‘ภาคสังคมปราจีนฯ’บุกร้องวุฒิสภา 6 ข้อ ปม‘ซีเซียม-137’-จี้เปิดเส้นทางสูญหาย
27 มีนาคม 2566 ภาคประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี เข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบบริษัทกรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนที่สุด โดยมี พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ รองประธาน กมธ. เป็นผู้รับเรื่อง
ข้อความในหนังสือ ระบุว่า จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี มีการแจ้งความเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนปราจีนเป็นอย่างมาก เหตุการณ์ครั้งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงที่สุด ต่อชีวิต ภาพลักษณ์ ชื่อเสียงของคนปราจีนบุรีที่มุ่งเน้นการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด ต้องตกอยู่ในความหวาดกลัวผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและตกค้างในระยะยาว และยังอาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในมาตรการการจัดการกับวัสดุกัมมันตรังสีของประเทศไทยด้วย
ตลอดช่วงเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานับแต่มีข่าววัสดุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” สูญหายจากโรงไฟฟ้า บริษัทกลับมีท่าทีนิ่งเงียบ เฉยเมยต่อหายนะร้ายแรงที่เกิดขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำหน้าที่ในการอนุญาต การควบคุมกำกับ ไม่ให้ข้อมูลที่สะท้อนการทำงานว่ามีการควบคุมกำกับอย่างถูกต้อง รัดกุม แสดงถึงการทำงานที่ขาดความโปร่งใส ทำให้ภาคประชาสังคมไม่เชื่อมั่นและสงสัยการดำเนินของบริษัททั้งระบบโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียและกากอุตสาหกรรมและการทำงานของหน่วยงานที่ควบคุมกำกับว่าได้ทำหน้าที่หรือไม่ มีความหวั่นเกรงว่าจะมีภัยพิบัติจากความสะเพร่าเช่นนี้อีก
จึงขอให้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตรวจสอบทั้งเอกสารและลงพื้นที่จริง เพื่อค้นหาปัญหาที่แท้จริง เผยแพร่ข้อมูลต่อสังคมให้กระจ่างชัด ให้ข้อเสนอแนะในการจัดการทั้งระบบ การพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบในการควบคุมและกำหนดบทลงโทษ ความรับผิดชอบผู้กระทำผิด โดยขอให้
1.ตรวจสอบบริษัททั้งระบบการป้องกันมลพิษ มีมาตรฐานการกำจัดของเสียอย่างไร มีการถือครองกัมมันตรังสีทั้งหมดกี่รายการวันเดือนปีที่ได้รับอนุญาตเมื่อไหร่ ความเข้มข้นเท่าใด ใช้ทำอะไร ลักษณะที่ตั้งอยู่เป็นอย่างไร สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร มีการควบคุมกำกับ ตรวจสอบ ป้องกันความเสี่ยงอย่างไร มีมาตรการการรับมือเมื่อเกิดอุบัติเหตุและการสูญหายอย่างไร ถ้าหมดสภาพการใช้งานแล้วมีแผนการกำจัดอย่างไร การกำจัดมีเอ็มโอยูกับบริษัทหรือหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เกิดการสูญหายได้อย่างไร รายการที่สูญหายมีความเข้มข้นของสารอยู่เท่าไหร่ มีการจัดการอย่างไรเมื่อทราบว่าสูญหาย และขอให้คณะกรรมาธิการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่จริง
2.ขอให้เปิดเผยข้อมูลประชาพิจารณ์ในการขอสร้างโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้ มีการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ ว่ามีสารกัมมันตรังสีอยู่ในโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้
3.ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุญาต และควบคุมกำกับ ว่ามีทั้งหมดกี่หน่วยงาน แต่ละหน่วยงานทำหน้าที่อะไรบ้าง มีการทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดหรือไม่ มีการเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ฯ
4.ขอให้ฝ่ายสอบสวนเปิดเผยข้อมูลเส้นทางของแท่งซีเซียม-137 ว่าหายไปได้อย่างไร ไปไหนบ้าง ใครบ้างที่สัมผัส และมีการจัดการอย่างไร
5.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลการกำจัดฝุ่นแดงจากการเผาก้อนซีเซียม-137 ว่ามีกระบวนการกำจัดตั้งแต่การจัดเก็บไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายอย่างไรรวมถึงกากอุตสาหกรรมกัมมันตรังสีทั่วไปด้วย
6.ขอแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามการปฏิบัติงานของภาครัฐ เฝ้าระวัง การทำงานของโรงงานเพราะเหตุการณ์ครั้งนี้มีผลกระทบกับประชาชนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโรงงานแต่ต้องมารับเคราะห์กรรม
ภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี เห็นว่ากรณีนี้ เป็นเรื่องใหญ่เปรียบเสมือนไฟกำลังไหม้จังหวัดปราจีนบุรี ทั้งจังหวัด แต่เป็นไฟที่มองไม่เห็น กว่าจะฟื้นฟูชื่อเสียง สร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาใหม่ต้องใช้เวลานาน บริษัทต้องลงทุนระบบที่ดีในการป้องกันผลกระทบและต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและ ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว
ในนามของภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี ขอร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาให้มีการตรวจสอบและค้นหาข้อมูลเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ สร้างความโปร่งใส มีข้อมูลการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและวางระบบป้องกันปัญหาที่ส่งผลกระทบที่รุนแรงเช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ภาคประชาสังคมจังหวัดปราจีนบุรี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จะดำเนินการตรวจสอบบริษัท หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเร็วที่สุดเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปสู่ปัญหาสุขภาพกายและใจ ปัญหาเศรษฐกิจ และยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบการกำกับดูแลของภาครัฐ
พร้อมกันนี้ ภาคประชาสังคม จ.ปราจีนบุรี มีกำหนดการจัดเวทีประชาชน เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นว่าเราจะออกจากวิกฤตกัมมันตรังสีปราจีนบุรีกันได้อย่างไร ในวันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ณ วัดโพธิมาลัย อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมเพื่อหาทางออกไปด้วยกัน
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี