ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าที่กรมประมงฯเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอาหารทะเลสด ที่ร้าน fisherman shop หน้าสถานีรถไฟกันตังเขตเทศบาลเมืองกันตัง จ.ตรัง ซึ่งมีนายบุรินทร์จันทร์แพทย์รักษ์ อายุ 41 ปี เป็นเจ้าของร้าน พร้อมโชว์การแล่เนื้อปลากะพงที่เพิ่งได้สดใหม่จากทะเล พร้อมบรรจุถุง นำไปวางขายในโครงการ fisherman shop สาขากันตัง เพื่อส่งเสริมนโยบายของกรมประมงในการช่วยกระจายสินค้าทางทะเล ถึงมือผู้บริโภคด้วยความสด สะอาดปลอดภัย ในราคายุติธรรม
จากนั้นอธิบดีกรมประมง เดินทางไปมอบพันธุ์ปูทองหลางให้กับเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนที่นาร้าง หันมาเลี้ยงปูทองหลางจำนวน 5 ราย ใน 5 อำเภอ ได้แก่ เกษตรกรใน อ.หาดสำราญ,อ.กันตัง,อ.ปะเหลียน,อ.ย่านตาขาว และ อ.สิเกา ซึ่งเกษตรกร 1 รายจะได้รับลูกปูทองหลาง จำนวน 3,000 ตัว อาหารเม็ด15 กระสอบ ปลาเหยื่อ 4,328 กิโลกรัม บรรจุภัณฑ์และสติ๊กเกอร์ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ปรับเปลี่ยนพื้นที่บ่อว่างให้เกิดประโยชน์และเพื่อให้เกษตรกรมีทักษะการเลี้ยงปูทะเลในบ่อดิน โดยพบว่าสภาพบ่อเลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่มีความเหมาะสมในการเลี้ยงปูทะเล ซึ่งสามารถเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ของเกษตรกร ลงทุนน้อย เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด
โดยมีการปล่อยพันธุ์ปูทองหลางลงสู่บ่อดินของ นายวิทยา วรากรหาญ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงปูทองหลาง ต.วังวน อ.กันตัง จำนวน 3,000 ตัว ก่อนจะเดินทางไปปล่อยกุ้งแม่น้ำที่มีไข่แก่จำนวน 99 ตัวลงสู่แม่น้ำตรัง บริเวณต.ย่านซื่อ อ.กันตัง พร้อมปล่อยปลาตะเพียนขาวจำนวน 20,000 ตัว และกุ้งนอเพลียสจากธนาคารกุ้งก้ามกรามอีกจำนวน 100,000 ตัว เพื่อคืนความสมดุลสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ด้านนายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “วันนี้มาสร้างธนาคารกุ้งก้ามกรามร่วมกับชุมชน ด้วยเหตุผลที่ว่า แม่น้ำตรังเป็นแหล่งที่เลื่องลือว่ามีกุ้งแม่น้ำที่มีรสชาติอร่อย และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค แต่หากต้องการมากก็จะเป็นอันตรายสำหรับการสูญหายไป ฉะนั้นการสร้างธนาคารแม่พันธุ์กุ้งก้ามกรามหรือธนาคารไข่กุ้งก้ามกราม เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น โดยการไม่นำแม่กุ้งไข่แก่มาใช้ประโยชน์ ให้เขามีโอกาสได้มีลูก สร้างทรัพยากรต่อเนื่องให้กับเรา และจะได้มีความยั่งยืนต่อ จึงต้องช่วยกันรณรงค์โดยชุมชนในพื้นที่และผู้แทนที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์ ส่วนกรมประมงก็จะมาช่วยเสริมให้ในหลายๆ ส่วน ทั้งเรื่องของเจ้าหน้าที่และวิทยาการในการดูแล รวมทั้งถ้าไม่พอเราจะมีการเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามเสริมเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งรวมทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างอื่นด้วย”