"อบต.แก่งเสี้ยน" เมืองกาญจน์จับมือมหาวิทยาลัยทักษิณ สำรวจขยะเชิงเขาทอง เพื่อหาทางกำจัด ด้าน "นายกแก่งเสี้ยน" เผยตั้งแต่รับตำแหน่งนายก อบต.มาได้ประมาณ 1 ปีโดนกระทำในทุกรูปแบบจากฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการโค่นให้หลุดจากตำแหน่งนายก อบต. พร้อมเตรียมโต้กลับฝ่ายที่เสียผลประโยชน์บ้างหลังมอบหลักฐานการลักลอบเผาบ่อขยะเชิงเขาทองให้ "อัจฉริยะ" รวมถึงการกล่าวพาดพิงในฐานะนายก อบต.จึงจำเป็นต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรีและปกป้องชาวตำบลแก่งเสี้ยน
วันนี้ (28 มี.ค.66) นายจักกฤช มหากิจวรกุล นายกองค์การบริการส่วนตำบล (นายก อบต.) แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี กล่าวว่า วันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แก่งเสี้ยน ได้จัดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเสี้ยน ขึ้นที่ อบต.แก่งงเสี้ยน โดยมีชาวบ้านจากหมู่ 5 บ้านหนองจอกมาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดขยะจากมหาวิทยาลัยทักษิณ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ และนำข้อคิดเห็นของประชาชนที่มารับฟังไปช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อปรับปรุงพัฒนาพื้นที่บ่อขยะเชิงเขาทอง ซึ่งอดีตนายก อบต.คนเก่าได้ทำเอาไว้นั้นดีอยู่แล้ว แต่เมื่อนายก อบต.คนเก่าหมดวาระไป ตนในฐานะนายก อบต.แก่งเสี้ยนคนใหม่ก็ได้สานงานต่อจากนายก อบต.คนเก่า เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อให้ชาวบ้านได้มีความอยู่ดีมีความสุข
ที่ผ่านมาตนไม่ได้ทิ้งงานที่อดีตนายก อบต.คนเก่าทำไว้ แต่ตนได้นำมาปรับเพิ่มในส่วนที่ขาดไป โดยเฉพาะเรื่องของบ่อขยะ โดยเมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งปรากฏว่าสัญญาที่ อบต.แก่งเสี้ยนทำไว้กับ พล.1 รอ.ได้สิ้นสุดลงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ก่อนจะหมดสัญญา พล.1 รอ.ได้ยกพื้นที่บ่อขยะให้กองพลทหารราบที่ 9 เป็นผู้ดูแลพื้นที่แทน ซึ่งตนได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อขอใช้พื้นที่ในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาขยะให้ดีกว่าเดิม แต่ก็มาเกิดเหตุมีคนลักลอบเข้าไปเผาบ่อขยะตามที่เป็นข่าว แต่ยังโชคดีที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากหลายหน่วยงานสามารถสกัดเปลวเพลิงเอาไว้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดการลุกลามไปไหม้ขยะที่มีอยู่นับล้านตัน หากเกิดขึ้นจริงเชื่อว่าจะต้องใช้เวลานานหลายวันกว่าจะสกัดเปลวเพลิงได้และจะทำให้เสียงบประมาณอีกเป็นจำนวนมหาศาลอย่างแน่นอน
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อตนเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารงานแล้วอะไรที่ทำให้ชาวแก่งเสี้ยนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ตนก็พร้อมที่จะทำ โดยจะทำอย่างเปิดเผยด้วยความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้และจะพยายามทำให้สุดความสามารถ โดยประชาชนชาวแก่งเสี้ยนส่วนใหญ่นั้นมีความต้องการให้ อบต.กำจัดขยะให้หมดไปโดยเร็วที่สุด
ปัจจุบันเราไม่ทราบชัดเจนว่าปริมาณขยะเชิงเขาทองมีอยู่มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่ ซึ่งขณะนี้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทักษิณกำลังเร่งสำรวจอย่างละเอียดว่า ปริมาณขยะที่กองอยู่บนดินและทับถมอยู่ใต้ดิน มีจำนวนรวมกันกี่ตัน เมื่อทราบจำนวนแล้วจะได้นำมาวางแผนการบริหารจัดการขยะได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ตามตนอยากวิงวอนไปถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นและผู้นำท้องถิ่น หันมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาขยะให้มากกว่านี้ เพราะปัญหาขยะที่มีอยู่ ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะชาวตำบลแก่งเสี้ยนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่มันเป็นปัญหาใหญ่ระดับจังหวัดและระดับชาติไปแล้ว ที่จะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกฝ่ายจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ แต่ในเบื้องต้นตนในฐานะนายก อบต.แก่งเสี้ยน ต้องขอขอบคุณทางกองทัพบก (ทบ.) ที่คืนพื้นที่ให้จำนวน 100 ไร่ ตามที่ อบต.แก่งเสี้ยนเสนอไป
นายจักกฤช มหากิจวรกุล นายก อบต.แก่งเสี้ยน กล่าวต่อว่า ช่วงที่ตนเข้ามานั่งเก้าอี้นายก อบต.แก่งเสี้ยน ได้ประมาณ 1 ปี ตนโดนกระทำในทุกรูปแบบจากฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการโค่นให้ตนหลุดจากตำแหน่งนายก อบต.และมีความพยายามร้องเรียนไปหลายหน่วยงานเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบ แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดกับตนได้
เมื่อเล่นกันถึงขั้นลงมือลักลอบเผาบ่อขยะเชิงเขาทอง รวมถึงการกล่าวพาดพิงตนในฐานะนายก อบต. ตนจึงจำเป็นต้องออกมาปกป้องศักดิ์ศรีและปกป้องชาวตำบลแก่งเสี้ยน ตนขอย้ำว่าเรื่องนี้คงจะจบยากแล้ว เมื่อมีการพาดพิงไปหลายหน่วยงานทำให้เขาเสียหาย ตนเองก็เหลืออด ที่จะทนต่อไปแล้ว จึงขอให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะปัญหาทั้งหมดเกิดจากผลประโยชน์ทั้งสิ้น แล้วตนจะบอกในภายหลังว่ามันมีอะไรบ้าง ขอให้ได้พบกับนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมในช่วงบ่ายวันนี้ก่อน
ด้านนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า โครงการระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ประชาชนชาวแก่งเสี้ยนให้การตอบรับเป็นอย่างดีและจากการลงพื้นที่พบว่าชาวบ้านต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหาขยะโดยเร่งด่วนที่สุด ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นสั่งสมมาอย่างยาวนาน ขณะที่ทาง อบต.ก็มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหานี้ แต่หากยังมีปัญหาเรื่องของที่ดินอยู่ ปัญหานี้ก็จะแก้ยาก แต่เมื่อปัญหาเรื่องที่ดินคลี่คลายลงแล้ว การแก้ไขปัญหาในจุดนี้ก็จะทำได้ ซึ่งมาตรการแก้ไขมีด้วยกัน 3 ระยะ คือ ระยะต้น ระยะกลาง และระยะปลาย ส่วนรูปแบบในการกำจัดจะต้องสอบถามความเห็นของชาวบ้านอีกครั้ง แต่ถ้าตามหลักวิชาการการกำจัดด้วยโรงไฟฟ้าขยะ ยังเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัวมาก แต่การที่มีขยะเก่าสั่งสมอยู่แล้ว และยังมีขยะใหม่มาเพิ่มเติมอยู่ทุกวัน
ดังนั้น จึงต้องแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเป็นลำดับแรก ด้วยการนำแผ่นยางมาปิดคลุมบ่อขยะทั้งหมดไว้ เพื่อบรรเทาปัญหา ส่วนปัญหาน้ำขยะจำเป็นที่จะต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยจะทำคันดิน ทำรางรอบบ่อขยะ เพื่อที่เวลาฝนชะขยะน้ำเสียก็ไหลไปรวมที่บ่อบำบัด จึงมองว่ากระบวนการ Refuse Derived Fuel (RDF) มีความเหมาะสมที่สุด โดยจะต้องเร่งกำจัดขยะเก่าออกไปให้ได้มากที่สุดเสียก่อน - 003