข้าวทุ่งกุลาร้องไห้คือปลูกได้เฉพาะตรงนี้ แล้วที่นี่ก็ไม่เหมือนภาคกลางที่มีเขื่อนมีน้ำ ที่นี่ปีหนึ่งฝนก็จะตกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นก็จะเป็นข้าวนาปี อันนี้ก็เป็นความรู้”

- ท่านทำธุรกิจในสหรัฐฯ มานาน อยากทราบว่าชาวอเมริกันรู้จักข้าวหอมมะลิมาก-น้อยเพียงใด? และเท่าที่ทราบขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่ค่อยดีนักอันเป็นผลกระทบต่อเนื่องลากยาวมาตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผู้คนก็ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าข้าวหอมมะลิถือเป็นข้าวเกรดสูง ข้าวระดับพรีเมียม อะไรทำให้ท่านมองเห็นโอกาสในการผลักดันข้าวหอมมะลิไทยในเวลานี้? : เราย้อนประวัติข้าวหอมมะลิกันนิด อเมริกาก็เห็นว่าทำไมไทยเอาแต่ข้าวหอมมะลิมาเยอะ? ปีหนึ่งๆ ก็ 4-5 แสนตัน

เราต้องยอมรับว่าคนที่บริโภคข้าวหอมมะลิมาดั้งเดิมคือชาวเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเวียดนาม ชาวเวียดนามโพ้นทะเลตั้งแต่สงครามเวียดนามแล้วก็มีกลุ่มอพยพเข้าไป แล้วทางไทยเราก็ส่งข้าวนี้เข้าไป เขาก็เป็นกลุ่มบริโภคที่แพงเท่าไรเขาก็กิน แล้วก็มีชาวจีน คือสิ่งที่ดีขึ้นมาจากประสบการณ์ผมเองใน 3 ปีมานี้ คือบังเอิญแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในอเมริกาก็ใช้ข้าวอเมริกา อเมริกาสร้างข้าวหอมมะลิขึ้นมา แรกเริ่มเดิมทีใช้คำว่าแจสแมน แต่ทำอย่างไรก็สู้ข้าวของเราไม่ได้ ถึงได้มีการตรวจกันถึง DNA

จากแจสแมนเขาก็เริ่มปลูกข้าวธรรมดาแล้วก็เรียกว่าจัสมิน เขาก็กินของเขาอย่างนั้น คำว่าจัสมินก็คือชื่อกลางที่ทั่วๆ ไป ซึ่งตอนหลังเวียดนามเขาก็มาทำข้าวแต่เขาก็ปลูกไม่ได้เพราะภูมิประเทศของเขาเจอมรสุมหนักมาก แล้วข้าวพันธุ์ของเขาปลูกออกมาก็สู้พันธุ์ของไทยไม่ได้ อันนี้จากตัวเอง ตลาดฮิสแปนิก กินข้าวจะเอาไปคลุกกับมะเขือเทศบ้างอะไรบ้าง ข้าวอะไรก็เหมือนกันหมดก็ทำแบบนั้น แต่ตอนหลังเขาเริ่มรู้จักความแตกต่างของข้าวหอมมะลิจริงๆ แล้ว อันนี้จากคู่ค้าผมเอง มันเริ่มกระจายออกไป

ส่วนหนึ่งก็ยังไม่รู้ แต่ส่วนที่รู้เขาเน้นแล้วว่าต้องเป็นข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ ฮิสแปนิกก็จะเป็นกลุ่มโซนลาติน อย่างสเปน เปอร์โตริโก บราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก เป็นต้น ก็จะมี 2 พวกอย่างแถวไมอามี (รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ) ก็จะเป็นโซนลาตินอเมริกาพวกนี้จะกินข้าวหอมมะลิที่เหมือนข้าวขาวไม่คลุกอะไร ส่วนฮิสแปนิกฝั่งเม็กซิโกจะกินข้าวที่พูดง่ายๆ ขอให้ราคาถูกก่อน แต่คนที่มีอันจะกินก็อยากจะกินที่มีตราหอมมะลิแล้ว อันนี้จากการที่สัมผัสโดยตรง

“อาจจะเป็นอานิสงส์ที่เราสร้างมานาน สร้างความเชื่อถือคือการค้าหากมีความเชื่อถือในเรื่องของแบรนด์ นอกนั้นยังไม่พอ ต้องมีความรู้ มีประสบการณ์ ตั้งแต่ปีที่แล้วผมบอกว่าถ้าหากไม่มั่นใจจะทำ ผมไม่ทำ เพราะนโยบายของห้างพวกนี้คือ Zero Mistake หรือความผิด 0 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าทำผิดนิดสิ่งที่ผมทำมามันพังหมด ผมก็ไม่ทำ แล้วข้าวสิ่งที่เราทำไว้แล้วพอดีเขายังอยากให้เราทำ ผมก็เลยเรียกว่ามันสวนกระแส แต่พอผมได้ทำข้าว เนื่องจากตัวผมเขาให้ความมั่นใจ เขาก็เลยให้ทำอย่างอื่นด้วย”

- อีกประเด็นที่น่าสนใจ โดยปกติเรามักจะเข้าใจกันว่าการขนส่งในประเทศราคาต้องถูกกว่าการขนส่งข้ามประเทศ แต่ท่านบอกว่าวันนี้ไทยมีโอกาสส่งข้าวหอมมะลิไปขายในสหรัฐฯ เพราะค่าขนส่งทางเรือจากไทยไปสหรัฐฯ ยังถูกกว่าค่าขนส่งทางบกในสหรัฐฯ ระหว่างมลรัฐต่างๆ เสียอีก ตรงนี้สาเหตุมาจากอะไร? : อเมริกาถ้าผมจะบินจากซานฟรานซิสโก (รัฐแคลิฟอร์เนีย) ไปฝั่งตะวันออก ไกลว่าญี่ปุ่นอีก 8 ชั่วโมง แล้วอเมริกามีถึง 50 รัฐ ฉะนั้นรัฐหนึ่งก็เท่ากับ 1 ประเทศ

ดังนั้นข้าวที่ปลูกในรัฐเท็กซัส ใช้รถบรรทุกวิ่งมายังแอลแอ (ลอสแองเจลิส) รัฐแคลิฟอร์เนีย เสียค่ารถ 3,000 เหรียญ แต่ในขณะเดียวกันจากกรุงเทพฯ ไปแอลเอ 1,200 เหรียญ คือจากเท็กซัสจะวิ่งมาแอลเอมันวิ่งมาด้วยเรือไม่ได้ มันมีแต่บนรถเท่านั้น อันนี้จะเห็นภาพชัดเจนว่าทำไมในประเทศถึงแพง คือมันจะสู้กันได้ตรงนี้ ทุกอย่างมันมีเหตุผลในตัวของมันเอง

- ทราบว่าที่ท่านเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ มีแผนจะนำคู่ค้าจากสหรัฐฯ เข้าหารือกับทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการโปรโมทสินค้าข้าวหอมมะลิของไทย ที่มีตราเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hom Mali Rice)จากกรมการค้าต่างประเทศที่ถุงบรรจุ ผ่านเครือข่ายห้างสรรพสินค้าพันธมิตรของบริษัท ตรงนี้พอจะเล่าความคืบหน้าหลังการหารือได้หรือไม่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง? : โอเคเลย! เพราะว่าในส่วนของผมเวลามาประเทศไทยผมก็ลงทุนด้วยตัวเอง พาคู่ค้ามา ในฐานะที่ผมเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของกระทรวงฯ มาทุกยุคสมัยมาร่วม 20 ปีแล้ว คู่ค้ามาอย่างน้อยที่สุดเขาสามารถเล่าให้อธิบดีทราบได้ว่ามีอะไรบ้าง

ผมเห็นว่าคนนี้เก่งมาก ผมก็นำเขาเข้าพบอธิบดีที่กระทรวงฯ จากนั้นผมก็พาเขาไปที่โรงงานที่มีหุ้นส่วนกันที่ อ.ปราณบุรี(จ.ประจวบคีรีขันธ์) เขาทำครบวงจรเลย หลังจากนั้นก็มีการที่จะขยายในส่วนของข้าว ซึ่งผมเอาห้าง 5-6 แห่ง หลายหัวเมืองเข้ามาเพื่อที่จะโปรโมททางธุรกิจ หรือการโปรโมทสินค้าข้าวไทย ซึ่งขณะนี้ก็จะมีที่ ซาคราเมนโต (รัฐแคลิฟอร์เนีย) ซึ่งจะทำกันเป็นเดือนหลายครั้งเลย

มีทั้งลงโฆษณาหนังสิอพิมพ์ มีการโชว์สินค้าที่ห้าง โชว์สินค้าข้าวหอมมะลิ บางห้างก็อาจจะมีการมาหุงข้าวหอมมะลิแล้วก็ให้คนชิม ที่รัฐเท็กซัส อันนี้หลายรอบ ทำทั้งปีเลย แล้วก็มีห้างที่ลาสเวกัส (รัฐเนวาดา) นี่ก็เอาสินค้าโชว์มาแล้ว แล้วก็มีที่แอลเออีก 2 ห้าง มีที่ซีแอตเทิล (รัฐวอชิงตัน) กลับไป (สหรัฐฯ) นี่ก็ต้องบินเป็นลูกข่าง นี่คือในส่วนที่โปรโมท ภาระผมค่อนข้างที่จะเยอะ แต่ตราบใดที่เป็นสิ่งที่เราทำแล้วสนุกกับมันก็โอเค

- ไหนๆ มีโอกาสได้พูดคุยกับคนไทยที่ทำธุรกิจอยู่ในสหรัฐฯ ทั้งที ก็อยากให้ท่านเล่าหน่อยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง? : โดยภาพรวมก็ยังย่ำแย่อยู่ ทุกคนก็ระมัดระวังในการใช้จ่าย เนื่องจากว่าที่นั่นก็จะมีงบประมาณในการใช้ชีวิตประจำวัน มันมีเงินจำกัดตรงนั้นอยู่ค่าเช่า ค่าเล่าเรียนลูก ค่าใช้จ่ายประจำวัน ถ้าไม่จำเป็นเขาหยุดใช้เงิน เพราะน้ำมันก็แพง แล้วภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) มันสูงขึ้นหมด ต้นทุนสูงขึ้นหมด แล้วก็เป็นผลจากค่าระวางเรือปีที่แล้ว ช่วง 6-8 เดือน ตั้งแต่ 1,000 เหรียญ ขึ้นไปเป็น 1.5-2 หมื่นเหรียญ ก็ทำให้หลายๆ อย่างราคาขึ้นสูงมาก พอกระทบอยู่

สงครามรัสเซีย-ยูเครนยิ่งไปกันใหญ่ ช่วงนี้มีงานแสดงสินค้า ที่อนาไฮม์ (รัฐแคลิฟอร์เนีย) งาน Expo West ก่อนจะมาให้ข่าวนี่ผมก็ลองสอบถามดู แย่มากๆ ล่าช้าในการใช้จ่ายใช้สอย ยกเว้นในส่วนของสินค้าที่เป็นอาหาร แล้วก็ต้องเป็นอาหารพวกที่ยังจำเป็นจริงๆ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ค่อยจะซื้อกัน อย่างพวกอาหารห้างพรีเมียม เป็นออร์แกนิกหรืออะไรเหล่านี้ เราก็สังเกตดู คนจะน้อยเลย คนย้ายไปซื้อห้าง Discount Store (ห้างค้าปลีก) ที่ราคาถูกโชคดีที่ผมมองเรื่องนี้ตั้งแต่ปีกว่ามาแล้ว ตอนนั้นก็พยายามจะจับตลาดนี้ให้ได้ แล้วผมก็จับได้มันก็เลยต่อยอดไปเรื่อยๆ

ทีนี้มาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ตอนนี้ใหญ่หรือเล็กก็แย่หมด ชีวิตประจำวันทุกคนก็ยังแย่อยู่แล้ว จะเดินทางจะบินอะไรก็ลำบากกันหมด เรื่องการค้าจะดีมันเป็นไปไม่ได้ ก็อยู่ที่ว่าทางใครทางมัน พวกที่ทำในสายอาหารแล้วก็ทำอยู่ถูกช่องทาง มีคู่ค้าที่ดี ข้อย้ำเลย! คู่ค้าที่ดี คู่ค้าที่มั่นคง พวกนี้ก็จะได้เปรียบ อย่างตัวผมเอง ผมคิดว่าอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบเพราะผมทำข้าว แล้วข้าวนี่ก็กำลังอยู่ในนโยบายของรัฐบาลที่ตอนนี้กำลังส่งเสริมข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ผมก็ทำโครงการนั้นอยู่

สภาวะการเงินมันก็แปลกๆ ที่อเมริกาเวลานี้ มีคนถอนเงินจากหลายๆ ธนาคาร เราก็มองดูว่าจะมีบริษัทล้มหายตายจากไปฉะนั้นต้องจับตามองอย่างดีเลย เพราะการค้าชั่วโมงนี้ไม่สามารถที่จะกำหนดความแน่นอนได้ มันมีปัจจัยเสี่ยงเยอะเหลือเกิน อย่างเช่น ค่าเงิน 3 เดือนวิ่งขึ้น-วิ่งลง 20 เปอร์เซ็นต์ อย่างผมตอนจะมาเมืองไทย เงินบาทอยู่ที่ 38 บาท มาถึงยังไม่กี่วันก็เหลือ32.50 บาท ผมก็คิดว่าจะเอากลับไปอเมริกา ยังไม่ทันไรมันก็วิ่งขึ้นมาที่ 35 บาทกว่าๆ ตอนนี้อยู่แถวๆ 35 บาท วิ่งอยู่ตรงนี้ คือผมไม่ใช่นักเก็งกำไรค่าเงิน แล้วก็ไม่ได้ยุ่งกับหุ้น เราค้าขายจริงสร้างแบรนด์ ได้กำไรจาก Value Added หรือมูลค่าเพิ่มจากแบรนด์ที่เราสร้าง ตรงนี้ผมก็คิดว่า 35 บาท ก็พอใจแล้ว

- ในส่วนของธุรกิจของท่านเป็นอย่างไรบ้าง? : ความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมา เราจะพอรู้ได้ว่าอะไรควรและไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าผมทำได้ดีมาก อันนี้ผมพูดถึงตัวผม สินค้ามันค่อนข้างจะ Diversified ก็คือหลากหลาย เรารู้ว่าสิ่งนี้เราทำไปแล้วมันจะมีปัญหาเราก็หยุดดีกว่า อันนี้หมายถึงตัวสินค้า แล้วในขณะเดียวกันคู่ค้าที่อยู่ประเทศไทย ถ้าหากว่ามีคู่ค้าที่
ไม่มั่นคงเป็นหุ้นส่วนกันมันก็จะค้าลำบากมาก

เนื่องจากมีปัจจัยที่จะทำให้เข้าใจผิดแล้วก็ทะเลาะกันได้ทุกวันเลย เอาง่ายๆ วันนี้ค่าเงิน 34 บาท พรุ่งนี้ 35 บาท ตกลงกันแล้ว ซื้อขายกันแล้ว โห! วันเดียวบาทนึง ขอเปลี่ยนราคา ถ้าไม่ใช่นั่นก็เรียบร้อย พอเถียงกันปุ๊บทางนั้นจัดการตกลงกับตลาดแล้ว จะต้องส่งมอบแล้ว ไปถึงของไม่มีก็เสร็จ เพราะเซ็นสัญญากับคู่ค้าเรียบร้อย มันก็เรียบร้อยหมด ทั้งๆ ที่มันจะเป็นผลสะท้อนกลับมาเป็นทอดๆ

- มองเศรษฐกิจอย่างไรในระยะยาว? : ผมอยากจะเทียบกับปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) สถาบันการเงินพังไม่กี่บริษัท แต่ปัจจุบันมันพังถ้วนหน้าเลย อันนี้ในฐานะที่ผมอยู่ในไทยมา 1-2 เดือน ขอพูดกันแบบตรงๆ ไม่เอาใจข้างใดข้างหนึ่ง ปัจจุบันมันเป็นประเภทซึมลึกและทรมาน เราอาจจะเห็นความหวือหวาในช่วงไม่กี่วันนี้เนื่องจากจีนเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวแห่กันเข้ามา ผมอยู่โรงแรม 1,200 ห้องเต็มหมด เป็นนิมิตหมายอันดีกับกิจการบางอย่างที่เหมาะสม แต่ต้องอย่าลืมว่าเขาทรมานกันมานานเหลือเกิน

แต่การใช้จ่ายเงินต้องมองอย่างนี้ คนมีเงินเขาออกมาใช้แค่วูบเดียว ไม่ใช่ว่าใช้กันทุกวัน ก็เหมือนปีใหม่ที่เราออกมาเที่ยวกันเพราะฉะนั้นเราก็ต้องมองเหมือนกัน ทีนี้ธุรกิจคุณอยู่ในแนวไหน อย่างที่อเมริกา ถ้าดูท่าไม่รอดบริษัทเขาล้มก่อนแล้ว คือแจ้งตัวเองไม่ให้ใครทวงหนี้ ซึ่งมันก็ไม่ดี ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้มันก็ไม่ดี แล้วอีกอย่างหนึ่ง ขณะนี้สงคราม ไม่ทราบมีคนเคยคิดหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าหลายคนก็คิดว่ามันจะจบอย่างไร?

- จากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังพอมีช่องว่างสำหรับนักธุรกิจไทยบ้างหรือไม่? : มีแน่นอน เวลานี้ผมอยากจะร่วมมือกับบริษัทหรือองค์กรที่ใหญ่ๆ ในประเทศไทยเพื่อที่จะต่อยอดเข้าไป เพราะนโยบายของผมที่ผ่านมาคือ Combining Strength รวบรวมความแข็งแกร่ง ผมมองดูว่า Combining Superpower คือเพาเวอร์ใหญ่ๆ ในประเทศไทยไม่ใช่แค่ใหญ่เฉพาะที่นี่ ก็ควรที่จะฉายแสงออกไปที่โน่นด้วย

ยกตัวอย่างอสังหาริมทรัพย์ พวกที่ดินหรือบ้าน เนื่องจากดอกเบี้ยแพงราคามันเลยลง แต่ในขณะเดียวกัน คลังสินค้าพวกเป็นแสนๆ ตารางฟุต ควรจะไปซื้อคลังสินค้าไว้เลย อย่างไรมันก็เป็นหลักทรัพย์ แต่ในขณะเดียวกันคลังสินค้าความต้องการมันสูงคราวนี้มันเฉพาะคนมีประสบการณ์ มีความรู้ในการบริหาร มีทีมงาน ของบางอย่างคุณมีมาแต่คุณไม่มีความรู้ในเรื่องบริหารจัดการ หรือไม่มีทีมงานที่ดีก็ไม่มีประโยชน์

“มูลค่าธุรกิจเราตั้งเป้าไป 50 ล้านเหรียญต่อปี แล้วเราต้องการกระโดดไป 100 ล้านเหรียญ แต่ก็ทำด้วยความระมัดระวัง” นายประมุข กล่าวในตอนท้าย

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สัมภาษณ์พิเศษ : เปิดวิสัยทัศน์‘ประมุข เจิดพงศาธร’ (1) ผลักดัน‘ข้าวหอมมะลิไทย’ลุยตลาดสหรัฐฯ สัมภาษณ์พิเศษ : เปิดวิสัยทัศน์‘ประมุข เจิดพงศาธร’ (1) ผลักดัน‘ข้าวหอมมะลิไทย’ลุยตลาดสหรัฐฯ
  •  

Breaking News

'รมว.นฤมล'จับมือผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ ย้ำ Fruit Board คุมเข้มสินค้าให้มีมาตรฐาน

ตร.นำตัว'สจ.กอล์ฟ'กับพวกสอบใหม่อีกครั้งหลังให้การวกวน ก่อนส่งฝากขังชั้นศาล

‘ทักษิณ’ยังอยู่! ‘บิ๊กเพื่อไทย’ยันนายใหญ่มีความสุข ไร้กังวลศาลนัดไต่สวน 13 มิ.ย.นี้

‘ชูศักดิ์’บอกอย่าคาดการณ์ล่วงหน้าปม‘ทักษิณ-ฮั้ว สว.’ทำการเมืองถึงทางตัน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved