ป่วยโควิดขยับ
สายพันธ์ุXBB.1.16 รุกไทย
ระบาดกระจุกตัวกทม.
สธ.ยันยา-วัคซีนพร้อม
อัตราครองเตียง22%
ปลัดสาธารณสุขเผยยอดติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ เสียชีวิตลดลง ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ผลติดตามสายพันธุ์พบ XBB.1.16 เพิ่มขึ้นในไทย โดยกลุ่มคนโนวิดหรือไม่เคยติดเชื้อมาก่อนป่วยเพิ่มขึ้นในรอบนี้ ชี้พื้นที่กทม.-ปริมณฑลพบระบาดสูงกว่าที่อื่น ยันบุคลากร-ยา – เวชภัณฑ์มีพร้อม ส่วนอัตราครองเตียงทั่วประเทศ 22% ไม่ได้มากกว่าเดิม ย้ำกลุ่มเสี่ยงเร่งไปรับวัคซีน
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังประชุมติดตามสถานการณ์โควิด-19 ประจำสัปดาห์ว่า สถานการณ์ระบาดเป็นไปตามคาดการณ์คือ หลังเทศกาลสงกรานต์ โรงเรียนเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝนจะพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 2,970 ราย เฉลี่ยวันละ 424 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 425 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 253 ราย และเสียชีวิต 42 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย แนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มี 64 ราย แต่ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตยังเหมือนเดิมคือ เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวที่มีกิจกรรมนอกบ้าน ที่สำคัญส่วนใหญ่รับวัคซีนมานาน ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลพบว่า คนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หากติดเชื้อโควิด ยังมีอาการเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ถ้าอายุ 70 ปีขึ้นมีโอกาสเสียชีวิต 4 เท่า ดังนั้น หากใครได้รับวัคซีนนานเกิน 6 เดือน แล้วควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ลูกหลานไม่ต้องกังวลถึงอันตราย ควรรีบพาคนในครอบครัวไปรับวัคซีน และหากตัวเองมีอาการป่วยทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันผู้สูงอายุรับเชื้อ
สำหรับการติดตามสายพันธุ์โควิด -19 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น นพ.โอภาสเปิดเผยว่าสายพันธุ์ XBB.1.16 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ซึ่งความสามารถของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวไม่ต่างจากเดิม ในการแพร่ระบาดเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ติดเชื้อง่าย แต่ความรุนแรงเท่าเดิม ส่วนอัตราครองเตียงภาพรวมทั่วประเทศพบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ 22% ไม่ได้มากกว่าเดิม เพียงแต่การติดเชื้อของผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง แต่เตียงในสังกัดกทม.หรือโรงเรียนแพทย์ปกติและพบผู้ป่วยหนัก 253 คน แม้มีข่าวรพ.บางแห่งบอกว่าเตียงโควิดเต็ม อาจเป็นบางรพ.ที่เต็ม เพราะลดระดับเตียงโควิดลง แต่ภาพรวมทั้งประเทศและ กทม. เตียงที่สำรองไว้สำหรับผู้ป่วยโควิด อัตราใช้เตียงอยู่ที่ 22%
“ย้ำว่าเตียง บุคลากร ยาพร้อม อีกประเด็นคือ การติดเชื้อมีบางสถานที่มีความเสี่ยง เช่น เรือนจำ เพราะมีคนอยู่แออัด และมีการเข้าออกสม่ำเสมอ แม้จะมีมาตรการกักตัวขอให้คงมาตรการไว้ และจะประสานกับเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ ในการฉีดวัคซีนผู้ต้องขังผู้ต้องกักในเรือนจำต่างๆ” นพ.โอภาสกล่าว
และว่า ทั้งนี้ การระบาดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบมากกว่าเขตอื่นของประเทศไทย แม้ตัวเลขห่างไกลจากการระบาดมากๆ ช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ ผู้ป่วยอาการหนัก ขอให้กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ทุกจังหวัด โดยเฉพาะเขตปริมณฑล ให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกทม. ซึ่งเราไม่มีรพ.ของสำนักงานปลัด สธ. และกทม.มีรพ.หลากหลายรวมทั้งเอกชน จึงเป็นหน้าที่ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ต้องช่วยดูแล สธ.ยินดีสนับสนุนเวชภัณฑ์ รวมทั้งขอให้สำรวจว่ามีผู้สูงอายุจำนวนเท่าไร ไม่ได้ฉีดวัคซีนเท่าไร แม้แต่เข็มเดียวขอให้เร่งฉีดวัคซีน โดยกรมควบคุมโรคจะประสานจัดส่งวัคซีนให้เร่งฉีดวัคซีนประจำปี
“รอบการระบาดครั้งนี้พบเห็นคนที่ไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนทยอยติดเชื้อ ต่อไปคนที่เป็นโนวิด หรือไม่เคยป่วยจะค่อยๆลดลง ตอนนี้คนไทยมีภูมิคุ้มกันแล้วร้อยละ 97% โดยพบว่ามีคนติดเชื้อซ้ำมากสุดถึง 3 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อย ขอย้ำให้ผู้สูงอายุทยอยมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะหากเจ็บป่วยอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป และพบว่าส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิต จะมีอาการปอดบวม และมักมีอาการรุนแรงจากโรคแทรกซ้อน เช่น ภาวะผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง หากติดเชื้อโควิด อาการจะรุนแรงมากขึ้น”ปลัด สธ.กล่าว
ด้านนพ.ณัฐพงศ์ วงค์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ครองเตียงภาพรวมอยู่ที่ 21.92% การบริหารเตียงยังทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนเตียงระดับ 3 และ 2.2 ยังมีเพียงพอ ส่วนอาการของผู้ป่วยที่พบขณะนี้ มีอาการน้อย เกณฑ์ให้ยา จะเน้นในคนป่วยที่มีอาการ และมีโรคร่วมเป็นหลัก คนไม่มีอาการรุนแรง ไม่มีโรคประจำตัว รับยาตามอาการ คนที่อาการเล็กน้อย แต่มีโรคร่วม อาจให้ยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ แต่คนที่มีโรคร่วม อาจให้ยาเรมเดซิเวียร์ หรือแพกโลวิดซ์ แต่ปัญหาเตียงที่พบในรพ.เกิดจากคนที่มีโรคร่วม เมื่อไปตรวจรักษาโรคอื่น แต่ก็พบติดเชื้อโควิด บางคนต้องการนอนรักษาตัวในรพ. ในจำนวนนี้มีอาการ บางคนไม่มีอาการรุนแรง สามารถรับยาแบบผู้ป่วยนอกได้
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นห่วงผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิดขณะนี้ จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือสถานการณ์อย่างครอบคลุมทุกมิติ และขอความร่วมมือสถานการณ์ประกอบการป้องกันและควบคุมการระบาด
ทั้งนี้ กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ใช้สิทธิประกันสังคม หากสงสัยเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยติดโควิด-19 ตรวจ ATK คัดกรองด้วยตนเอง กรณีผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ดำเนินการตามแนวทางนี้ 1. รักษาตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” ผู้ประกันตนที่ป่วยไม่รุนแรง รักษาแบบ OP-Self Isolation “เจอ แจก จบ” ที่สถานพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่ง คลินิกและร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับสปสช.ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2 กรณีจำเป็นต้องรักษาเป็นผู้ป่วยใน ผู้ประกันตนเข้ารักษาตามดุลพินิจของแพทย์ที่สถานพยาบาลประกันสังคม และสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่เสียค่าใช้จ่าย 3.เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สีเหลือง-สีแดง อาการ ได้แก่ หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อค/โคม่า ซึม ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียล ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94 หากเข้าเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วย สีเหลือง-สีแดง ใช้สิทธิ UCEP Plus ที่สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย