กทม.ของบปี’67 ก่อสร้างคันหิน 4.7 กม.แนวป้องกันชายฝั่งบางขุนเทียน ใช้ท่อปลูกป่าชายเลนก่อนทำเขื่อนถาวร
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่เขตบางขุนเทียนว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้เตรียมวางแผนการก่อสร้างคันหิน ความยาว 4.7 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เป็นโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนและศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมถึงเป็นแนวป้องกันและที่ดักดินตะกอนให้พันธุ์ไม้ป่าชายเลนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2567 ขณะนี้สำนักงานเขตบางขุนเทียน มีแผนงานกำหนดใช้ท่อซีเมนต์ในแปลงปลูกหน้าทะเลให้เต็มพื้นที่ และกำหนดแผนการเข้าดูแลบำรุงรักษาต้นกล้าที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องด้วยการเติมดินเลน การเปลี่ยนไม้หลักค้ำพยุง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนท่อซีเมนต์มาแล้ว ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 61 หน่วยงาน รวม 25,589 ท่อ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนบางขุนเทียนในปี 2566
ด้านนางภัสรา นทีทอง ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กล่าวถึงการใช้ท่อซีเมนต์ในการปลูกป่าชายเลนบางขุนเทียน ว่า กรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรม “เพาะพันธุ์รักษ์ป่าชายเลนบางขุนเทียน” เป็นการปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ในระดับน้ำที่สูงและปลูกในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากการปลูกต้นกล้าโกงกางใช้เกณฑ์การขึ้นลงของน้ำทะเล โดยพิจารณาระดับน้ำที่มีความปลอดภัยต่อการลงปลูกของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ ดังนั้น จึงสามารถปลูกได้ทุกฤดู โดยแปลงปลูกที่ใช้จัดกิจกรรมฯ เป็นแปลงปลูกที่ได้รับผลกระทบจากความแรงของคลื่นทะเล จึงต้องใช้ท่อซีเมนต์ ขนาดกว้าง 6 นิ้ว สูง 1-3 เมตร เป็นตัวช่วยยกระดับต้นกล้าให้พ้นน้ำ เลียนแบบการปลูกตามธรรมชาติริมชายฝั่งที่มีระดับน้ำขึ้นน้ำลงของทะเล ซึ่งทำให้ต้นกล้าไม่จมน้ำเป็นเวลานาน มีระยะการเพาะเลี้ยงให้ต้นกล้ามีความแข็งแรงจนเจริญเติบโตสามารถออกรากอากาศรอหยั่งลงดินเองตามธรรมชาติ มีอัตราการรอดร้อยละ 80 และใช้ช่วยชะลอคลื่น นอกจากนี้ การปลูกต้นโกงกางในท่อซีเมนต์ ยังสร้างเกราะป้องกันให้ต้นกล้าโกงกางสามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระดับน้ำที่มีความเหมาะสมคือ ตั้งแต่ระดับเอวขึ้นไป เพราะต้องใช้แผ่นโฟมขนาดใหญ่ เพื่อช่วยลำเลียงท่อซีเมนต์ ซึ่งมีน้ำหนักมาก ลำเลียงไม้หลักค้ำพยุงกับต้นกล้าที่ใช้ในการปลูก รวมถึงช่วยทุ่นแรงพยุงตัวของคนปลูกให้มีความคล่องตัวสามารถปักลงดินได้ง่าย โดยไม่ต้องใช้แรงมากเกินไป จึงแตกต่างจากการปลูกลงดินตามปกติที่ต้องให้ระดับน้ำลดลงต่ำจนเห็นพื้นดิน เพื่อปลูกลงดินเหมือนการปลูกต้นไม้ทั่วไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ถูกน้ำทะเลกัดเซาะลึกเข้ามาเกือบ 1 กิโลเมตร ระยะทางยาว 4.7 กิโลเมตร พื้นที่ป่าชายเลนหายไป 2,735 ไร่ ที่ผ่านมามีการปลูกป่าชายเลนเพื่อฟื้นฟูไปแล้ว 233 ไร่ การป้องกันและฟื้นฟูชายฝั่งเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าชายเลน หรือการทำเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน กิจกรรม “เพาะพันธุ์รักษ์ป่าชายเลนบางขุนเทียน” สำนักงานเขต และสภาคนเมืองกลุ่มเขตกรุงธนเหนือ กลุ่มเขตกรุงธนใต้ ได้ร่วมมือกันฟื้นฟูธรรมชาติในป่าชายเลนบางขุนเทียน ซึ่งเป็นป่าชุมชนแห่งเดียวของกรุงเทพมหานครที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นด่านหน้าที่คอยป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเลด้วยการปลูกต้นโกงกาง และปล่อยพันธุ์ปูคืนสู่ระบบนิเวศ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งนำไปสู่การเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี