วงสัมมนาชำแหละค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทย? สะกิดเตือนขึ้นค่าจ้างต้องดูผลิตภาพ หวั่นต้นทุนสินค้าพุ่ง แนะส่งเสริมรวมกลุ่ม-ขยายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ด้านรองปธ.สภาองค์การนายจ้าง ชี้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะคนจ่ายไม่ใช่พรรคการเมืองแต่เป็นนายจ้าง สุดท้ายจะถูกผลักภาระไปที่ผู้บริโภค
18 มี.ค. 2566 หลักสูตรผู้บริหารสือสารมวลชนระดับกลางด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสก.) รุ่นที่ 11 ร่วมกับ สถาบันอิศรา จัดงานสัมมนาหัวข้อ “ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทย? ที่อาคารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” โดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า สิ่งที่เรียกร้องกันตั้งแต่ 200 ปีก่อน คือวิถีชีวิตแบบ “8-8-8” หมายถึงใน 1 วัน ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้อีก 8 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบัน แรงงานยังต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน
ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อปี 2516 ซึ่งประเทศไทยเริ่มใช้ระบบค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรก เวลานั้นอยู่ที่วันละ 12 บาท ในขณะที่ราคาทองคำช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่บาทละ 400 บาท ดังนั้นหากไม่ใช้เงินเลย ประมาณ 1 เดือนก็ซื้อทอง 1 บาทได้แล้ว แต่ปัจจุบันที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ราว 300 กว่าบาท ในขณะที่ราคาทองคำอยู่ที่ราวบาทละ 3 หมื่นบาท ต้องไม่ใช้เงินเลยถึงประมาณ 3 เดือนจึงจะซื้อทอง 1 บาทได้ จากสิ่งที่เห็นจึงเป็นคำตอบว่าเหตุใดคุณภาพชีวิตคนจึงตกต่ำลง
ส่วนคำว่าค่าแรงขั้นต่ำ ตนเสนอว่าควรเลิกพูดเรื่องนี้กันเสียที เพราะค่าแรงขั้นต่ำหมายถึงฐานที่จะต่ำกว่านี้ไปอีกไม่ได้แล้ว แต่ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง หมายถึงทุกปีแรงงานต้องได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปดูปัจจัยต่างๆ เช่น ดัชนีเงินเฟ้อ ฯลฯ แล้วมาคุยกันว่าค่าแรงควรจะเป็นเท่าไร แต่ที่เป็นปัญหาจริงๆ คือแรงงานยังมีข้อจำกัดด้านสิทธิการรวมกลุ่มซึ่งมีผลต่อการเจรจาต่อรอง
“เรามีผู้ใช้แรงงานกว่า 40 ล้านคน แต่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานมีอยู่เพียง 6 แสนกว่าคนเท่านั้น กลไกการเจรจาต่อรองมันจึงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นตวามร่ำรวยกับความยากจนมันจึงห่างกันเยอะ นี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่เราจะต้องขบคิดและหาทางออกกันว่าระบบเศรษฐกิจที่มันเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเรื่องค่าจ้างแรงงานมันควรจะเป็นเท่าไร” นายสาวิทย์ กล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งพรรคการเมืองก็ทำตามที่หาเสียงไว้จริงเพราะ 1.คนจ่ายไม่ใช่พรรคการเมืองแต่เป็นนายจ้าง กับ 2.ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับนโยบายการเงินการคลังของประเทศ และ 3.ไม่เกี่ยวข้องกับหนี้สาธารณะ นอกจากนั้นก็ต้องบอกว่าที่สอนกันโดยอ้างเรื่องแรงงานถูกขูดรีด นั่นเป็นเรื่องเมื่อ 200 ปีก่อน รวมถึงเมื่อหลายสิบปีก่อนจะมาเป็นผู้ประกอบการ ตนก็เคยเป็นลูกจ้างและร่วมกับสหภาพแรงงานประท้วงนายจ้างเช่นกัน
แต่ในปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว จะเห็นว่าระยะหลังๆ การชุมนุมประท้วงของแรงงานลดลง แต่กลับกันคือสภาพการจ้างงานตึงตัว ผู้ประกอบการหาคนทำงานยากทั้งระดับล่าง กลางและสูง มีการแย่งตัวแรงงานกันสูงมาก เด็กจบใหม่ถึงขั้นนายจ้างต้องหาข้อมูลแบบเจาะเป็นรายคนแล้วติดต่อไปชวนมาทำงาน แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าวก็มีการสื่อสารกัน ที่ไหนให้ค่าแรงมากกว่าก็พร้อมจะออกจากที่เก่าไปหาทำงานที่ใหม่นั้นทันที ขณะเดียวกันยังมีกฎหมายออกมาควบคุม หากนายจ้างไปขูดรีดแรงงานก็อาจถูกลงโทษถึงขั้นติดคุก แม้จะมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้บ้างก็ตาม
“คุณต้องเข้าใจว่าค่าจ้างไมได้ขึ้นแค่ของคุณ ในห่วงโซ่อุปทานสินค้า อย่างน้ำ 1 ขวด มีตั้งแต่โรงงานทำพลาสติกเม็ด แล้วขายให้กับโรงงานขึ้นรูป ค่าจ้างบวกเข้าไปในราคาเม็ดพลาสติก คูณด้วยภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ใส่เข้าไปในน้ำขวด ซื้อจุกก็ต้องมีค่าจ้างโรงงานทำจุก มีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สินค้า 1 ชิ้น มันมีโซ่อุปทานอย่างน้อย 10 บริษัท ทุกบริษัทค่าจ้างเพิ่มขึ้น บริษัทที่ไฮเทคก็อาจเพิ่ม 3-5% แต่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากๆ ก็ 20% มันจะถูกผลักภาระไปที่ผู้บริโภค” นายธนิต กล่าว
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ถ้าดูสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ มีปัจจัยต้องพิจารณาคือผลิตภาพ (Productivity) คำถามคือประเทศไทยจะเพิ่มได้หรือไม่ ผ่านมา 50 ปี ไทยยังคงเป็น OEM หรือผู้รับจ้างผลิต สินค้าเกษตรก็ยังคงขายแต่สินค้าตั้งต้น (Primary Product) ช่วงไหนผลผลิตราคาดีหรือส่งออกได้มากก็ดีไป
“เมื่อ Productivity ไม่ขึ้น ในสูตรทางเศรษฐศาสตร์ Wage (ค่าแรง) ก็ขึ้นไม่ได้ ฉะนั้นดุลยภาพที่ทำให้สถานประกอบการอยู่ได้ Wage กับ Productivity มันจะต้องเท่ากัน หรืออย่างน้อยจะขึ้นค่าจ้างได้ Productivity ต้องสูงกว่า” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว
นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า มี 3 ด้านหลักที่มีผลต่อการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ คือ 1.ความจำเป็นในการครองชีพของลุกจ้าง 2.ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และ 3.สภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม และทั้ง 3 ด้านนี้ถูกกำหนดในกฎหมายดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างจะเอาปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาไมได้
ทั้งนี้ การที่จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้ง ที่สำคัญที่สุดคือผลิตภาพแรงงานเป็นตัวที่ดึงให้สูตรนี้สูงขึ้น แล้วอัตราการสมทบของแรงงานต่อ GDP จังหวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ GDP ประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่มีพรรคการเมืองหาเสียงขึ้นค่าแรงโดยอิงกับระยะเวลาอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2570 ซึ่งก็จะชนกันทั้งครบวาระรัฐบาล ครบวาระแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 2 คำถามคือเมื่อถึงวันนั้นจะทำได้หรือไม่
“เราจะต้องทำให้อัตราสมทบแรงงาน หมายถึงรายได้ของแรงงานต่อ GDP เพิ่มขึ้นไปถึง 0.5 ปัจจุบันคือ 0.34 ผลิตภาพแรงงานถ้าจะไปถึงจุดนั้น คุณต้องมีเฉลี่ยร้อยละ 27.15 แล้วปัจจุบัน Productivity เรา 3-5% แล้วเราจะไปถึง 27.15 เพื่อที่จะไปตรงนั้น แสดงว่า Productivity แต่ละปีต้องมีเพิ่มมากกว่า 30-35 จากปัจจุบันที่มันแค่ 3-5% ถามว่าได้หรือไม่ GDP ของประเทศต้องเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไปจนจบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ถึงจะดึงขึ้นไปสูงๆ ได้ ถามว่าได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องของอนาคต” นางนภสร กล่าว
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในการสำรวจจำนวนแรงงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครั้งล่าสุดไตรมาส 4 ของปี 2565 มีคนทำงานทั้งหมดราว 39 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 19 ล้านคน นอกระบบ 20 ล้านคน โดยแรงงานนอกระบบ หมายถึงแรงงานที่ไม่ได้อยู่มีสภาพการจ้างงานที่เป็นทางการ เช่น รับงานเย็บเสื้อโหลจากโรงงานมาทำที่บ้าน ขับแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย ลูกจ้างทำงานบ้าน ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่มีเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ จะประกาศอัตราเท่าไรก็ไม่มีผลกับแรงงานกลุ่มนี้
“รัฐต้องรับประกันค่าจ้างขั้นต่ำหรือค่าจ้างที่เป็นธรรม อันนี้เป็นความฝัน ค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพต้องครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีนายจ้าง แต่กลุ่มที่ไม่มีนายจ้างรัฐก็ต้องประกันรายได้ รัฐมีโอกาสการจ้างงานตั้งเยอะ คนที่เย็บเสื้อผ้าเป็นทำไมรัฐไม่จ้างเขาเย็บเสื้อโรงพยาบาล ทำไมไม่จ้างเย็บเสื้อนักเรียน ผ้าห่ม ที่นอนนักเรียนซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ ทำไมรัฐเอางานแบบนี้ซึ่งจัดซื้อจัดจ้างได้ให้ธุรกิจหมดเลย ทำไมไม่เอามาให้กลุ่มชาวบ้านที่เป็นแรงงานนอกระบบ เพื่อที่จะได้มีรายได้” นางสุนทรี กล่าว-001
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี