จากประเด็นดราม่าหนังสือเรียน ภาษาไทยพาที ชั้น ป.5 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือ โดยเฉพาะการสอนเรื่องความพอเพียงนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยในเรื่องนี้ ว่า สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) สพฐ.ได้ทำหนังสือชี้แจงมาว่า จากกรณีสื่อโซเชียล มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือเรียนฉบับกระทรวงฯ นั้น มีประเด็นที่เกี่ยวข้องดังนี้
1.การจัดทำหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำขึ้นสำหรับนักเรียนใช้ฝึกทักษะและสร้างนิสัยรักการอ่าน และครูผู้สอนใช้ในการจัดการเรียนการสอน รายวิชาพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำหนังสือ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทยและแวดวงวรรณกรรม ทั้งจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศึกษา ทั้งนี้ มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในด้านการนำไปใช้จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยโดยตรง ได้แก่ ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานภาษาไทยและครูผู้สอนภาษาไทยในทุกภูมิภาคก่อนที่จะเผยแพร่หนังสือเรียนดังกล่าว
2.วัตถุประสงค์ของการจัดทำหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ของกระทรวงศึกษาธิการนั้น กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะทางภาษาจากการอ่าน เขียน ฟัง ดู พูดเรื่องที่น่าสนใจ ผสานความเข้าใจลักษณะของภาษาไทย ตระหนักรับรู้ความงามในความงามของภาษา ภูมิปัญญาทางภาษา กระบวนการคิดและการบูรณาการ เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเองและกระตุ้นความสนใจ สามารถพัฒนาทักษะทางภาษาเหมาะแก่วัย ชั้นปี และสูงสุดเต็มตามศักยภาพ เป็นพื้นฐานการคิดเชื่อมโยงในการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ปลูกฝังวัฒนธรรมทางภาษา ความเป็นไทย ความเป็นคนดีของสังคมไทยและสังคมโลก รวมทั้งการนำความรู้และความคิดไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตต่อไป
3.การนำเสนอเนื้อหาบทอ่านในภาพรวมของหนังสือรายวิชาพื้นฐาน ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 ของกระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอเนื้อหาบทอ่านโดยใช้รูปแบบของวรรณกรรม คือ มีเรื่องราวที่น่าสนใจผ่านบทสนทนา ความคิดเห็น ความรู้สึก และอารมณ์ของตัวละคร เชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้ในเรื่องหลักการใช้ภาษา นอกจากนี้เนื้อหาที่นำเสนอยังสามารถบูรณาการกับทักษะชีวิตหรือพัฒนาต่อยอดในทักษะอื่นๆ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน รู้จักใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง สละสลวยและแทรกเนื้อหาความคิดที่บูรณาการความเข้าใจวิถีความเป็นไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมที่พึงประสงค์ และรู้จักเท่าทันโลกตามวัย ประสบการณ์ และชั้นปี ตลอดจนเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน
4.เนื้อหาและภาพที่เป็นประเด็นตามที่ กรณีสื่อโซเชียล มีข้อสังเกต พบว่า ปรากฏอยู่ในหนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษาพาที ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บทที่ 9 ชีวิตมีค่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
4.1 เนื้อหาโดยสรุปของเรื่อง ชีวิตมีค่า เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงกำพร้าชื่อ “ข้าวปุ่น” ซึ่งถูกนำมาทิ้งไว้ที่หน้าบ้านเด็กกำพร้า ผู้ดูแลบ้านเด็กกำพร้ามาพบ จึงนำไปเลี้ยงและตั้งชื่อว่า “ข้าวปุ้น” ที่บ้านเด็กกำพร้า เด็กๆ ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรัก และได้รับการสอนให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี ตั้งใจเรียนหนังสือ เพื่อจะได้มีอาชีพและช่วยเหลือตนเองต่อไปได้ในอนาคต ที่บ้านเด็กกำพร้า เด็กๆ ดำเนินชีวิตได้ด้วยเงินบริจาค จึงต้องอยู่อย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ดูแลซึ่งกันและกัน เด็กๆ ทุกคนได้เรียนหนังสือ และตั้งใจว่า เมื่อโตขึ้นมีงานทำ จะได้ช่วยหาเงินมาดูแลน้องๆ ที่อยู่ในบ้านเด็กกำพร้าต่อไป ข้าวปุ้นมีเพื่อนสนิทชื่อ “ใยบัว” เป็นลูกของคนมีฐานะ วันหนึ่งใยบัวบอกกับข้าวปุ้นว่าอยากตาย เพราะน้อยใจที่พ่อแม่ไม่ยอมซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ให้ ข้าวปุ้นจึงพาใยบัวไปที่บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ตนเองอยู่ การได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ที่นั่น ทำให้ใยบัวเรียนรู้ว่า ชีวิตมีคุณค่า ความสุขอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อเราคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข จิตใจของเราก็จะมีความสุขไปด้วย
4.2 ภาพประกอบของเรื่อง ชีวิตมีค่าโดยหลักการของการจัดทำหนังสือเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาจำเป็นต้องมีการวาดภาพประกอบที่สัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน ชวนให้ติดตามอ่านเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ การวาดภาพประกอบจึงมิได้เจตนาที่จะสื่อถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับหนังสือนิทานที่จำเป็นต้องมีการวาดภาพประกอบให้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง ชวนให้ติดตามอ่านเนื้อเรื่อง และทำความเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายยิ่งขึ้น
5.ข้อคิดเห็นของสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา
5.1 ประเด็นเนื้อหาและภาพประกอบที่ผู้โพสต์นำมาอ้างอิง เนื้อหาของบทอ่านตามเจตนาของผู้แต่งของบทอ่านเรื่อง ชีวิตมีค่า คือ สอนเด็กให้เรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย การที่ผู้โพสต์ได้นำรูปภาพและเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง ชีวิตมีค่า มาแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์ในมุมมองของผู้โพสต์ เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาเพียงบางส่วนของเนื้อเรื่องทั้งหมด จึงอาจจะทำให้เข้าใจสาระสำคัญของเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการพิจารณาสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านจำเป็นจะต้องพิจารณาเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ จึงจะสามารถเข้าใจสาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้ ดังนั้นการที่ผู้โพสต์ได้วิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาของเรื่องว่านำเสนอความยากลำบากเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของความเหลื่อมล้ำและภาวะจำยอมตามที่กล่าวอ้าง และยกอ้างเหตุผลที่ขัดกันนั้น จึงไม่ใช้เจตนาที่หนังสือเรียนต้องการสื่อ
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามถึงประเด็นโภชนาการที่ไม่เพียงพอของเด็ก เช่น การกินไข่ต้มครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลา ผัดผักบุ้ง และขนมวุ้นกะทิอาจไม่เพียงพอต่อปริมาณสารอาหารที่เด็กต้องการ นั้น เป็นการตีความคลาดเคลื่อนที่เข้าใจว่าเรื่องที่แต่งในหนังสือเรียนคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จึงทำให้รู้สึกและคิดว่าเนื้อหาที่นำเสนอแสดงให้เห็นถึงโภชนาการของเด็กที่ไม่ถูกต้อง
อนึ่ง ในเรื่องโภชนาการของเด็กนั้น กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการมีระบบ Thai School Lunch ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันที่มีคุณภาพให้แก่นักเรียน ดังนั้น ผู้อ่านจึงต้องมีวิจารณญาณในการแยกแยะระหว่างเรื่องที่แต่งขึ้นกับเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน
กรณีประเด็นดังกล่าวทั้งหมดของบทอ่านเรื่อง “ชีวิตมีค่า” ที่ปรากฏในสื่อโซเซียล ที่นำเรื่องในชีวิตประจำวันมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่แต่งขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือถูกชักจูงจากการอ้างหรือการสื่อสาร ซึ่งอาจเกิดความเข้าใจผิด และสร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของหนังสือเรียน ซึ่งมีลิขสิทธิ์ และนำมาใช้กับนักเรียนด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ นอกจากนี้ การเผยแพร่ความคิดเห็นเฉพาะบุคคลที่มีต่อเรื่องดังกล่าวในระบบออนไลน์อาจทำให้เกิดการด้อยค่า ดูหมิ่น เกลียดชัง หรือความเข้าใจผิดต่อแบบเรียน และคุณภาพด้านวิชาการของเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นวงกว้างได้
- 006