ผู้ใช้แรงงานยื่น7ข้อ
เรียกร้องให้รัฐดำเนินการ
ขอขยับค่าจ้าง712บาท/วัน
“วันแรงงาน” ปี’66 เครือข่ายแรงงานเรียกร้องรัฐ 7 ข้อ “สุชาติ” ย้ำกระทรวงแรงงาน-รัฐบาลทำแล้วหลายอย่างเพื่อคุณภาพชีวิตแรงงาน นายกฯขอบคุณทุกฝ่ายพัฒนาศักยภาพคน “อนุชา” เผยญี่ปุ่นต้องการคนไทยไปทำงาน
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายแรงงานหลายกลุ่ม จัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติและวันแรงงานสากล (Mayday) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี โดยช่วงเช้าที่กระทรวงแรงงาน มีพิธีทางศาสนา โดยอาราธนานิมนต์สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี สมเด็จธงชัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จากนั้นเวลา 08.30 น. ได้เคลื่อนริ้วขบวน 20 ขบวน จากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปยังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 เปิดเผยข้อเรียกร้องในปีนี้ทั้งหมด 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวง ให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง 3.ให้รัฐบาลปฏิรูปแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม
4.ขอให้รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน 5.ขอให้รัฐเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจ ได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 รวมถึงการให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง
ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องในวันแรงงานแห่งชาติไปแล้วและภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ 6.เพื่อเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว และ 7.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2566 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน นอกจากนั้น ยังมีการจัดกิจกรรมที่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาล โดยสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีข้อเรียกร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 712 บาทต่อวัน
ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 ณ กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย ทัดเทียมกับนานาประเทศ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ
ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้มีมาตรการลดภาระค่าครองชีพ และเพิ่มรายรับให้พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ เช่น โครงการ มาตรา 33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้าง การดำเนินโครงการ Factory Sandbox ในพื้นที่ของสถานประกอบการ ทำให้โรงงานไม่ต้องปิดตัวลงส่งผลให้การส่งออกปี 2564 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี
“รัฐบาลขอขอบคุณและชื่นชมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยได้มีมติเห็นชอบให้ขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนโดยขยายอายุขั้นสูงจาก 60 เป็น 65 ปี ให้สิทธิผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 ที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินกรณีชราภาพ เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน และปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน” นายสุชาติ กล่าว
รมว.แรงงาน ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน ยังสนับสนุนการทำงานแบบ Work from Home โดย พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เปิดทางให้นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงเวลาทำงาน พักผ่อน วันลา ให้ชัดเจน ให้สิทธิลูกจ้างปฏิเสธการติดต่อสื่อสารหลังเวลางานได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีความมุ่งมั่นส่งเสริมให้แรงงานมีงานทำ ได้รับการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพสูงในทุกมิติสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
ให้การส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานได้รับความคุ้มครองอย่างทั่วถึงให้มีความปลอดภัยในการทำงาน ยกระดับประกันสังคมเพื่อให้แรงงานได้รับประโยชน์สูงสุด เร่งรัดปรับปรุง แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ส่วนกรณีข้อเรียกร้องค่าจ้าง 712 บาทต่อวัน ในความเป็นจริงแรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่ ราวร้อยละ 80 เป็นแรงงานต่างด้าว และหากต้นทุนจุดนี้เพิ่มขึ้น ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นด้วย
ในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปราศรัยเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขอส่งความระลึกถึงและความปรารถนาดีมายังผู้ใช้แรงงานทุกคน ย้ำผู้ใช้แรงงานถือเป็นบุคลากรที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ต้องได้รับการดูแลเพื่อยกระดับคุณชีวิต พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที
“ขอชื่นชมทุกภาคส่วนและขอบคุณผู้ใช้แรงงานทุกคน ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ตลอดจนมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของตน เพื่อเป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการมาโดยตลอด จนทำให้ประเทศของเราเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ พร้อมทั้งสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางวิกฤติการณ์ของสังคมโลก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสของแรงงานไทยที่จะไปทำงาน ซึ่งไทยตั้งเป้าส่งออกแรงงานในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 50,000 คน ซึ่งจากข้อมูลกรมการจัดหางาน พบว่า ญี่ปุ่นต้องการแรงงานไทยเป็นแรงงานในระบบฝึกงาน (ทำงานปกติ) แรงงานทักษะฝีมือ และแรงงานทักษะเฉพาะ โดยตั้งเป้านำเข้าแรงงานที่มีทักษะเฉพาะจาก 9 ชาติ ถึง 3-4 แสนคน ภายในเวลา 5 ปี
“รัฐบาลเตรียมความพร้อม สนับสนุนการพัฒนา และจัดสรรทรัพยากรแรงงาน ทั้งการฝึกความพร้อม และเพิ่มพูนทักษะทุกด้านที่จำเป็น อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อความพร้อมด้านภาษา และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนทักษะและเปลี่ยนสายอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพื่อให้เป็นแรงงานมีฝีมือเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถการหารายได้ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว” นายอนุชา กล่าว