“ชัชชาติ” พร้อมรับฝน เผยสถานการณ์ปีนี้ดีขึ้น ฝนแรกทดสอบระบบไร้ปัญหาสั่งเน้นจุดก่อสร้างห้ามท่อตัน/สนน.-เขตพร้อมลงพื้นที่แก้ไขทันที
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและการรับมือฝนในปีนี้ว่า มีความพร้อมรับมือเต็มที่ไม่น่ามีปัญหา ปีนี้สถานการณ์ดีขึ้น หลายจุดได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว มีบางจุดที่ต้องรองบประมาณ ส่วนใหญ่คืบหน้าไปมากแล้ว ทั้งนี้ ได้สั่งการไปให้เน้นจุดที่มีการก่อสร้าง โดยให้นายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม.ไปไล่ดูไม่ให้มีปัญหาท่อระบายน้ำ รวมถึงจุดที่ต้องการเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบลงไปตรวจสอบพื้นที่แก้ไขจุดที่มีระบายน้ำอุดตัน สำนักงานเขตก็ต้องลงไปดูซอยย่อย เอาหน่วยไปเสริมระบายน้ำออกให้เร็ว ส่วนคลองสายหลักคือคลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว ได้มีการขุดลอกมาตลอด แต่ยังมีจุดที่ประชาชนมีการรุกล้ำทำให้การขุดลอกยังไม่แล้วเสร็จ 100% ก็ได้สั่งการไปให้เพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำให้ได้มากที่สุด โครงการต่างๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาจุดน้ำท่วมหลายๆ จุดก็ได้ดำเนินการไปแล้ว จุดฟันหลอริมเจ้าพระยาก็คืบหน้าเกิน 50% หากทำได้เสร็จ 100% ก็จะทำให้เรารับมือกับปัญหาได้จำนวนจุดน้อยลง คิดว่าน่าจะรับมือได้แต่ก็ประมาทไม่ได้ อาจมีฝนอาจตกเยอะในบางจุด ช่วงสัปดาห์นี้เป็นฝนแรกถือเป็นการทดสอบระบบ ระดับน้ำในคลองยังปกติแต่ก็ต้องเฝ้าระวัง จะมีปัญหาจุดอ่อนที่น้ำจากผิวถนนลงท่อ แต่หลายๆ จุด ก็ถือว่าระบายได้ดีขึ้นแม้จะมีฝนตกลงมามาก ประชาชนมีปัญหาจุดไหนแจ้งเข้ามาได้จะรวบรวมจุดให้สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตลงไปกำกับดูแล
ทั้งนี้ รายงานสถานการณ์ฝนช่วง 2 วันที่ผ่านมา พื้นที่กรุงเทพมหานครมีฝนตกปานกลางถึงหนัก ปริมาณฝนสูงสุด (29 พ.ค.) ที่เขตบางขุนเทียน 124.0 มม., เขตสาทร 86.0 มม., เขตประเวศ 82.0 มม. และ 78.5 มม.,เขตบางกอกใหญ่ 73.0 มม. และปริมาณฝนสูงสุด (30 พ.ค.) ที่เขตคลองสามวา 105.5 มม., เขตพญาไท 87.5 มม., เขตบางซื่อ 70.0 มม., เขตจตุจักร 68.5 มม.
ด้าน นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุลผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.)กล่าวถึงความพร้อมบริหารจัดการน้ำรองรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ในปีงบประมาณ 2566 กรุงเทพมหานครมีแผนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ จำนวน 3,758.4 กิโลเมตร (กม.) แล้วเสร็จ 2,410.5 กม.ร้อยละ 61.14 อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,347.9 กม. ร้อยละ 35.86 มีทั้งในส่วนของแรงงานสำนักการระบายน้ำ, 50 สำนักงานเขต และจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ รวมทั้งจ้างเอกชนเพิ่มเติมใน 13 เขต เพื่อเร่งรัดเตรียมพร้อมรับฤดูฝน คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้
ส่วนแผนการขุดลอกคูคลอง จัดเก็บผักตบชวาวัชพืช หรือสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำในคลองต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ สนน.ได้รับงบประมาณขุดลอกคลองในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 9 คลอง ความยาว 50,834 เมตร ดำเนินการแล้วร้อยละ 60.13 ส่วน 50 สำนักงานเขตได้รับงบประมาณขุดลอกคลอง 173 คลองความยาว 151,870 เมตร ดำเนินการแล้วร้อยละ 73.15 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ ส่วนการเปิดทางน้ำไหล สนน.ได้งบประมาณ 62 คลอง ความยาว 191,603 เมตร ดำเนินการ4 รอบ/ปี รอบที่ 3 ดำเนินการแล้ว ส่วน 50 สำนักงานเขต ได้เปิดทางน้ำไหล 1,342 คลอง ความยาว 1,326,058 เมตร ดำเนินการ 1 รอบ/ปีปัจจุบันได้ร้อยละ 74.04
นอกจากนี้ มีโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำของ กทม. ปัจจุบันได้จัดหาพื้นที่เก็บกักน้ำแล้ว 36 แห่ง แบ่งเป็น แก้มลิง 32 แห่งและบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) 4 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้13.69 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) 33 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 7.66 ลบ.ม. และพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) 3 แห่งเก็บกักน้ำได้ 6.03 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2566 จะมีพื้นที่รองรับและกักเก็บน้ำได้เพิ่มอีก 3 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ 132,700 ลบ.ม. ได้แก่ แก้มลิงบึงสาธารณะลาดพร้าว 71, แก้มลิงสวนน้ำเสรีไทย ช่วงคลองรหัสถึงคลองครุ และ แก้มลิงวงเวียนบางเขน ส่วนโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำในถนนสายหลัก (Pipe Jacking) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนัก ปัจจุบันทำไป 12 แห่ง ใช้งานได้ 10 แห่ง อีก 2 แห่งจะแล้วเสร็จในปี 2566