“ชัชชาติ” สัญจรสำนักงานตลาด-สถานธนานุบาล ย้ำโรงตึ๊งกทม.ต้องช่วยปชช.ไม่เน้นกำไร สั่งเร่งสางปัญหา“ตลาดนัดจตุจักร” ปรับตลาดกทม.ให้พลิกฟื้นเศรษฐกิจคนกรุง
25 พ.ค. 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงภายหลังกิจกรรมสัญจรสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุม 1ชั้น 5 สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครเขตจตุจักร โดยเปิดเผยถึงผลดำเนินการว่า สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่มีส่วนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาเรื่องรายได้ในบางช่วงปัจจุบันกทม.มีสถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำกทม. 21 แห่ง ใน 20 เขตมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 7 แสนคน/ปี ในปี 2566 จนถึงเดือนเมษายน มีผู้มาใช้บริการแล้ว 4 แสนคนยอดจำนำประมาณปีละ 6,000 ล้านบาททั้งนี้ ได้ให้นโยบายหลัก 2 เรื่อง 1.ขยายการเข้าถึงประชาชนให้ง่ายขึ้น ขยายจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น สร้างในจุดที่ประชาชนเดินทางสะดวก 2.ดำเนินการโดยไม่ต้องนึกถึงกำไร เพราะหัวใจสำคัญของสถานธนานุบาล กทม.คือ เป็นตัวช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ยากลำบาก ให้หน่วยงานนี้เป็นหน่วยช่วยประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครเป็นหน่วยงานที่มีการปรับปรุงพอสมควร กทม.มีตลาด จำนวน 12 แห่งตลาดที่ตัองปรับปรุงอย่างเข้มข้นคือ “ตลาดนัดจตุจักร” ที่เช่ามาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 เป็นเวลา 10 ปี มีภาระหนี้จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการจ่ายค่าเช่าให้กับการรถไฟฯเลย ต้องเร่งรัดการทำสัญญาให้เรียบร้อยเพื่อเร่งรัดการจ่ายหนี้อย่างเหมาะสม รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถและการจัดการทางเดินภายในตลาดให้ทั้งผู้ค้าและประชาชนผู้มาใช้บริการได้รับความสะดวก อีกตลาดที่ต้องเร่งทำคือ “ตลาดบางแคภิรมย์” ที่ได้เช่าที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์พัฒนาทำเป็นตลาด เป้าหมายคือจะให้พ่อค้าแม่ค้าตลาดบางแคย้ายไป ปัจจุบันยังมีผู้ไปใช้น้อยเนื่องจากเดินทางไม่สะดวก ซึ่งตลาดมีภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 3 แสนบาท หลายล้านบาทต่อปี ยังขาดทุนต้องเร่งเข้าไปปรับปรุง
นอกจากนี้ ยังมีตลาดหลักขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง คือ ตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี และตลาดสนามหลวง 2 ฝั่งธนบุรี และยังมีตลาดชุมชนขนาดเล็กและใหญ่ อีก 9 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกตลาดต้องถูกสุขลักษณะ บางแห่งอาจยังมีข้อบกพร่องอยู่ทั้งในเรื่องบำบัดน้ำเสียและความสะอาด รวมถึงเรื่องการจัดระเบียบตลาด ความรกรุงรังของตลาดและทางเดินรวมถึงการตั้งแผงค้ารุกล้ำพื้นที่ส่วนกลาง ต้องทำให้เป็นตลาดต้นแบบให้ได้
“วันนี้ได้มาดู 2 หน่วยงานพาณิชย์ของกทม. 2 สถานธนานุบาลซึ่งเน้นย้ำให้พยายามเป็นหน่วยงานที่ช่วยประชาชนโดยไม่นึกถึงผลกำไร และสำนักงานตลาด ภาพรวมเราต้องทำให้ตลาดของกทม. เป็นตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ประชาชน ตลาดต้องบริหารเชิงรุกให้เป็นเอกชน เน้นเรื่องคุณภาพความสะอาด และเกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยกทม. เป็นอีก 1 หน่วยงานพาณิชย์ของกทม. ซึ่งจะได้ไปคุยในรายละเอียดที่จะต้องทำที่อยู่อาศัยชุมชน คนเมือง และข้าราชการต่อไป” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว