ศูนย์จีโนมฯเตือนจับตาโอมิครอน FU.1(XBB.1.16.1.1) หลาน XBB.1.16
18 พฤษภาคม 2566 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ดังนี้...
จับตาโอไมครอน “FU.1(XBB.1.16.1.1)” หลานของ “XBB.1.16”
ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประสานความร่วมมือเพื่อเฝ้าติดตาม “FU.1” เนื่องจากมีความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)สูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% โดยความรุนแรงยังไม่ปรากฏ
แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่โควิด-19ตระกูลโอมิครอนยังมีการกลายพันธุ์แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ที่เด่นชัดมี 3 กลุ่มคือ
โอมิครอน XBB.1.5 นามแฝงคือ คราเคน (Kraken) มาจากชื่อปลาหมึกยักษ์ในเทพนิยาย
โอมิครอน XBB.1.16 นามแฝงคือ อาร์คทูรัส (Arcturus) มาจากชื่อดาวฤกษ์
โอมิครอน XBB.1.9.1 นามแฝงคือ ไฮเปอเรี่ยน (Hyperion) มาจากชื่อเทพเจ้าแห่งแสงสว่าง
โดยกลุ่มโอมิครอน XBB.1.5* มีการลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าจะถูกแทนที่โดย กลุ่ม XBB.1.16* และ XBB.1.9.1* ที่พบระบาดมากที่สุดในอินเดีย และมีการกระจายไปทั่วโลก ส่วนในอาเซียนพบในสิงคโปร์และไทย
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีติดตามการกลายพันธุ์ในระดับจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกจากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโควิด-19 โดยการเก็บตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อในประเทศและข้อมูลรหัสพันธุกรรมจากฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส (GISAID)” ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา (15 เม.ย. -15พ.ค. 2566) พบโอมิครอนสายพันธุ์หลักในประเทศไทยเป็นกลุ่ม XBB* ประมาณ 93.5% ประกอบด้วยสายพันธุ์ย่อยอันดับหนึ่งคือ XBB.1.16* ประมาณ 19% อันดับสองเป็น XBB.1.5* ประมาณ 10% และอันดับสามเป็น XBB.1.9.1* ประมาณ 8.4%
สายพันธุ์ย่อยอันดับหนึ่งกลุ่ม XBB.1.16* หรืออาร์คทูรัส (Arcturus) พบการกลายพันธุ์ระบาดไปทั่วโลกถึง 3 รุ่นคือ
รุ่นแรก
โอมิครอน XBB.1.16 (กลายพันธุ์ ณ. ตำแหน่ง S:E180V, S:478R) ทั่วโลกพบ 9,003 ราย ประเทศไทย 139 ราย
รุ่นลูก
โอมิครอน XBB.1.16.1 (S:T547I) ทั่วโลกพบ 2,714 ราย ประเทศไทย 26 ราย
โอมิครอน XBB.1.16.2 (ORF3a:V13L, ORF1a:P926H) ทั่วโลกพบ 666 ราย ประเทศไทยพบ 25 ราย
โอมิครอน XBB.1.16.3 (A2893C) ทั่วโลกพบ 175 ราย ประเทศไทยพบ 5 ราย
โอมิครอน XBB.1.16.4 (S:T678I) ทั่วโลกพบ 177 ราย ประเทศไทยยังไม่พบ
โอมิครอน XBB.1.16.5 (T9991C,C16332T) ทั่วโลกพบ 135 ราย ประเทศไทยยังไม่พบ
โอมิครอน XBB.1.16.6 (S:F456L) ทั่วโลกพบ 23 ราย ประเทศไทยยังไม่พบ
รุ่นหลาน
**โอมิครอน XBB.1.16.1.1 (T3802C)**: นามแฝง FU.1 ทั่วโลกพบ 122 ราย ประเทศไทยพบ 1 ราย
โอมิครอน XBB.1.16.1.2 (C8692T): นามแฝง FU.2 ทั่วโลกพบ 149 ราย ประเทศไทยยังไม่พบ
สายพันธุ์ย่อยอันดับสามคือกลุ่ม XBB.1.9.1* หรือไฮเปอเรี่ยน (Hyperion) พบการกลายพันธุ์ระบาดไปทั่วโลกถึง 3 รุ่นคือ รุ่นแรก รุ่นลูก และรุ่นหลานเช่นกัน ใช้ชื่อเรียกเป็นอักษรย่อ “FL” ตามด้วยตัวเลขทศนิยม ยังไม่มีการตั้งชื่อนามแฝง
สายพันธุ์ย่อยในกลุ่มโอมิครอน XBB.1.16* โดยเฉพาะ “FU.1 (XBB.1.16.1.1)” ถือได้ว่าเป็น “รุ่นหลาน” ของ XBB.1.16 พบการระบาดมากในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้ประสานความร่วมมือให้ช่วยกันเฝ้าติดตามเนื่องจากมีค่าความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50%
ในขณะที่กลุ่มโอมิครอน XBB.1.16* “รุ่นลูก” คือ “XBB.1.16.1” พบการแพร่ระบาดในสวีเดน โดยมีโอมิครอนกลุ่ม “XBB.1.9.1” และรุ่นลูกและรุ่นหลาน “FL*” กลายพันธุ์แพร่ระบาดตามมาติดๆ คาดว่าอาจเข้ามาแทนที่กลุ่ม XBB.1.16* ในอนาคต
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมมาตั้งแต่เริ่มการระบาดเมื่อ 3 ปีที่แล้วด้วยเหตุผลหลายประการ:
1. การติดตามสายพันธุ์ของไวรัส: โดยการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนมจากผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยที่หลากหลาย จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามวิวัฒนาการของไวรัสและระบุสายพันธุ์ใหม่ได้ สายพันธุ์ย่อยที่อุบัติขึ้นมาอาจมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น การแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น หรือก่อความรุนแรงของการเจ็บป่วย และบางสายพันธุ์อาจหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นโดยการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติในครั้งก่อน
2. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัส: การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนมสามารถให้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสภายในชุมชน ภูมิภาค และประเทศต่างๆ สามารถช่วยระบุกลุ่มผู้ป่วยและห่วงโซ่การแพร่เชื้อ ซึ่งสามารถใช้ปรับมาตรการด้านสาธารณสุขเข้าควบคุมการระบาดของไวรัสได้แบบเรียลไทม์
3. การป้องกันด้วยวัคซีนและการรักษาด้วยยา: หากไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (การกลายพันธุ์) สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนและการรักษาด้วยแอนติบอดีสำเร็จรูปและยาต้านไวรัส ทำให้นักวิจัยมีข้อมูลที่สามารถใช้อัปเกรดทั้งชุดตรวจ แอนติบอดีสำเร็จรูป วัคซีน และยาต้านไวรัส ได้ในระยะอันสั้นทันต่อเหตุการณ์
4. การตอบสนองด้านสาธารณสุข: ข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนมสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการหรือยกเลิกมาตรการควบคุม ได้แบบเรียลไทม์ ตัวอย่างเช่น การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนม สามารถช่วยระบุได้ว่ามีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม ทางเจ้าหน้าที่อาจตัดสินใจเพิ่มความเข้มข้นในบางมาตรการ เช่น กินร้อน ช้อนกลาง สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม การใช้ยาแอนติบอดีสำเร็จรูปและยาต้านไวรัส รวมไปถึงการปิดพื้นที่ ตำบล จังหวัด หรือประเทศ
5. การทำงานร่วมกันทั่วโลก: การแบ่งปันข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนมทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสามารถศึกษาไวรัส ติดตามการแพร่กระจาย การตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันและยาต้านไวรัส รวมทั้งการเกิดเชื้อไวรัสดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือระดับโลกนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมการแพร่ระบาด
6. การทำนายแนวโน้มในอนาคต: จากการสังเกตวิวัฒนาการของไวรัสเมื่อเวลาผ่านไป นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต เช่น ความเป็นไปได้ที่สายพันธุ์ใหม่จะเกิดขึ้น สามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันหรือเข้ายึดเกาะกับผิวเซลล์ได้ดีกว่าหรือด้อยกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบัน
โดยสรุปการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนมเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยให้เราติดตามและทำความเข้าใจไวรัสโควิด-19 ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อปรับเปลี่ยนการรับมือต่อการระบาดใหญ่ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี