เหนือ-อีสาน-กลาง
ฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน
‘พะเยา’PM2.5นำโด่ง
ฝุ่นพิษรายวันพบเกินค่ามาตรฐานใน 40 จังหวัด โดยภาคเหนือ-อีสานสถานการณ์น่าเป็นห่วง โดย จ.พะเยา วัดได้สูงสุด 298 มคก.ตามด้วยเชียงราย และแม่ฮ่องสอน ส่วน กทม. วัดค่า PM2.5 สูงเกินเกณฑ์ 35 พื้นที่อยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่จิสด้าตรวจพบจุดความร้อนในไทยลดลงเหลือ 1,096 จุด ส่วนใหญ่พบในป่าอนุรักษ์เกือบ 500 จุด จว.ที่พบจุดความร้อนมากเป็นอันดับ 1 ได้แก่ เชียงราย 206 จุด เชียงใหม่ 205 จุด น่าน 95 จุด
เมื่อวันที่ 15 เมษายน ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานครรายงานผลการติดตามค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือPM 2.5 ประจำวันว่า ตรวจวัดได้ 41-76 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานครวัดได้ 52.0 มคก./ลบ.ม. ค่า PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 35 พื้นที่ ได้แก่
1.เขตสัมพันธวงศ์ 2.เขตวังทองหลาง 3.เขตปทุมวัน 4.เขตบางรัก 5.เขตบางคอแหลม 6.เขตยานนาวา 7.เขตจตุจักร 8.เขตลาดกระบัง 9.เขตคลองสาน 10.เขตบางกอกน้อย 11.เขตภาษีเจริญ 12.เขตบางเขน 13.เขตบางพลัด 14.เขตบางขุนเทียน 15.เขตพระนคร 16.เขตสาทร 17.เขตคลองเตย 18.เขตบางซื่อ 19.เขตหลักสี่ 20.เขตบึงกุ่ม 21.เขตคลองสามวา 22.เขตจอมทอง 23.เขตบางกอกใหญ่ 24.เขตตลิ่งชัน 25.เขตทวีวัฒนา 26.เขตหนองแขม 27.เขตบางบอน 28.เขตบางนา 29.เขตคันนายาว 30.เขตมีนบุรี 31.เขตประเวศ 32.เขตสายไหม 33.สวนเสรีไทย 34.สวนทวีวนารมย์ 35.สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพีประจำวันที่ 14 เมษายนว่า ไทยพบจุดความร้อน 1,096 จุด ขณะที่เมียนมายังมีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งตรวจวัดได้ 6,999 จุด สปป.ลาว 2,618 จุด เวียดนาม 98 จุด กัมพูชา 133 จุด และมาเลเซีย 45 จุด
จิสด้ายังรายงานอีกว่า จุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในพื้นป่าอนุรักษ์มากที่สุด 497 จุด ตามด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 384 จุด พื้นที่เกษตร 118 จุด พื้นที่เขต สปก. 56 จุด พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 38 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับได้แก่ เชียงราย 206 จุด เชียงใหม่ 205 จุด น่าน 95 จุด
ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยังเกินค่ามาตรฐานใน 40 จังหวัด กระจายกันไปตามภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ โดยจ.พะเยา ค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นสูงสุดเป็นอันดับ 1 วัดได้ 298 มคก./ลบ.ม. อันดับ 2 เชียงราย 256 มคก./ลบ.ม. อันดับ 3 แม่ฮ่องสอน วัดได้ 204 มคก./ลบ.ม.สำหรับกรุงเทพมหานคร (กทม.)คุณภาพอากาศเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง แต่จะพบบางเขตที่คุณภาพอาการและค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ระดับสีส้ม ได้แก่ เขตบางบอน บางขุนเทียน ภาษีเจริญ บางแค ทุ่งครุ บางกอกใหญ่ เริ่มส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน